14 มิ.ย. 2020 เวลา 13:42 • ปรัชญา
เราเคยเรียนกันในชั่วโมงศิลปะ ครูจะสอนว่าแม่สี
มี 3 สี คือ แดง เหลืองน้ำเงิน เมื่อเรานำแม่สีมาผสมกัน เช่น แดงผสมเหลืองจะได้สีส้ม และได้สีใหม่เรื่อย ๆ ตามสีที่เกิดขึ้นใหม่ และตามปริมาณสีที่เราผสม
วันนี้เป้ยได้รับสีใหม่มาจึงทำชาร์ตสี โดยเริ่มจาก 6 สีตั้งต้น ได้สีออกมามากกว่าที่คิด และเป้ยฉุกคิดได้ว่าสี ๆ หนึ่งเราเรียกเหมือนกัน เช่น สีส้ม แต่ในความคิดของแต่ละคน สีส้มก็มีหลายน้ำหนัก เราคิดในใจคือส้มอ่อน แต่อีกฝ่ายอาจคิดในใจเป็นส้มเข้มได้ ทั้งที่เราเรียกเพียงแค่สีส้ม
เป้ยเทสสีที่ได้รับมาใหม่ค่ะ 🎨
และอีกเรื่องคือสีสองสีเมื่อผสมกัน มันสร้างสีขึ้นใหม่ได้มากมาย และมากไปเรื่อย ๆ เท่าที่เราจะผสม
ตรงนี้เป้ยจะสื่อว่าในการมองหรือตัดสินอะไร แม้เรามองในสิ่งเดียวกันก็อาจตีความได้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนที่พบเจอมาในชีวิต
 
ยกตัวอย่าง มีโจทย์ให้นักเรียน 3 คนผสมสีส้มขึ้นมา แน่นอนว่าสีส้มของแต่ละคนย่อมไม่เท่ากันเป๊ะ แต่จะส้มอ่อนหรือส้มเข้มอย่างไรมันก็คือสีส้ม
ตรงนี้ไม่มีใครถูกผิด (ไม่มีส้มหยุดนะ )
เราจึงพึงเตือนสติตัวเราไว้ว่าแต่ละคนมีพื้นเพแตกต่างกัน หากไม่หนักหนานัก การเคารพให้เกียรติในความคิดอีกฝ่ายจึงเป็นสิ่งที่เราพึงกระทำ
อีกเรื่องนะคะ
สีที่เราผสมไปได้ไม่จบ โดยอาจเริ่มจากสีตั้งต้นเพียงแค่ 2-3 สี เป้ยมองไปถึงอารมณ์ของเราที่เจือตัวแปรต่าง ๆ เช่น ความรัก
เมื่อความรักผสมความปรารถนาดีก็กลายเป็นสีสีหนึ่ง หากมีความหวังดีมาก สีอาจอ่อนหวาน แต่หากความรักผสมความหึงหวงต้องการครอบครองก็กลายไปเป็นอีกสีหนึ่ง และมีน้ำหนักไปตามสิ่งที่เราผสมลงไป
ในแต่ละวันเราตื่นมาด้วยความสดชื่น โดยมีอารมณ์ต่าง ๆ เข้ามากระทบเพิ่มขึ้นมากน้อยแล้วแต่
มันคงจะดีหากเรากำหนดสีแห่งอารมณ์ให้มีน้ำหนัก
ได้ตามที่เราต้องการ ไม่เจือไปด้วยสีทึบเทาแห่งความขุ่นมัว
และทั้งหมดนี้เราสามารถควบคุมได้ด้วยสติปัญญาค่ะ
ขอบคุณทุกคนที่ติดตามค่ะ
เป้ย 14 jun 20
โฆษณา