8 มิ.ย. 2020 เวลา 05:19 • ไลฟ์สไตล์
จัดทัพรับ 'วัยเกษียณ' ยุค 'ดอกเบี้ยต่ำ'
1
วางแผนการเงินอย่างไรให้เพียงกับการใช้ชีวิต "หลังวัยเกษียณ" เมื่อวันนี้ผลตอบแทนของสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น เงินฝาก, ตราสารหนี้ ให้ผลตอบแทนลดลงกว่าในอดีตอย่างมาก แล้วทางเลือกในการลงทุนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร หากเลือกความเสี่ยงสูงจะคุ้มไหม?
1
บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ AFPTTM WEALTH MANAGER | คอลัมน์ FINANCIAL PLANNING I กรุงเทพธุรกิจ
จัดทัพรับ 'วัยเกษียณ' ยุค 'ดอกเบี้ยต่ำ'
การวางแผนการเงินเพื่อให้มีเงินพอใช้หลังวัยเกษียณ สมมติฐานสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดว่าเราต้องเก็บสะสมเงินทุนเท่าใด เพื่อให้เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ คือ “ผลตอบแทนที่คาดหวังก่อนเกษียณ และหลังเกษียณ” โดยต้องจัดสินทรัพย์ลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนตาม “ความเสี่ยงที่ยอมรับได้” เพื่อให้จำนวนเงินทุนเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้
1
อย่างไรก็ตาม การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนตามผลตอบแทนที่คาดหวังจากวันนี้ อาจจำเป็นต้องเพิ่มสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนของสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น เงินฝาก, ตราสารหนี้ ให้ผลตอบแทนลดลงกว่าในอดีตอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ที่เริ่มวางแผนการเงินเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณตอนนี้ อาจจำเป็นต้องเพิ่มความเสี่ยงการลงทุนมากขึ้น หรือเพิ่มระยะเวลาการลงทุนเพื่อให้ถึงเป้าหมายเงินทุนไว้ใช้หลังเกษียณที่กำหนดไว้
4
ตัวอย่างเช่น 2-3 ปี ที่ผ่านมา ประกันแบบสะสมทรัพย์ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะนอกจากจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากแล้ว ยังสามารถนำค่าเบี้ยประกันมาขอลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย หากอายุความคุ้มครองของแบบประกันนั้นมากกว่า 10 ปี
2
อย่างไรก็ดีปลายปีที่ผ่านมาบริษัทประกันชั้นนำหลายแห่งในไทยทยอยลดผลตอบแทนประกันสะสมทรัพย์ลง ทำให้ผู้เอาประกันต้องเลือกแบบประกันสะสมทรัพย์ที่มีระยะความคุ้มครองนานขึ้น เพื่อให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีเท่าเดิม หรือต้องยอมลดผลตอบแทนลงเพื่อแลกกับระยะความคุ้มครองเท่าเดิม หรือใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นทดแทน
2
นอกจากนี้ “ประกันบำนาญ” อาจเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่ง โดยลักษณะของประกันบำนาญจะทยอยจ่ายคืนผลประโยชน์ให้กับผู้เอาประกันภายหลังชำระเบี้ยประกันครบ และมีอายุ 55 ปี หรือ 60 ปีบริบูรณ์ตามที่ระบุในสัญญากรมธรรม์ โดยจ่ายคืนต่อเนื่องทุกปีจนกว่าผู้เอาประกันเสียชีวิต โดยอาจกำหนดจำนวนปีขั้นต่ำที่ให้เงินคืนตามแต่เงื่อนไขของผลิตภัณฑ์
โดยประกันบำนาญมักมี 2 รูปแบบการชำระเบี้ย
โดยขอยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่วางขายจริงในปัจจุบัน โดยให้ตัวอย่างเป็น เพศหญิง อายุ 41 ปี คือ 1) ชำระเบี้ยต่อเนื่องจนเกษียณอายุ ตัวอย่างเช่น ประกันบำนาญ 60.60 จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท ชำระเบี้ยปีละ 12,310 บาท จนถึงอายุ 59 ปี คิดเป็นจำนวนเงิน 233,890 บาท โดยเมื่อถึงอายุ 60 ปีเป็นต้นไป จะได้รับเงินคืนปีละ 15% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย หรือ 15,000 บาท ถึงอายุ 90 ปี คิดเป็นจำนวนเงิน 465,000 บาท ซึ่งสามารถคิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยหรือ IRR ได้ 2.87% ต่อปี
3
แต่หากเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินมูลค่าที่สูงกว่าระหว่าง 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย หรือค่าเบี้ยที่ชำระมาแล้วทั้งหมด หรือเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ แต่หากเสียชีวิตหลังอายุ 60 ปีเป็นต้นไป ผลิตภัณฑ์นี้จะการันตีจ่ายเงินบำนาญที่เหลืออยู่ทั้งหมดในคราวเดียวโดยคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน
4
หรือ 2) ชำระเบี้ยเพียง 5 ปี ปีละ 40,390 บาท คิดเป็นจำนวนเงิน 201,950 บาท และหยุดชำระ โดยเมื่อถึงอายุ 60 ปีเป็นต้นไปจะได้รับเงินคืนและเงื่อนไขการจ่ายคืนต่างๆ ในรูปแบบเดียวกับข้อ 1) คิดเป็น IRR เท่ากับ 2.73%
ข้อสังเกตคือ ข้อ 2) ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยน้อยกว่า แต่ไม่เป็นภาระในการชำระเบี้ยไปต่อเนื่องจนถึงวัยเกษียณ โดยขึ้นอยู่กับว่าเราให้ความสำคัญเรื่องผลตอบแทนหรือความสะดวกในการทำธุรกรรมมากกว่ากัน ซึ่งในมุมมองของการวางแผนการเงิน เราควรให้น้ำหนักเรื่องผลตอบแทนมากกว่า เพราะช่วยให้ถึงเป้าหมายทางการเงินได้ง่ายขึ้น และไม่จำเป็นต้องเพิ่มความเสี่ยงจากสินทรัพย์อื่นโดยไม่จำเป็น
2
สำหรับผู้ที่เหมาะกับการเริ่มซื้อประกันบำนาญ ที่จริงแล้วเหมาะกับวัยทำงานที่ต้องการสะสมเงินออมเพื่อไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตยามเกษียณ โดยสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้น้อย หรือเป็นส่วนที่จัดสรรไว้สำหรับการลงทุนความเสี่ยงต่ำ เพราะได้ผลตอบแทนชัดเจนตามที่ระบุในกรมธรรม์
นอกจากนี้ยังสามารถนำค่าเบี้ยประกันบำนาญไปลดหย่อนภาษีได้ หากมีรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้และไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้อีก 100,000 บาท รวมสูงสุด 300,000 บาท หากไม่มีค่าเบี้ยประกันชีวิตที่มีอายุความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไปเพื่อลดหย่อนภาษี แต่เมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเกษียณ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสงเคราะห์ครู, กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF), กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
3
สำหรับผู้ที่กำลังเริ่มวางแผนเก็บออมเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณ หรือกำลังเก็บสะสมอยู่ในปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลกจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวรุนแรง อาจจำเป็นต้องจัดทัพปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนและบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ โดยนำเงินฝากที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำมาเริ่มซื้อประกันบำนาญทดแทน เพราะนอกจากจะไม่จำเป็นต้องแสวงหาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ดีที่สุดในตลาดไปตลอดเวลาแล้ว เรายังประหยัดเวลาให้ประกันบำนาญนำเงินไปทำงานและสร้างกระแสเงินสดทดแทนให้เราทุกๆ ปี เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขได้อีกด้วย
3
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ prtisco@tisco.co.th
โฆษณา