3 มิ.ย. 2020 เวลา 11:18 • ธุรกิจ
วิวัฒนาการของชีวิต 'นักลงทุน'
ส่องเส้นทางนักลงทุนของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร พร้อมเปิดมุมมองและแนวคิดที่เปลี่ยนไปตามช่วงชีวิต ที่สะท้อนว่าความเก่ง หากอยู่ต่างสนามที่คุ้นเคยอาจไม่ได้เก่ง รวมถึงความเป็นนักสู้กลับกลายเป็นนักเลือกแทน และมีแนวคิดที่น่าสนใจอื่นๆ
บทความโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | คอลัมน์ โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR I กรุงเทพธุรกิจ
วิวัฒนาการของชีวิต 'นักลงทุน'
เวลาที่คนเรามีอายุมากขึ้นนั้น เรามักจะมองกลับไปในอดีตรำลึกถึงความหลังมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนั่นเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องใช้เงินและพลังงาน ผมเองก็เป็นอย่างนั้น แต่ในฐานะที่เป็นนักลงทุนแบบ VI ผมก็อดที่จะเปรียบเทียบไม่ได้ว่าชีวิตในอดีตกับชีวิตในปัจจุบันของผมมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง ปรัชญาและความคิดสมัยก่อนกับสมัยนี้ของผมเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
ทั้งหมดนี้ผมก็ดูด้วยว่าสังคมไทยเองมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนด้วย เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับชีวิตและความคิดของตนเอง ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น โดยเฉพาะที่สนใจในการลงทุน เพราะชีวิตผมเองนั้น ถ้าจะนิยามในวันที่ผมไม่อยู่แล้วคงต้องบอกว่าเป็น “ชีวิตของนักลงทุน VI” คนหนึ่ง
และเรื่องแรกที่ผมคิดว่ามีความเปลี่ยนแปลง หรือเป็นวิวัฒนาการของผมจากช่วงเยาว์วัยมาเป็นคนสูงอายุก็คือ เดิมผมจะมองเรื่องต่างๆ ในโลกและในชีวิตแบบสัมบูรณ์ หรือ Absolute แต่เมื่ออายุมากขึ้น ผมก็รู้สึกตัวหรือคิดว่าชีวิตหรือแทบทุกอย่างในโลกนี้นั้นเป็นเรื่องสัมพัทธ์หรือ Relative พูดง่ายๆ เรื่องต่างๆ ในโลกนี้เป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ
ตัวอย่างเช่น เมื่อเราพูดว่าใครเป็น “คนรวย” ถ้าเราพูดว่าต้องมีเงินเป็นตัวเลขเท่านั้นเท่านี้ นี่คือการพูดแบบสัมบูรณ์ แต่ผมคิดว่าวิธีที่จะกำหนดว่าใครเป็นคนรวยควรจะเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบว่าในสังคมนั้น ใครคือคนที่มีเงินมากที่สุดและลดหลั่นกันลงไป ถ้าเพื่อนของคุณส่วนใหญ่มีเงินมากกว่าคุณ คุณเองก็อาจจะไม่ใช่ “คนรวย”
เมื่อ 50 ปีก่อนสมัยที่ผมยังเรียนมัธยม คนที่มีเงิน 20 ล้านบาท ถือว่าเป็น “มหาเศรษฐี” แต่ 20 ล้านบาทถ้านำมาลงทุนแบบทบต้นและได้ผลตอบแทนปีละ 5% จะเท่ากับเงิน 230 ล้านบาทในวันนี้ ซึ่งสำหรับผมแล้วน่าจะเป็นแค่เศรษฐีหรือคนรวยธรรมดา-เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีเงินมากๆ ในวันนี้ของสังคมไทย เพราะเรื่องของเงินทองนั้น เป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ
การมองความเก่งหรือศักยภาพของคนเองนั้น สมัยก่อนผมคิดแบบสัมบูรณ์ คนที่ทำ “คะแนนสอบ” รวมสูง ก็คือคนเก่งและจะเป็นผู้ชนะในการทำงานและในความก้าวหน้าในวิชาชีพ รวมถึงเรื่องของเงินทอง แต่เมื่อผ่านชีวิตมามากและพบเห็นผู้คนในแวดวงต่างๆ แล้ว ผมคิดว่า “ชีวิตคือการแข่งขัน” ธุรกิจคือการแข่งขัน คุณจะเก่งแค่ไหนไม่สำคัญ ที่สำคัญคือคุณเป็น ผู้ชนะหรือผู้แพ้ “ในสนามที่คุณแข่ง”
ถ้าคุณเป็นคนที่ “เก่งมาก” ในเรื่องไฮเทค แต่ต้องเข้าไปแข่งกับ “อัจฉริยะ” ในซิลิคอนวัลเลย์ คุณก็อาจจะเป็น “หมู” ดีๆ นั่นเอง เช่นเดียวกับเรื่องของธุรกิจที่บริษัทอาจจะเป็นผู้นำอันดับต้นๆ ของไทย แต่เมื่อไปแข่งกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ใน “สนาม” ต่างประเทศ บริษัทก็อาจจะแพ้อย่างหมดรูปได้ เพราะโดยเปรียบเทียบแล้ว เราอาจจะด้อยกว่าเขาในแทบทุกด้าน
ความคิดอีกอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากเมื่อเป็นเด็กกลายเป็นคนสูงวัยก็คือ การเป็น “นักเลือก” จากที่เคยเป็น “นักสู้” มาครึ่งชีวิต นักสู้นั้นเป็นนิสัยที่ติดมากับยีนของมนุษย์ทุกคน ในอดีตอันยาวไกลของมนุษยชาตินั้น มนุษย์ทุกคนต้อง “ต่อสู้” กับภัยธรรมชาติที่โหดร้าย โรคภัยที่รุนแรง และศัตรูที่เป็นสิ่งมีชีวิตอื่น คนที่ “ไม่สู้” นั้นค่อยๆ ตายหรือสูญพันธุ์ไปหมด คนที่เหลือในปัจจุบันต่างก็เป็น “นักสู้”
แต่ในยุคสมัยของเรานั้น คนสามารถเอาตัวรอดได้และบ่อยครั้งเป็นอย่างดีได้โดยไม่ต้องสู้กับอะไรมากมาย เราแค่ “เลือก” ให้เป็น หรือเลือกให้ถูกว่าจะอยู่หรือทำอะไรและอย่างไร เราก็สามารถประสบความสำเร็จได้ และในแวดวงของ “นักลงทุน” แล้ว นี่คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการประสบความสำเร็จ และก็เช่นเดียวกัน ในอีกหลายวงการและในชีวิต การ “เลือก” ให้ดีว่าจะ “สู้” อย่างไร ก็เป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะทำให้เรา “ชนะ” ดังนั้น หลังจากที่กลายเป็นนักลงทุนแบบ “VI” เต็มตัว ผมก็ปรับการคิดและการใช้ชีวิตมาเป็น “นักเลือก” ผมจะไม่ยอมทำอะไรที่ผมจะไม่ชนะถ้าไม่จำเป็น
นิสัยชอบคิดชอบสังเกตของผมนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่เด็ก และนั่นก็ทำให้ผมเห็นคนที่ประสบความสำเร็จและโดดเด่นในทุกวงการ เห็นการ “ล่มสลาย” ของชื่อเสียงและความมั่งคั่งของพวกเขา ในสมัยที่ยังมีความคิดแบบเดิม ผมคิดว่าคนที่ประสบความสำเร็จเหล่านั้นเป็นคนที่เก่งและมีความสามารถสูงเหนือคนอื่นมาก เป็นแนว “ซูเปอร์แมน” ซึ่งดูเหมือนว่าตนเองจะไม่มีวันทำได้ โดยเฉพาะถ้าคิดถึงความเสียเปรียบเนื่องจากฐาน “ต้นทุนต่ำ” ของตนเองด้วย อย่างไรก็ตาม ในที่สุด ผมเองก็กลายเป็นคนที่น่าจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จคนหนึ่งในสังคม
แต่เมื่อวิเคราะห์ย้อนหลังโดยไม่ลำเอียงแล้วก็พบว่า ความสำเร็จนั้น แท้ที่จริงไม่ได้มาจากการเป็น “ซูเปอร์แมน” อะไรเลย แต่น่าจะเป็นเพราะมีโอกาสที่ “เอื้ออำนวย” เกิดขึ้นในช่วงปี 2540
โฆษณา