12 มิ.ย. 2020 เวลา 09:24 • ไลฟ์สไตล์
วิธีโต้เถียงอย่างสร้างสรรค์!
"The greatest benefit of disagreeing well is not just that it will make conversations better, but that it will make the people who have them happier..."
"ประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างมีระบบ ไม่เพียงแต่จะทำให้การสนทนาดีขึ้น แต่ยังจะทำให้คนที่สนทนากันมีความสุขมากขึ้นด้วย..."
เจ้าสิ่งนี้เรียกว่า Graham's Hierarchy of Disagreement หรือ ระดับชั้นของความเห็นต่างตามอย่างแกรฮ์ม นายแกรฮ์มคนนี้คือ Paul Graham เจ้าของฉายานักปรัชญาแฮกเกอร์ เขาแจงลักษณะการโต้เถียงเป็นชั้นๆ แล้วอธิบายว่าอะไรควรไม่ควร ชาวเน็ตผู้เจริญทั้งหลายพึงศึกษาเทอญ
1. เถียงแบบด่าเสียหมา (Name-calling) - ไม่เห็นด้วยต้องด่าไว้ก่อน ต่อให้ด่าว่า "ไอ้เ-ี้ย" หรือแซะเล่นโวหารเยี่ยงปัญญาชนก็ถือว่าเป็นการเถียงระดับต่ำชั้นทั้งสิ้น ไม่พึงกระทำ เช่น “สลิ่ม” “ควายแดง” “พวกชังชาติ”ฯลฯ หรือจะเป็นเป็นคำหยาบ เหยียดเพศ เหยียดรสนิยม ล้อเลียนรูปลักษณ์ (body shaming) หรือคำอื่นๆ ที่สื่อความหมายเชิงลบ โดยไม่ต้องสนใจประเด็นใดๆ ที่คู่สนทนานำเสนอ
2. เถียงแบบโจมตีบุคคล (Ad Hominem) - การโต้เถียงแบบนี้ถึงแม้ไม่หยาบคาย ไม่เจ็บแสบ แต่ก็ไม่ใช่การเถียงที่ตัวเนื้อหา แต่จะวิพากษ์วิจารณ์ที่ตัวตน ที่อัตลักษณ์ของคู่สนทนา แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นที่คู่สนทนานำเสนอ เช่น
“ จะเอาอะไรกับพวกคนรุ่นเก่า ”
“ เด็กมันจะไปคิดอะไรได้ ”
“ พวกคนแกก็แบบนี้แกละ ”
“ รับเงินค่าจ้างมาเท่าไหร่ ”
" ก็เป็นแค่นางงามตกรอบ "
3. เถียงแบบแซะน้ำเสียง แซะสำนวน (Responding to Tone) - คือการหยิบเอาเรื่องวิธีการและรูปแบบการสื่อสารของฝั่งตรงข้ามมาเป็นประเด็น แทนที่จะเถียงเรื่องเนื้อหา แต่่ไปโจมตีสำนวนภาษาหรือรสนิยม ซึ่งรสนิยมการพูดการเขียนเป็นเรื่องตัดสินถูกผิดได้ยาก เช่น น้ำเสียง สำเนียง ระดับภาษาที่ใช้ อวัจนภาษาที่ใช้ในการพูดคุยแลกเปลี่ยน เช่น
“ ดูวิธีการพูดจาก็รู้ว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน ”
“ พูดจาไม่ให้เกียรติผู้ใหญ่เลย ”
“ สำเนียงบ้านนอกชัดๆ ”
" พูดภาษาอังกฤษแบบนี้จบเมืองนอกจริงรึป่าว "
4. เถียงแบบมีประเด็นแต่ยังไม่ตรง (Contradiction) - โดยมากมักจะเริ่มคัดค้านเนื้อหาของอีกฝ่าย แต่ยังไม่มีหลักฐานมาสนับสนุน ขาดความหนักแน่นในการโต้เถียง เช่น
" ประเทศไทยดีที่สุด ฝรั่งอยากมาอยู่เมืองไทยกันทั้งนั้น "
" คนรุ่นใหม่สิความหวังของประเทศ คนรุ่นเก่าก็แค่รอวันจากโลกนี้ไป "
5. เถียงแบบโต้วิวาทะ (Counterargument) - มีประเด็นโต้เถียงชัดแล้ว และอาจจะมีหลักฐานมารองรับ แต่ปรากฎว่าเป็นคนละประเด็นกันกับที่ต้องการเถียงกับอีกฝ่าย หรือ แม้เห็นตรงกันแต่ด้วยการต้องการเอาชนะจึงไม่สนใจเรื่องอื่นๆ ระดับนี้ค่อนข้างละเอียดมาก ต้องคอยตรองให้ดีว่ากำลังเถียงเรื่องเดียวกันหรือเริ่มออกนอกเรื่องหรือไม่ เช่น กรณีที่คุณเอ๋ ปารีณา ถกเถียงกับคุณบุ๋ม ปนัดดา เรื่องโทษของการข่มขื่น
6. เถียงแบบปฏิเสธ (Refutation) - เป็นการยกคำพูดของอีกฝ่ายขึ้นมาแจกแจงให้ชัดว่าไม่เห็นด้วยอย่างไร ต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ เช่น คำพูด/ข้อเขียน คลิปสัมภาษณ์ โดยใช้การอธิบายว่าผิดถูกอย่างไรพร้อมข้อมูล แต่ก็ยังไม่ถือว่าดีที่สุด เพราะระดับนี้ยังมีความลำเอียงได้ เช่น การค้านประเด็นที่ไม่สำคัญเพื่อหวังผลอะไรสักอย่าง เช่น การอภิปรายในสภาของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล บางครั้งก็เพียงเพื่อลดความน่าเชื่อถือของอีกฝ่ายมากกว่าจะหวังผลให้เกิดการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
7. เถียงแบบคัดค้านตรงประเด็น (Refuting the Central Point) - กล่าวได้ว่าเป็นการโต้เถียงที่ดีงามที่สุดของการโต้เถียง ไม่ซับซ้อนไปกว่าการบอกว่า "คำพูดของคุณไม่ถูกต้อง เพราะเหตุผลคือ..... " แล้วก็ไปหาหลักการกับเหตุผลมาประกอบ แค่นี้เองทำไมไม่ทำกัน?
หวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจโต้เถียงอย่างสร้างสรรค์ ในยุคที่การด่า การแซะ หรือการแถข้างๆคูๆ เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ทางที่ดีบางครั้งเราก็อย่าเข้าไปร่วมวงถกเถียงกับคนที่ไม่ใช้เหตุผลเลยจะดีที่สุด
อ้างอืงจาก : Graham, Paul (March 2008). "How to Disagree". PaulGraham.com. http://www.paulgraham.com/disagree.html
โฆษณา