14 ก.ค. 2020 เวลา 14:00 • ประวัติศาสตร์
มงคลฤกษ์สถาปนา
กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์
หลังจากสิ้นสุดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชผู้ครองราชธานีกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นเวลาเกือบ 15 ปี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิฤกมหิมา ทุกนัครระอาเดช นเรศรราชสุริยวงษ์ องค์อรรคบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก (ร.1) เห็นว่าบริเวณกรุงธนบุรีนั้นเป็นท้องคุ้งของแม่น้ำ นานวันเข้าตลิ่งจะพักเอาง่าย แลประกอบด้วยส่วนของราชธานีอันเป็นศูนย์กลางนั้นติดกับเขตวัดอรุณราชวราม ยากที่จะขยายราชธานีออกไปได้เต็มที่
จึงได้ดำริย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ข้ามมาอยู่เมืองบางกอกหัวแหลมเมืองธนบุรีฝั่งตะวันออก คือคนละฝากของแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเองเจ้าค่ะ
เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ได้ย้ายราชธานีมาเป็นอันเรียบร้อยทรงได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงใช้ “ตรามหาอุณาโลม” เป็นตราประจำรัชกาลของพระองค์ ซึ่งมีความหมายถึง ตาที่สามของพระอิศวร ซึ่งถือได้ว่าเป็นปฐมในการตั้งพระบรมราชวงศ์ ล้อมด้วยกลีบบัว ซึ่งเป็นพฤกษชาติอันเป็นสิริมงคล แลได้สถาปนาพระบรมจักรีวงศ์ ขึ้นในวันที่วันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325
จากนั้นวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2325 เวลา 06.54 น. ทรงประจุดวงชะตาแลตั้งการพระราชพิธียกหลักเมืองพระมหานครแห่งใหม่นี้ ด้วยมงคลฤกษ์วันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 วิสาขามาส ชุณหปักษ์ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 สุริยกาล แล้วพระราชทานนามกรุงรัตนโกสินทร์ ราชธานีแห่งใหม่นี้ว่า
1
“ กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ “
อันมีความหมายว่า พระมหานครอันกว้างใหญ่ดุจเมืองแห่งทวยเทพ เป็นที่สถิตสถาพรขององค์พระแก้วมรกต เป็นพระมหานครที่ไม่มีผู้ใดรบชนะได้ มีความมั่นคงและเจริญงดงามยิ่งนัก เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ไปด้วยแก้วเก้าประการน่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมาซึ่งท้าวสักกเทวราชพระทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้
พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินจากกรุงธนบุรี มายังกรุงเทพมหานครและทรงปราบดาภิเษกนั้น จากพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขาได้กล่าวไว้ แลขอยกมาความตอนหนึ่งว่า
“รุ่งขึ้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน 8 ขึ้น 4 ค่ำ เพลารุ่งแล้วสี่บาทได้ มหาอุมวิชัยมงคลนักขัตฤกษ์ พระสุริยเทพบุตรทรงกลดจำรัสดวงปราศจากเมฆผ่องพื้นนภามาศ พระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเสด็จขึ้นเรือพระที่นั่งบัลลังก์ศรีสักหลาดประดับด้วยเรือจำนำท้าวพระยาข้าทูลระอองธุรีพระบาททั้งปวง แห่โดยกระบวนพยุหยาตราหน้าหลังพรั่งพร้อมเสด็จ ก็เสด็จข้ามมหาคงคามา ณ ฝั่งฟากตะวันออก…”
ในคราแรกที่ทรงเสด็จมาประทับ พระราชวังหลวงนั้นยังสร้างมิสำเร็จในคราเดียว กำแพงพระราชวังหลวงเป็นเพียงแต่ปักเสาไม้ระเนียด และพระราชมณเฑียรต่างๆก็ทำด้วยเครื่องไม้พอจะเสด็จพระทับได้ หลังเฉลิมฉลองพระราชมณเฑียรเรียบร้อยแล้ว จึงได้ลงมือปลูกสร้างสิ่งซึ่งเป็นการถาวร ทั้งในส่วนของพระราชวังหลวง และ วังหน้าด้วย กล่าวกันว่า การสร้างพระมหานครและพระราชวังนั้น ใช้เวลาสร้างอยู่ 3 ปี จึงสำเร็จเจ้าค่ะ
Le Siam
“สยาม … ที่คุณต้องรู้”
เขียน และเรียบเรียงโดย : Le Siam
ข้อมูลอ้างอิงจาก : นาวาเอกสมภพ ภิรมย์ ร.น., มงคลฤกษ์สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์, วารสารไทยฉบับที่ 6 น.13-14 และ พงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขา
โฆษณา