23 มิ.ย. 2020 เวลา 05:00
อย่างไร เรียกว่า การบริหาร
ร้านค้าปลีกแบบลูกโซ่ Chain Store ????
ธุรกิจมีหลายๆสาขา จัดเป็น Chain Store ไหม ??
แฟรนไชส์หมูปิ้ง ขนมปังไส้ทะลัก จัดเป็น Chain Store ไหม ??
ต้องอ่าน .... แล้วจะเข้าใจ
ระบบค้าปลีกจะเริ่มเปลี่ยนไปเป็นระบบที่ให้บริการแก่ผู้บริโภคให้ดีขึ้น วิธีการค้านั้นก็คือ การเป็นระบบ Modern Chain Store หรือการ “ค้าปลีกสมัยใหม่” ที่มีการจัดตั้งร้านค้าในอาคารที่ทันสมัยปรับอากาศตลอดปี มีการสร้างเครือข่ายร้านจำนวนมากทั่วประเทศหรือในบริเวณกว้าง ร้านทุกร้านที่เป็นชื่อเดียวกันมักจะมีระบบบริหารร้านค้าที่ดีและเหมือนหรือใกล้เคียงกัน ด้วยวิธีการแบบนี้ มันสามารถให้บริการที่ดีขึ้นและด้วยต้นทุนการบริหารที่ลดลงเนื่องจากมันมี Economies of Scale หรือมีการประหยัดเนื่องจากขนาดของยอดขายที่สูงซึ่งทำให้คุ้มที่จะลงทุนในระบบที่ดีและมีราคาแพงได้
ความหมายการค้าปลีกแบบลูกโซ่
ธุรกิจการค้าปลีกแบบลูกโซ่ หมายถึง ร้านค้าที่มีสาขาเปิดดำเนินการมากกว่าหนึ่งสาขาขึ้นไป ซึ่งจะจำหน่ายผลิดภัณฑ์ที่เหมือนกันภายใต้ชื่อหรือสัญลักษณ์ร้านค้าเดียวกัน กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจค้าปลีกแบบลูกโซ่ส่วนใหญ่จะรวมศูนย์ ( centralization ) การบริหารงานไว้ที่ส่วนกลางไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดซื้อ รูปแบบร้านค้า ลักษณะหรือรูปแบบการประกอบการ การโฆษณา การส่งเสริมการขาย การจัดการพนักงาน ตลอดจนการส่งสินค้าให้แก่ร้านค้าทุกสาขาก็จะทำจากศูนย์การคลังสินค้าและพัสดุของหน่วยกลาง
อนึ่ง จำนวนสาขาร้านค้าปลีกเท่าใด จึงถือได้ว่าเป็นร้านค้าปลีกแบบลูกโซ่นั้น ในเมืองไทยยังไม่ได้มีการนิยาม แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา แม่แบบของร้านค้าปลีกแบบลูกโซ่ ได้มีการนิยามร้านค้าปลีกแบบลูกโซ่ว่า จะต้องเป็นร้านค้าปลีกที่มีสาขามากกว่า 11 แห่งขึ้นไป จึงจะถือว่าเป็นร้านค้าปลีกแบบลูกโซ่ ( chain store retailer )
ข้อควรพิจารณาในการดำเนินธุรกิจการค้าปลีกแบบลูกโซ่
การดำเนินธุรกิจค้าปลีกแบบลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะจำหน่ายสินค้าที่แตกต่างประเภทกัน ไม่ว่าจะให้บริการที่หลากหลายอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ธุรกิจค้าปลีกแบบลูกโซ่ต้องดำเนินการเหมือนกันก็คือ การรวมศูนย์การบริหารและการจัดการ ( centralization )
วัตถุประสงค์ของการรวมศูนย์การบริหารและการจัดการก็เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการ และการสร้างภาพลักษณ์ ( image ) ของร้านค้าปลีกภายในลูกโซ่เดียวกัน ร้านค้าปลีกแม้ว่าจะใช้ชื่อร้านค้าเหมือนกัน แต่มีรูปแบบต่างกัน ทำให้ขาดภาพลักษณ์ของร้านค้าปลีกแบบลูกโซ่ ผู้บริโภคเกิดความสับสน หรือร้านค้าปลีกภายใต้ชื่อร้านเดียวกันแต่ให้บริการที่ต่างกันก็ทำให้ภาพลักษณ์ของร้านค้าปลีกแบบลูกโซ่นั้นบิดเบือน ทำให้ผู้บริโภคไม่แน่ใจในการบริการของร้านค้าปลีกเหล่านี้ว่า ร้านหนึ่งปิดบริการ 2 ทุ่ม อีกร้านปิดบริการ 4 ทุ่ม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การที่จะให้ได้มาซึ่งภาพลักษณ์เดียวกันได้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถสร้างมาตรฐาน( standard ) ในการจัดการเดียวกันสำหรับทุกสาขา การที่จะสามารถสร้างมาตรฐานเดียวกันได้ ผู้บริหารต้องสามารถสร้างระบบในการจัดการ ( system ) เพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรฐานเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น ร้านแฮมเบอร์เกอร์แมคโดนัลด์ สามารถขยายสาขาได้ทั่วโลก ไม่ใช่ร้านแฮมเบอร์เกอร์ที่อร่อยที่สุด แต่ภาพลักษณ์ที่สำคัญก็คือ เป็นร้านแฮมเบอร์เกอร์ที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกไม่ว่าจะมุมใดประเทศใดก็ตาม ทั้งนี้ร้านแฮมเบอร์เกอร์แมคโดนัล สามารถสร้างระบบในการจัดการโดยมีคู่มือ ( manual ) ในการจัดการทุกขั้นตอนไม่ว่าจะวิธีทอดชิ้นเนื้อ ขนมปัง การใส่ผัก และเครื่องปรุงรสต่าง ๆ คู่มือเหล่านี้จะระบุถึงการจัดการอย่างละเอียดทุกขั้นตอน พนักงานทุกคนเมื่อจัดการตามวิธีที่ระบุไว้ในคู่มือก็จะทำให้ผลิดภัณฑ์แฮมเบอร์เกอร์ของแมคโดนัล มีมาตรฐานเดียวกัน รสชาติเดียวกันทั่วโลก เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป หัวใจของการดำเนินการธุรกิจค้าปลีกแบบลูกโซ่ ก็คือ การที่ต้องสามารถสร้างระบบ( system ) ในการจัดการให้ได้มาตรฐาน ( standard ) เดียวกันทุกสาขาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ ( image ) ของธุรกิจค้าปลีกแบบลูกโซ่ ( chain store ) ที่เป็นที่ยอมรับสำหรับลูกค้า
การจัดองค์การในร้านค้าปลีกแบบลูกโซ่
ลักษณะการจัดองค์การของร้านค้าปลีกแบบลูกโซ่นี้ อาจจะแตกต่างกันไปบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวนและขอบเขตการดำเนินงานที่ต่างกัน ซึ่งลักษณะทั่ว ๆไปของการดำเนินงานร้านค้าปลีกแบบลูกโซ่คือ
1. ความรับผิดชอบส่วนใหญ่ อยู่ที่สำนักงานใหญ่ส่วนกลาง ยกเว้นความรับผิดชอบเกี่ยวกับการขายเท่านั้นที่กระจายออกไปตามหน่วยต่าง ๆ
2. การบริหารงานจะถือว่าแต่ละสาขาเป็นศูนย์กำไร ( profit center ) ผู้จัดการร้านสาขาเป็นผู้บริหารของร้านสาขาที่จะดูแลด้านการขาย และควบคุมค่าใช้จ่ายของแต่ละสาขา
3. พนักงานที่ประจำแต่ละสาขาจะได้รับการฝึกอบรมจากศูนย์ฝึกอบรมส่วนกลาง เพื่อให้เกิดความเป็นมาตรฐานในการให้บริการ
4. มีรายงานการดำเนินงานส่งมายังส่วนกลางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อผู้บริหารส่วนกลางจะได้กำหนดนโยบายส่วนกลางได้อย่างถูกต้อง
5. การจัดผังการวางสินค้าในร้านค้าถูกกำหนดจากฝ่ายบริหารสินค้า ( merchandising ) ส่วนกลาง เพื่อให้ทุกสาขาเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้เหมือนกัน
หากว่าความสำเร็จของธุรกิจคุณ เกิดจาก การที่ต้องมีจำนวนสาขามากพอ เพื่อให้เกิด Economy of Scale การทำเข้าใจกับการบริหารจัดการแบบลูกโซ่ จึงเป็น A Must ที่พิจารณา
โฆษณา