18 ก.ค. 2020 เวลา 13:44 • ปรัชญา
รัฐ/ ศาสนา/ วิทยาศาสตร์ และทัศนะทางปรัชญา Part1
เครดิตภาพ: https://auhouston.org
ข้อดีของปรัชญา คือทำให้รู้ว่าทำให้ผมรู้สึกว่า "ไม่เสียหน้า" เวลาที่ไปยั่วยุถามโน่นถามนี่จนท่านผู้รู้ในสาขาเหล่านั้นท่านกระหนาบมาว่า "เรื่องนี้รายละเอียดเป็นอย่างนี้ครับ ไม่รู้อย่าพูดมาก" นักปรัชญาไม่มีหน้าให้เสียอยู่แล้ว เพราะภูมิปัญญาเป็นแบบสนใจถาม มากกว่าสนใจตอบ คนแบบนี้ คือคนชอบถาม... ถามจนอีกฝ่ายหงุดหงิดเพราะจนมุม!
1
โสเครตีส (Socrates) นั้นยิ่งใหญ่ก็ที่เรื่องนี้แหละครับ
ภรรยาใช้ไปจ่ายตลาด ก็ไปเที่ยวถามคนโน้นคนนี้ โดยเฉพาะพวกที่ชอบอวดว่าตนเป็นผู้รู้ หรือที่เรียกกันสมัยนี้ว่า "กูรู" ซึ่งคำนี้เป็นคำแขก เราอ่านตามฝรั่งที่อ่านแขกแบบฝรั่ง ผมยังขำอยู่คนเดียวว่าคำนี้เขียนอีกแบบก็จะได้ว่า "กูรู้" เว้ยเฮ้ย อะไรทำนองนี้ ตลกดี!...
จนพวกรู้มากเหล่านั้นรู้สึกเสียหน้า โสเครตีส นั้นอาจไม่ทันฉุกใจคิดว่าตนเป็นคนที่จะไม่รู้สึกเสียหน้าเลย เวลามีคนถามแล้วรับตรงๆว่า
"แหะๆ ไม่รู้ครับ"!!
โสเครตีส (Socrates) เครดิตภาพ: https://victor-mochere.com
แต่บรรดาพวก "กูรู้เว้ย" ทั้งหลายไม่เป็นอย่างนั้น และพวกนี้แหละที่โกรธโสเครตีส อย่างเอาเป็นเอาตาย
แล้วก็เล่นงานเอาจนนักปรัชญาจอมถามท่านนี้ตาย ม่องเท่งจริงๆ
ในเวลาต่อมาในช่วงประมา100 กว่าปีที่ผ่านมา วงการปรัชญานั้นแทบจะเรียกได้ว่าตกอยู่ในบรรยากาศอันหนึ่งไปหมดทั้งโลก บรรยากาศที่ว่านี้คือ
การที่นักปรัชญาคนสำคัญๆเช่น เบอร์ทรัน รัสเซล (Bertrand Russell) ลูทวิช วิทเกินชไตน์ (Ludwig Wittgenstein) เป็นต้น
เขียนงานออกมาแล้วมีคนเห็นว่าเป็นตัวแทนความคิดทางปรัชญาของยุคสมัยที่ดีที่สุด นักปรัชญาเหล่านี้มีมิตรสหาย เป็นนักวิทยาศาสตร์ อย่าง รัสเซล นั้น รู้จักคุ้นเคยกับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ถึงขนาดว่าทั้งสองได้ออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับสงครามเย็น และการใช้อาวุธนิวเคลียด้วยกัน
เบอร์ทรัน รัสเซล (Bertrand Russell)
การที่วงการปรัชญาเมื่อประมาณร้อยปีที่แล้วไล่เรื่อยมาจนถึงวันนี้เห็นว่าวิทยาศาสตร์กับปรัชญาควรเดินไปด้วยกัน อาศัยกัน ทำให้มีคนเอาไปนินทาว่า นี่อาจเป็นความคลั่งวิทยาศาสตร์ก็ได้ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมองอย่างนั้นได้หรือไม่ รัสเซล เป็นคนที่วิจารณ์ศาสนามาก
แม้พุทธศาสนาก็ถูก เบอร์ทรัน รัสเซล (Bertrand Russell) วิจารณ์ว่า...
ถึงจะดูดีกว่าศาสนาอื่น แต่ที่สุดพุทธศาสนาก็เป็นศาสนาที่เหมือนกันกับศาสนาทั้งหลายทั้งปวง!...
คือ"สอนสิ่งที่ตรวจสอบไม่ได้"!!!...
จะเห็นว่าฐานคิดของนักปรัชญาท่านนี้ก็คือวิทยาศาสตร์ หรือกล่าวให้ถูกกว่านั้นคือ ระบบความคิดที่เห็นว่าหากจะมีอะไรสักอย่างที่มนุษย์เราเอ่ยอ้างขึ้นว่าเป็นความรู้ สิ่งนั้นจะต้องตรวจสอบได้ด้วยอายตนะ...
ระบบหรือหลักการนี้มีนักปรัชญาพวกหนึ่งที่เรียกว่าพวก ประจักษ์นิยม (Empiricism)
ประเทศอเมริกาเขามีกฎหมายห้ามสอนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ ที่เขามีกฎหมายเช่นนั้นก็เพราะเขาตีความว่า
สถานศึกษาของรัฐเป็นสถานที่สาธารณะ ดำเนินการด้วยเงินภาษีของประชาชน
ดังนั้นอะไรก็ตามที่จะสอนในโรงเรียนได้
สิ่งนั้นจะต้องมีสถานภาพเป็นความรู้
ถามว่าทำไมต้องเป็นความรู้!!...
ลูทวิช วิทเกินชไตน์ (Ludwig Wittgenstein)
คำตอบคือเพราะคนที่เขาจ่ายภาษีให้รัฐ เขาย่อมคาดหวังว่าเมื่อส่งลูกไปเรียนหนังสือ ลูกควรได้อะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์ติดมือมา อะไรจะเป็นประโยชน์เท่ากับ ความรู้ครับ
เขาจึงออกกฎหมายมาอย่างนั้น เพื่อปกป้องพลเมืองของเขา ทำนองคุ้มครองผู้บริโภค
ส่งลูกไปโรงเรียนแล้วโรงเรียนกลับสอนอะไรก็ไม่รู้ หาสาระไม่ได้
ก็แปลว่าจ่ายแล้วไม่คุ้ม!
ศาสนานั้นที่จริงเขาไม่รังเกียจอะไรหรอก เขาขอเพียงว่าช่วยพิสูจนหน่อยได้ไหม
ที่เขียนว่า "พระเจ้าสร้างโลก" หรือ "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม" นั้นจะดูอย่างไร
ฝ่ายศาสนาก็พิสูจน์ไม่ได้เขาก็เลยไม่ให้สอน ก็เท่านั้นเอง
มีบ้านเรานั้นพอมีข่าวว่าเขาจะลดวิชาศาสนาที่สอนในโรงเรียนของรัฐลง
ฝ่ายศาสนาก็โวยวาย! ที่จริงหากถืออย่างเคร่งครัดว่าโรงเรียนของรัฐจะสอนได้ก็เฉพาะความรู้เท่านั้น
เกรงว่าเราอาจไม่ได้สอนศาสนาเลยก็ได้
สำหรับผมคิดว่า อาจดีกว่าที่เป็นอยู่ เพราะหากมีหลักเช่นนั้น
ฝ่ายศาสนาหากอยากสอนก็ต้องปรับปรุงสิ่งที่จะสอนให้เป็นความรู้
ซึ่งผมคิดว่าทำได้ เมื่อทำได้ ก็จะเป็นการยกสถานะศาสนาให้ดีขึ้น...
การอ้างว่าบ้านเราเป็นเมืองพุทธ ดังนั้นต้องให้สอนศาสนาพุทธ จะสอนอย่างไรอย่ามาก้าวก่าย อันนี้คงไม่ถูกครับ
เพราะถ้าผมจ่ายภาษีให้รัฐแล้ว ผมก็ควรหวังว่ารัฐจะสอนลูกผมให้มีความคิด มีจริยธรรม
อะไรก็ตามที่ไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นความเชื่อนั้น ผมคิดว่าใช้เป็นจุดตั้งต้นของสังคมที่มั่นคงไม่ได้ เป็นจุดตั้งต้นทางจริยธรรมก็ไม่ได้
เพราะก่อนจะดี คนเราต้องรู้ว่าอะไรจริงไม่จริงก่อน
การสอนให้เป็นคนดีแบบศาสนานั้นมีจุดอ่อนตรงนี้ คือไม่บอกก่อนว่าอะไรจริงไม่จริง...
ไม่บอกว่า "ตรวจสอบอย่างไร" แต่สอนให้เชื่อไปก่อน โดยอ้างว่า "เชื่อแล้วจะดี”
ในอเมริกานั้น เขาก็สอนศาสนากันในโรงเรียนของเอกชน ซึ่งผมเห็นด้วยว่า อะไรก็ตามแต่ที่ไม่ใช่สมบัติสาธารณะ แต่เป็นสมบัติส่วนตัวของใคร เจ้าของย่อมมีสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่ล่วงละเมิดผู้อื่น หรือทำให้สังคมเสื่อมทราม
ครูสอนวิชาศาสนาบางท่านที่ผมรู้จักบ่นให้ผมฟังว่า "สอนศาสนาแล้วเครียด เด็กถามว่าเมื่อสักครู่ออกมาจากห้องวิทยาศาสตร์ ครูสอนว่าความรู้ต้องตรวจสอบได้ แล้วนรกสวรรค์ที่อาจารย์พูดถึงตรวจสอบได้ไหมครับ"?? เราก็ไม่รู้จะตอบเด็กอย่างไร...
ถ้าสอนศาสนาอย่างเป็นความรู้ เช่นสอนว่า "ให้อภัยแล้วใจจะเป็นสุข" คำถามนี้จะไม่เกิด ถึงเกิดก็ตอบได้ง่ายๆว่า "อยากรู้ก็ลองทำดูซิจ๊ะว่าจริงตามที่ พระพุทธเจ้าหรือพระเยซูทานสอนไหม"...
(1) ผมให้คุณค่าแก่วิทยาศาสตร์ในฐานะภูมิปัญญาที่สำคัญมากประการหนึ่งของมนุษย์ เทียบเท่ากับศาสนา ปรัชญาและศิลปะ
(2) จะอย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์นั้นบางครั้งผมจะเอาขึ้นก่อนปรัชญาและศาสนาในฐานะภูมิปัญญาที่ให้ข้อแนะนำสำหรับการตัดสินใจที่ดีที่สุดของมนุษย์
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อผมป่วย มีคนที่รู้จักมาแนะนำหลายเรื่อง บางเรื่องเกี่ยวข้องกับศาสนาหรือปรัชญาแบบของท่านผู้แนะนำ ที่ไม่อาจตรวจสอบได้ด้วยประสาทสัมผัส เช่นแนะให้ผมไปหาซินแสเพื่อรักษาแบบลึกลับ ซึ่งผมก็จะขอบคุณ แต่ก็จะไม่ทำตามที่แนะนำ...
ในเรื่องสุขภาพ ผมเชื่อวิทยาศาสตร์ที่สุด ไม่ใช่เพราะเป็นวิทยาศสตร์ แต่เพราะการรักษาโรคแบบวิทยาศาสตร์นั้นบอกผมว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับอะไร
อันที่จริง ความก้าวหน้าทางการแพทย์นี้คนในวงการศาสนาและปรัชญาก็ใช้ประโยชน์มากแต่กลับไม่มีผลที่จะเตือนสติเรา
เครดิตภาพ: http://www.sukumvithospital.com
พระพุทธเจ้านั้นทรงมีหมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ที่รักษาโรคตามแนวทางวิทยาศาสตร์ ถ้าพระพุทธเจ้าทรงมีฤทธิ์ ก็ไม่น่าจะให้หมอวิทยาศาสตร์ช่วย น่าจะทรงใช้ฤทธิ์บันดาลให้โรคเหล่านั้นหายไปเอง...
พระอย่างหลวงตามหาบัวนั้นหลายคนเชื่อว่าท่านเป็นอรหันต์และมีฤทธิ์
เมื่ออาพาธก็ต้องให้หมอวิทยาศาสตร์รักษา
ข้อมูลเหล่านี้ที่จริงบอกอะไรเราได้พอสมควร แต่เราชาวพุทธก็ไม่ค่อยได้ใช้... พระวิปัสสนาจารย์ชื่อดังรูปหนึ่งที่เล่าลือกันว่าท่านมีฤทธิ์ เหาะไปป่าหิมพานต์อยู่บ่อยๆ
ลูกศิษย์ก็เชื่อว่าท่านมีฤทธิ์จริง แต่วันที่พบกันนั้นพากันร้องไห้ บอกว่าพระอาจารย์ท่านกำลังแย่ ป่วย ลูกศิษย์ก็หายาอะไรก็ไม่รู้จำพวกสมุนไพรมาให้ท่านฉัน เป็นสมุนไพรที่ผสมสารเคมีอันตราย ผลคือพระอาจารย์บวมไปทั้งตัว เหมือนตัวหนอนอ้วนๆ สติสตังก็หลงๆลืมๆ
ก็บอกไปว่าทางที่ดีให้รีบพาหลวงพ่อไปโรงพยาบาลก่อนจะสายเถอะ...
นี่คือข้อเท็จจริงครับ ผู้วิเศษในบ้านเราและในโลกนั้นมีมากมาย แต่ผู้วิเศษเหล่านี้เมื่อป่วยก็ไปหาหมอวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น
เครดิตภาพ: http://lionkingltd.blogspot.com
สิ่งนี้บอกอะไรเราได้มากที่เดียว...
(3) ข้อดีมากอันหนึ่งของวิทยาศาสตร์ในทัศนะของผมคือวิทยาศาสตร์ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีศูนย์กลาง ไม่มีใครมอำนาจเหนือใคร ไม่เหมือนศาสนาที่"มีเจ้าของ"
ที่จริงศาสนา"ไม่ควรมีเจ้าของ" แต่นักบวชในศาสนามักทำตัวเป็นเจ้าของ
เมื่อเป็นเจ้าของก็หวง...
และจะโกรธทันที่ที่มีใครไปแตะต้องศาสนาอย่างที่ไม่ให้ความเคารพศรัทธา
นักวิทยาศาสตร์นั้นไม่เคยเป็นผู้วิเศษในสายตาของชาวบ้าน ทั้งที่ผลงานของคนเหล่านี้ทำให้เราเห็น "ปาฏิหาริย์" มากมายเต็มไปหมด
การที่วิทยาศาสตร์เป็นของสาธารณะสำหรับทุกคนไม่มีความลับ เลยทำให้วิทยาศาสตร์แม้แสดงปาฏิหาริย์ได้ก็อธิบายว่านั่นไม่ใช่ปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องปกติธรรมดาๆและไม่ใช้ปาฏิหาริย์นั้นเอาเปรียบกัน
เวลาที่เรากดรีโมทรถยนต์นั้น เห็นกับตาว่าเราอยู่ห่างรถเป็นหลายสิบเมตรแต่ก็สามารถทำอะไรกับรถได้
ถ้าคนในศาสนาทำอย่างนี้ได้เมื่อไหร่ จะมีการโฆษณากันเอิกเกริก เอาเข้าจริงก็ไม่มีใครทำได้ มีแต่ประโคมข่าวกัน แต่นักวิทยาศาสตร์เขาไม่ทำ นี่คือความอ่อนน้อมถ่อมตนของวิทยาศาสตร์ที่ศาสนาเองควรเรียนรู้เพื่อที่จะทำตาม
เครดิตภาพ: https://chobrod.com
คนบางคนชีวิตเสียหายไปมากทั้งชีวิตทางกายภาพและชีวิตทางเศรษฐกิจ เพราะหลงเชื่อว่าพระหรือนักบวชที่ตนนับถือเป็นผู้วิเศษ
ปรัชญานั้นมีท่าทีอ่อนน้อมกว่าศาสนาในเรื่องนี้...
ปรัชญาก็เหมือนวิทยาศาสตร์คือไม่ทำตัวเป็นผู้วิเศษ นักปรัชญากับนักวิทยาศาสตร์จึงเข้ากันได้ดีกว่า...
ปล่อยให้นักศาสนายืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว เป็นอย่างนี้มานานแล้ว
เว้นเสียแต่ว่านักศาสนาท่านนั้นจะทำให้ศาสนาเป็นความรู้ เหมือนปรัญาและวิทยาศาสตร์เช่นมหาตมาคานธี (Mahatma Gandhi) ที่เป็นสหายทางความคิดกับ ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)เป็นต้น...
(4) จะอย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์ก็ใช้งานในบางเรื่องไม่ได้ สรุปคือ....
"ชีวิตเราใหญ่กว่าวิทยาศาสตร์ ใหญ่กว่าปรัชญาและศาสนา"!!!
เมื่อชีวิตใหญ่กว่า บางครั้งชีวิตก็ต้องสลับใช้สิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่าเราไม่ควรเป็นทาสของอะไรทั้งนั้น ไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา หรือศิลปะ ตรงข้าม เราควรเป็นนายของสิ่งเหล่านี้ เป็นนายหมายความว่าอย่างไร
หมายความว่า ใช้สิ่งเหล่านี้อย่างรู้ทันว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง มองไปกว้างกว่าชีวิตของปัจเจกบุคคล ถึงชีวิตของสังคม ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าสังคมที่วิทยาศาสตร์กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีชีวิตของผู้คน จะเป็นสังคมที่การเอารัดเอาเปรียบกันในทางความเชื่อเกิดได้ยาก หรือไม่อาจเกิดเลย สังคมเช่นนี้ศาสนาจะมีอิทธิพลไม่มาก
ยกเว้นศาสนาในรูปของความรู้
สังคมควรเรียนรู้ที่จะเป็นนายของทุกสิ่ง รวมทั้งศาสนาและวิทยาศาสตร์ด้วย
เมื่อเป็นนาย สังคมก็จัดสรรความเหมาะสมแก่สิ่งเหล่านี้ได้ คือวางสิ่งเหล่านี้ลงในที่ต่างๆในสังคมได้อย่างเหมาะสม เช่น เมื่อมีคนพูดว่า "ควรบัญญัติว่าศาสนานี้เป็นศาสนาประจำชาติ" ก็มีสติที่จะถามกลับว่า "แล้วศาสนาอื่นไม่สำคัญหรือ"เมื่อมีการผลักดันให้สอนศาสนามากขึ้นในโรงเรียนของรัฐ ก็มีสติที่จะถามว่า "ที่ให้สอนนั้นเป็นอะไร เป็นความรู้หรือความเชื่อ" อย่างนี้เป็นต้น
แม้วิทยาศาสตร์เองสังคมก็ต้องรู้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่จะมาสร้างนิสัยของคนเราให้แข็งกระด้าง ตรงข้าม วิทยาศาสตร์ควรเป็นหนึ่งเดียวกับศิลปะและจินตนาการ และวิทยาศาสตร์นั้นควรมีส่วนช่วยเป็นเครื่องมือพัฒนาศาสนาให้เป็นระบบความรู้ มากกว่าความเชื่อ...
ผู้นำธรรมยุตในยุคแรกๆ เช่นรัชกาลที่สี่ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็ทรงใช้ประโยชน์มากจากวิทยาศาสตร์ เฉพาะรัชกาลที่สี่นั้นทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วยพระองค์เอง
จึงทรงเห็นประโยชน์ของการที่เราจะช่วยกันทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็น "อกาลิโก" ในความหมายว่า "เป็นความรู้ที่ใช้งานได้ทุกยุคทุกสมัย" เหมือนวิทยาศาสตร์แบบที่มาจากประสาทสัมผัส
ไม่ใช่วิทยาศาสตร์เพ้อฝันอย่างสมัยนี้
ผมหมายถึงวิทยาศาสตร์แนวที่พูดถึงมิติอะไรต่อมิอะไรอย่างที่เราไม่มีทางเข้าใจ พอถามก็บอกต้องการความรู้ทางคณิตศาสตร์ระดับสูงเพื่อจะเข้าใจ
(5) ที่สุดแล้ว แม้วิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเวลานี้จะเป็นแนวเพ้อฝันอย่างที่ผมกล่วผมก็รับได้
เพราะนักปรัชญาโบราณนั้นเขาก็เล่นอย่างนี้มานักต่อนัก
ว่าไปแล้ว อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นั้นก็ใช้จินตนาการมากในการคิดหาความจริงในธรรมชาติ แต่จินตนาการของท่านผู้นี้ก็ยังอยู่ในระดับที่มนุษย์เราด้วยกันจะ "นึกเห็นภาพตามได้
ผมเชื่อว่าสมองคนไม่ต่างกันดังนั้นพวกที่พูดถึงมิติมากมายมหาศาลแล้วเราก็ฟังไม่เข้าใจ ผมสงสัยว่าพวกเขาใช้อะไรคิด ก็ต้องสมองอย่างเดียวกับเรา จักรวาลสี่มิติอย่างของ Einstein นั้นเราเข้าใจเพราะพูดถึงมิติด้านอวกาศซะ3 อีก1ก็เป็นด้านเวลาที่ซ้อนกันอยู่ แต่พอเจ้าประคุณท่านนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาพูดมากกว่านั้น เช่นบอกมีตั้ง10มิติหรือเกินไปกว่านั้น
ถ้าเรานึกภาพไม่ออก ผมก็ไม่เชื่อว่าคนพวกนี้จะนึกออก เพราะเขาเองก็นึกไม่ออกไงครับ เลยใช้คณิตศาสตร์มาเป็นไม้กันหมา ห้ามเราสงสัย คณิตศาสตร์นั้นสมมติอะไรได้หมด แต่สมมติแล้วจะตรงกับความจริงในโลกจริงๆหรือไม่ ไม่รับประกัน
ดังนั้นจะมีกี่มิติในทางคณิตศาสตร์ก็ว่าไปเถิดครับ แต่ที่สุดแล้ว หากจะเป็นวิทยาศาสตร์ก็ต้องย้อนกลับมาเกี่ยวข้องกับโลกแห่งความเป็นจริง อาจพูดได้ว่า "พระเจ้าจะสร้างจักรวาลมาให้ซับซ้อนขนาดนั้นไปหาพระแสงอะไร"!!
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)
เลียนแบบคำพูดเก๋ๆของ Enstein ที่ว่า "God doesnot play dice with the world"
คราวนี้ผมขอย้ายประเด็นมาที่อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง "ประชาธิปไตย" บางท่านอาจสงสัยว่า ผมมีอะไรในใจ จึงเอาสองเรื่องนี้มาเกี่ยวโยงกัน ทั้งที่อยู่คนละโลก!
ก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ....
ประการแรกสุด ผมไม่คิดว่าสองเรื่องนี้อยู่คนละโลก ตรงข้าม ผมคิดว่าอยู่โลกเดียวกัน... และเกี่ยวข้องกันมาก!
วิทยาศาสตร์นั้นก็เหมือนกิจกรรมทางปัญญาที่ดำเนินการโดยมนุษย์ มนุษย์นั้นไม่ได้อยู่คนเดียว แต่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม สังคมก็ย่อมมีจารีตประเพณีตลอดจนกฎหมายที่สร้างจากบรรยากาศทางสังคมที่เป็นอยู่ปกติทั่วไป
ศาสนามักเป็นสิ่งกำหนดวัฒนธรรมทางความคิดของผู้คนในสังคมนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งใดที่ศาสนาเชื่อ สิ่งนั้นก็จะมีส่วนกำหนดบรรยากาศทางปัญญาของสังคม อะไรก็ตามแต่ที่สวนกระแสความเชื่อของศาสนา ก็จะถูกจารีตประเพณีของสังคมต่อต้าน
ตัวอย่างเช่น วิทยาศาสตรแบบของ อริสโตเติล (Aristotle) นั้นศาสนจักรคาทอลิกไม่ต่อต้าน เพราะชอบ!
เนื่องจากเห็นว่าสนับสนุนความเชื่อเรื่องพระเจ้า!...
เครดิตภาพ: https://www.youtube.com
แต่วิทยาศาสตรอย่างของ กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) นั้นศาสนจักรไม่ชอบเลย!...
เพราะขัดกับความเชื่อทางศาสนาของศาสนจักร เมื่อเป็นอย่างนี้ Galleo ก็เลยถูกบีบโดยอำนาจของศาสนาให้ถอนความเชื่อของตน...
โปรดสังเกตนะครับว่าวิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตกนั้นกว่าจะเจริญก้าวหน้ามาได้อย่างที่เห็นนี้ต้องต่อสู้ฟันฝ่าจารีตประเพณีของสังคมที่อิงอยู่กับศาสนามาก
วิทยาศาสตร์นั้นเราหมายถึงกิจกรรมทางปัญญาของมนุษย์ที่สนใจใคร่รู้ว่าความจริงที่อยู่เบื้องหลังโลกธรรมชาติที่เราเห็นนั้นเป็นอย่างไร และพยายามศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นอิสระ ไม่ถูกกำหนดโดยความเชื่อใดๆ โดยเฉพาะความเชื่อทางศาสนาแบบไม่สร้างสรรค์...
กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei)
การล่มสลายของศาสนาคริสต์ในโลกตะวันตกนั้นดำเนินไปพร้อมกับการปราบปรามนักวิทยาศาสตร์...
ยิ่งปราบเท่าใด คนก็ยิ่งเห็นความเลวร้ายของศาสนามากเท่านั้น และในขณะเดียวกันประชาชนก็เปรียบเทียบได้เองว่า ระหว่างสิ่งที่ศาสนาสอนกับสิ่งที่วิทยาศาสตร์บอก อะไรน่าเชื่อถือกว่ากัน!
การเปรียบเทียบนี้ดำเนินไปอย่างเงียบๆ ภายในใจของผู้คน นักบวชในศาสนามองไม่เห็นสิ่งนี้ มารู้ตัวอีกครั้งก็สายไปแล้ว วิทยาศาสตร์ได้พัฒนาจนศาสนาไม่อาจจะต้านทานได้
การห้ามสอนศาสนาในโรงเรียนของรัฐในบางประเทศเช่นอเมริกาเป็นตัวอย่างชัดเจนของการที่ศาสนาได้พ่ายแพ้อย่างราบคาบต่อวิทยาศาสตร์...
"ห้ามสอนศาสนา" ในที่นี้หมายถึง"ห้ามสอนว่าสิ่งที่ศาสนาสอนเป็นสัจธรรม"
แต่การสอนศาสนาในเชิงประวัติศาสตร์ว่ามีศาสนานั้นศาสนานี้เกิดในโลก แล้วศาสนาเหล่านั้นสอนว่าอย่างนี้อย่างนั้น อันนี้สอนได้ เพราะเป็นความรู้การสอนอย่างข้างต้นไม่เป็นความรู้ อาจเป็นความงมงายก็ได้
อเมริกานั้นเป็นประเทศที่นสนใจตรงที่ว่า ประชาธิปไตยเจริญ วิทยาศาสตร์เจริญ ศาสนาก็เจริญ การที่ประเทศนี้ห้ามสอนศาสนาในโรงเรียนของรัฐนั้นผมคิดว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศาสนาคริสต์ในประเทศนี้เจริญ เมื่อเทียบกับยุโรป
ท่านผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่า การกล่าวว่าประชาธิปไตยและวิทยาศาสตร์ในอเมริกาเจริญพอเข้าใจและดูออก....
แต่สงสัยว่าที่ว่าศาสนาเจริญนั้นดูอย่างไร ดูอย่างนี้ครับ เมื่อมีปัญหาทางจริยธรรมที่สำคัญๆ เช่น การโคลนมนุษย์ สังคมอเมริกันจะกระตือรือรั้นที่จะช่วยกันคิดและหาทางออก ซึ่งมักปรากฏว่าความเห็นทางศาสนานั้นมีส่วนช่วยสังคมเขาได้มาก ผมเข้าใจว่าการที่ศาสนาในบ้านเมืองเขาเป็นอย่างนั้นก็เพราะเขารู้ว่าจะวางศาสนาไว้ที่ไหน
เครดิตภาพ: https://board.postjung.com
การเอาศาสนาออกไปจากการศึกษาของรัฐนั้นถูกแล้ว ศาสนาควรไปอยู่ที่วัด อเมริกาเป็นสังคมที่แยกวัด (The Church) กับบ้าน (The State) ออกจากกัน ที่แยกไม่ได้แปลว่า บ้านไม่ชอบวัด แต่แปลว่าวัดควรมีที่ที่สมควรสำหรับตน
บ้านเรานั้นไม่ทราบว่าการพยายามจะให้พุทธศาสนาไปเป็นศาสนาประจำชาติ
ในรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการเอาศาสนาไปไว้ในที่ที่ไม่ควรไว้ เพราะเอาไปไว้อย่างนั้นแล้วศาสนาอาจเสียหายได้ ตอนนี้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่กำหนดให้พระสังมาธิการเช่นเจ้าอาวาสเป็น "เจ้าหน้าที่รัฐ" ก็กำลังส่งผลด้านลบแก่วงการคณะสงฆ์
มีลูกวัดที่ถูกเจ้าอาวาสไล่ออกจากวัดไปร้องต่อศาลปกครองว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐล่วงละเมิดอย่างไม่ชอบ เจ้าคณะตำบลไม่ตั้งพระในตำบลเป็นพระอุปัชฌาย์ก็ถูกร้องไปที่ศาลปกครอง ซึ่งเป็นศาลของโยม กลายเป็นว่าเวลานี้โยมต้องมาพิพากษาความขัดแย้งของพระ ทั้งที่ความขัดแย้งเช่นนี้เป็นเรื่องที่สงฆ์พึงดำเนินการกันเอง
คดีแปลกประหลาดเช่นนี้มีเป็นจำนวนมากในศาลปกครองเวลานี้ ถ้าเราแยกศาสนาไว้ส่วนศาสนา บ้านไว้ส่วนบ้าน โยมก็ไม่ต้องมาพิพากษาพระอย่างนี้ ยกเว้นคดีอาญาทั่วไปที่หากพระถูกกล่าวหา ไม่ใช่การพิพากษาพระ แต่เป็นการพิพากษาพลเมืองที่ตอนนี้ไปบวชเท่านั้นเอง ไม่เหมือนกัน!
หันจากอเมริกามาดูบ้านเราบ้าง สมัยก่อนนั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงอุปถัมภ์ก็พระสงฆ์และพุทธศาสนา ต่อเมื่อเราเปลี่ยนการปกครองมาเป็นแบบประชาธิปไตย พระจำนวนมากก็รู้สึกว่านักการเมืองที่มาแทนที่พระเจ้าแผ่นดินนั้นเป็นพวกไม่รู้เรื่องพระศาสนา!
เมื่อรู้สึกเช่นนั้นก็เกิดความวิตกกันในหมู่สงฆ์ว่า อนาคตพระพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตยท่าจะไม่ดีเสียแล้ว ตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านเราหลายประเทศก็บอกอย่างนั้น พอสถาบันกษัตริย์ถูกลดอำนาจหรือยกเลิกไป ศาสนาพุทธโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะสงฆ์ก็ลำบาก ไม่มีคนเอาใจใส่ดูแลเหมือนแต่ก่อน ความกังวลของพระสงฆ์ไทยตามที่กล่วมานี้ผมรับรู้มาด้วยตนเอง...
เครดิตภาพ: http://bboommeezz.blogspot.com
ประการแรก สังคมประชาธิปไตยนั้นไม่เหมือนสังคมที่มีพระเจ้าแผ่นดินทรงดูแลบ้านเมืองตรงที่ว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่มีใครเป็นเจ้าของประเทศ ผู้ปกครองก็มาจากชาวบ้านด้วยกันนี่แหละ เลือกกันไปบริหารบ้านเมือง โดยมีวาระที่แน่นอน เป็นได้เท่านั้นเท่านี้สมัย ไม่อาจเป็นได้ชั่วนิรันดรกาล
ในสังคมที่ไม่มีศูนย์กลางอำนาจเช่นนี้ อะไรก็ตามแต่หากจะดำรงอยู่ได้ สิ่งนั้นต้องได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นสิ่งที่ "จำเป็น" ต่อสังคม
ต่อให้เราเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบไหนก็ตามแต่ โรงพยาบาลก็จะยังมี การแพทย์สมัยใหม่อย่างที่เราใช้กันอยู่นี้ก็ต้องมี วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ต้องมี วิชาความรู้ที่สอนกันในโรงเรียนเช่นคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และต่างประเทศ วรรณคดี เป็นต้น ก็ต้องมี
เครดิตภาพ: https://www.newsringside.com
สังเกตนะครับว่าของเหล่านี้เหมือนกันอย่างหนึ่งคือเป็น "ความรู้" ดังนั้น หากเราสามารถทำให้สิ่งที่พุทธศาสนาสอนเป็นความรู้ ศาสนาพุทธในรูปความรู้ก็จะอยู่ในสังคมได้ตลอดไป ด้วยตัวเอง ก็ไม่ต้องการการอุปถัมภ์ดูแลจากใคร
ที่ผ่านมานั้น การที่พระเจ้าแผ่นดินท่านทรงอุปถัมภ์นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างมาก
แต่สิ่งที่ทำกันอยู่เวลานี้กลับเหมือนกับว่าเราไม่มั่นใจตัวเอง!
จึงต้องเรียกหาผู้อุปถัมภ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้โปรดอย่าได้เข้าใจว่าผมกำลังเสนอว่าคณะสงฆ์ไม่ควรได้รับการสนับสนุนอุปถัมภ์จากใคร เป็นเช่นนั้นไม่ได้อยู่แล้ว!
เพราะว่าคณะสงฆ์เป็นบุคคลที่ไม่ได้ประกอบอาชีพ...
ย่อมจำเป็นต้องมีผู้อุปถัมภ์อยู่แล้ว
พระสงฆ์จำเป็นต้องได้รับการอุปถัมภ์ที่เป็นเรื่องทางกายภาพเท่านั้น!
ไม่ได้หมายรวมมาถึงเรื่องความคิดด้วย!...
กล่าวตามภาษาของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ก็คือ คนหรือองค์กรใดก็ตามแต่จะอยู่ในสังคมได้ก็ต่อเมื่อทำหน้าที่ "ผลิต"อะไรสักอย่าง นักวิทยาศสตร์ก็ผลิตความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หมอก็ผลิตการรักษา
คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx)
พระนั้นผลิตการสอนธรรม เมื่อผลิตอะไรออกมาแล้วสังคมได้ใช้งาน สังคมก็จะอุ้มชูให้คนหรือองค์กรนั้นอยู่ต่อไป เพราะเป็นประโยชน์ ตรงข้าม หากใครผลิตอะไรออกมาแล้วคนไม่เห็นประโยชน์ นานเข้าผู้นั้นหรือองค์กรนั้นก็จะค่อยๆล้มหายตายจากไปจากโลก คือต้องไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ จะทำอย่างเดิมไม่ได้...
แนวคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ตามที่กล่าวมานี้ก็เข้ากันได้ดีกับแนวคิดของ ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) เรื่องการที่สรรพชีวิตจำต้องดิ้นรนเพื่ออยู่รอดใครดิ้นรนเป็นก็รอด ดิ้นรนไม่เป็นก็ไม่รอด ที่ผ่านมานั้นผมสงสัยว่า มีความสัมพันธ์กันเพียงใดระหว่าง "สิ่งที่คณะสงฆ์ผลิตออกมา"กับ"การอุปถัมภ์โดยสถาบันกษัตริย์"
จะอย่างไรก็ตาม ศาสนานั้นเนื่องจากประกอบด้วยเนื้อหาส่วนที่เป็นหลักที่สุด อันว่าด้วยความเชื่อ ที่ไม่อาจตรวจสอบด้วยประสาทสัมผัส เช่นความเชื่อเรื่องทำทานแล้วจะได้บุญ! เมื่อมีบุญตายแล้วก็จะได้ไปอยู่สวรรค์! เป็นต้น...
ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)
อำนาจของคำสอนที่ลึกลับเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็ทำหน้าที่เป็นเกราะคุ้มภัยให้แก่คณะสงฆ์ คืออย่างไรเสียตราบเท่าที่ยังคนเชื่ออย่างนี้อยู่ ก็จะมีคนทำบุญใส่บาตรพระ คณะสงฆ์ย่อมไม่อาจจะสูญสลายไปได้ง่ายๆ
การวิเคราะห์เช่นนี้ผมเห็นด้วย แต่ก็รู้สึกว่า หากคณะสงฆ์จะอยู่รอดได้ตัวยเหตุปัจจัยเช่นนี้เราก็ขาดความสง่างามไปมาก ไม่สมกับเป็นพุทธบุตรที่สมควรอยู่ใด้เพราะคนมองห็นว่าจำป็น ไม่ต่างจากครูหรือหมอ...
พูดง่ายๆคือครูหรือหมอนั้นอยู่ได้เพราะผลงานที่เป็นความรู้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ด้วยการมีเหตุมีผล พระก็ควรเป็นอย่างนั้น ผมจึงเสนอว่าสิ่งที่ก่อนผลิตออกสู่สังคมควมีสถานะเป็นความรู้...
ผมเชื่อว่าศาสนาทุกศาสนานั้นสามารถแปรเป็นความรู้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนได้เหมือนกัน ซึ่งเมื่อแปรออกมาแล้วจะเป็นสิ่งที่งดงาม มีค่า มีเอกลักษณเฉพาะตัว ทดแทนด้วยระบบความรู้อื่นไม่ได้...
ยกตัวอย่างเช่นศาสนาพุทรมีเอกลักษณ์เรื่องการวิเคราะห์เชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน คล้ายวิทยาศาสตร์ ภูมิปัญญาแบบพุทธก็จะออกมาในรูปของการสอนให้เรารู้จักพิจารณาแยกแยะสิ่งต่างๆ แล้วถามว่าอะไรเชื่อมกับอะไร อะไรเราเข้าใจไปเองว่าเชื่อมกับสิ่งนั้น แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่
การวิเคราะห์เช่นนี้จะทำให้คนที่เรียนรู้ระบบการใช้ปัญญา แบบของพุทธเป็นคนที่ฉลาดในการพิจารณาเหตุการณ์ที่ซับซ้อนยุ่งยาก ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่โรแมนติก เป็นตัวของตัวเอง และเนื่องจากการวิเคราะห์แบบพุทธจะแสดงให้เราเห็นว่า
ในกระบวนการหนึ่งที่ก่อให้เกิดความสำเร็จ
ไม่มีใครเป็นพระเอกอยู่ได้คนเดียว
เช่นเราจะไม่พูดว่าที่ชาติไทยอยู่รอดมาได้เพราะเรามีพระมหากษัตริย์ที่ไม่เหมือนใครในโลก เพราะการวิเคราะห์แบบพุทธจะทำให้เราเห็นว่า นอกจากกษัตริย์ ชาวบ้านธรรมดาก็มีส่วนไม่แพ้กันที่ทำให้เรารอดมาได้...
หากเราทำดีๆกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ผลที่ออกมาจะเป็นความรู้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะบางอย่างที่ผมเชื่อว่าสังคมต้องการ เราสามารถทำอย่างนี้ได้กับคำสอนในศาสนาคริสต์ อิสลาม ฮินดู เป็นต้น และผลที่ได้ก็จะคล้ายกัน คือเป็นระบบความรู้ที่น่าสนใจ และงามตามแบบฉบับของตน
อย่างศาสนาคริสต์นั้นผมคิดว่าคำสอนเรื่องการให้อภัย การเอาชนะความเลวร้ายด้วยความอดทนที่จะไม่ใช้ความรุนแรง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศาสนานี้เลย ทำดีๆจะออกมาน่าสนใจ
ศาสนาอิสลามก็เด่นเรื่องความคิดทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องความยุติธรรมและการที่สังคมจะต้องลงมือช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากในสังคม
ศาสนาฮินดูก็เด่นเรื่องการที่คำสอนทางศาสนาเป็นแหล่งบันดาลใจให้เกิดงานศิลปะวรรณคดี ตลอดจนศาสตร์ทางความคิดบางอย่างเช่นคณิตศาสตร์และตรรกวิทยา
ทุกศาสนานั้นสามารถที่จะนำมาแปรสภาพให้เป็นความรู้ได้หมดและความรู้อันมีพื้นฐานมาจากศาสนานี้ผมถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งไม่อาจหาได้จากระบบอื่น เช่น วิทยาศาสตร์หรือปรัชญาอย่างที่เรียนกันอยู่ในมหาวิทยาลัยเวลานี้...
ความเห็นสุดท้ายของผมที่อยากฝากให้ท่านผู้อ่านช่วยพิจารณาก็คือ เมื่อฝ่ายศาสนาคิดว่าตนเองจะอยู่รอดได้อย่างสง่างามอย่างไรในสังคมประชาธิปไตยและประสงค์จะปรับปรุงตนเพื่อให้เป็นสิ่งที่สังคมเห็นว่านจะเป็นประโยชน์เสมอไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ระบอบใดก็ตาม
ฝ่ายศาสนาจะเริ่มต้นอย่างไร...
ศาสนาควรสนใจสองเรื่องคือวิทยาศาสตร์กับประชาธิปไตย ข้อเสนอนี้ก็อาจยังไม่ชัดนัก เราคงต้องช่วยกันคิดในระยะยาวว่าในทางปฏิบัติจะต้องทำอะไรบ้าง จะอย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าทิศทางที่มุ่งไปหาประชาธิปไตยและวิทยาศาสตร์นจะถูกทางแล้ว
เพราะโลกทั้งโลกกำลังเดินไปทั้งสองทางนี้
สังคมเก่านั้นคล้ายกันอย่างหนึ่งทั่วทั้งโลกคือ ศาสนาแบบหลังจะจับมือกับอำนาจรัฐซึ่งมักเป็นอำนาจที่อยู่ในมือของคนเพียงผู้เดียวหรือคณะเดียว เนื่องจากการปกครองมหาชนโดยคนเพียงผู้เดียวนั้นขัดธรรมชาติ ศาสนาที่หนุนหลังระบอบนั้นอยู่จึงได้สร้างระบบความเชื่อและจารีตประเพณีอะไรมากมายเพื่อให้คนคนเดียวนั้นอยู่เหนือคนเป็นร้อยล้านหรือพันล้านได้
แต่ที่สุดของที่ผิดธรรมชาติก็จะยืนอยู่ไม่นาน...
เครดิตภาพ: https://prathai.page.t
ประเทศจีนนั้นปกครองด้วยระบอบกษัตริย์มายาวนานมาก จนอาจใช้เป็นตัวอย่างของระบอบกษัตริย์ที่เคยมีบทบาทปกครองโลกมาแล้วในอดีตได้ ว่าขนาดระบอบกบัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกก็ยังต้านทานความเปลี่ยนแปลงไม่ได้
ประเทศจีนเวลานี้ว่าไปแล้วก็กำลังเดินไปหาวิทยาศาสตร์กับประชาธิปไตย ระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศนี้จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับประชาธิปไตย
ที่กล่าวมานี้ไม่ได้แปลว่าผมเห็นว่าประชาธิปไตยดีกว่าสังคมนิยม... แต่ต้องการชี้เพียงว่าระบอบใดก็ตามแต่ที่ให้อำนาจการปกครองในมือคนบางคนหรือบางกลุ่ม ระบอบนั้นจะอยู่ไม่ได้นาน เพราะขัดธรรมชาติ ระบอบคอมมิวนิสต์นั้นในแง่หนึ่งก็คล้ายระบอบกษัตริย์ คือปกครองคนจำนวนมากโดยคนจำนวนน้อย การปกครองแบบคนจำนวนน้อยใช้อำนาจแทนคนจำนวนมากนี้อาจใช้ได้ในระยะที่คับขัน เมื่อชาติต้องการการปักหลักทางการเมืองและสังคมให้มั่นคงในระยะเวลาอันสั้นก่อน.
เครดิตภาพ: https://www.sanook.com
ก็เป็นธรรมดาที่สายน้ำที่เคยถูกเก็บกักไว้ในเขื่อน เอ่อขึ้นทุกวินาที จำต้องได้รับการระบายไปตามธรรมชาติ!
เผด็จการทุกรูปแบบเหมือนกันคือทำตัวเป็นเขื่อนกั้นน้ำ
แรกๆที่จำเป็นต้องกักน้ำที่มีไม่มากไว้ใช้ก็ไม่เป็นปัญหา ต่อนานเข้าน้ำก็ค่อยๆเต็มมากขึ้นแล้วไม่มีทางไป ก็สร้างความกดดันอึดอัดไปทั่วแผ่นดิน ถ้ารู้ตัวก่อนแล้วปล่อยน้ำก็รอดไป ถ้าไม่รู้ หรือรู้ก็ยังฝืนดึงดัน เขื่อนก็พังทลายราบลง เป็นอย่างนี้มานักต่อนักในประวัติศาสตร์โลก
พระพุทธศาสนาในบ้านเรานั้นเท่าที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ก็อาจกล่าวได้ว่าเราอิงแอบแนบสนิทอยู่กับคนที่ทำตัวเป็นเจ้าของเขื่อน ปัญหาคือ ถ้าเรายังอิงแอบแนบแน่นกันอยู่อย่างนั้นต่อไปเมื่อเขื่อนทลาย เราก็จะสูญสลายไปกับสายน้ำที่เชี่ยวกรากนั้นด้วย!
วิธีที่เสนอคือ เรามาร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับสายน้ำจะดีกว่า ไม่ว่าสายน้ำจะไหลไปไหน เราก็ไปด้วย นี่ต่างหากคือความฉลาด...
พระพุทธเจ้านั้นไม่เคยทรงอิงแอบบรรดาเจ้าของเขื่อนอย่างที่มีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเข้าใจอย่างนั้น
ดูวันที่ปรินิพพานชิครับ ทรงเลือกที่จะนิพพานในดินแดนที่ปลอดจากอำนาจของบรรดาเจ้าของเขื่อนทั้งหลาย เพื่อให้สายน้ำแห่งมหาชนในทุกสารทิศได้ไหลมารวมกันเพื่อแสดงความอาลัยรักพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย
เครดิตภาพ: http://www.watthumpra.com
ถ้าทรงเลือกนิพพานในแคว้นมหาอำนาจอย่างมคธหรือโกศล งานพระศพของพระองค์ก็จะกลายเป็น "งานหลวง" ทันที!
มหาชนที่เป็นชาวบ้านธรรมดาๆก็ถูกกีดกันออกจากงาน มีแต่บรรดาเจ้าของเขื่อนจำนวนไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้รับเชิญเข้าร่วมงานอย่างใกล้ชิด ถ้าสมัยโน้นมีโทรทัศน์ มียูทูป หรือเฟสบุ็กไลฟ์ เขาก็อาจถ่ายทอดให้ชาวบ้านได้ดู
ดูเท่านั้นนะครับ ไม่มีส่วนร่วม!...
แต่ทรงเลือกจะนิพพานในดินแดนที่ปลอดจากอำนาจรัฐ เพื่อจะได้ใกล้ชิดประชาชน คล้ายๆ งานศพท่านพุทธทาสที่เป็น "งานราษฎร์" อย่างเต็มรูปแบบ เรียบง่าย ลึกซึ้ง มีน้ำใจของคนเล็กๆจำนวนมหาศาลเป็นสิ่งหล่อเลี้ยง
ไม่อลังการใหญ่โต แต่แห้งแล้ง กลวง และไม่เป็นธรรมชาติ
พุทธศาสนาที่จะอยู่รอดได้ในอนาคตจะต้องเป็นศาสนาของราษฎร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีศูนย์กลาง ไม่ต้องมีกฎหมายหรือกลไกของรัฐมารับรอง เป็นศาสนาที่คนไม่รู้สึกว่าเป็นศาสนาในความหมายเดิม แต่เป็นภูมิญญาที่แหลมคม มีเหตุผล เขากันได้ดีกับวิทยาศาสตร์ เข้ากันได้ดีกับการปกครองแบบมหาชนดูแลกันเอง
ไม่มีใครเป็นนายใคร ไม่มีไพร่ ไม่มีเจ้า พระสงฆ์อาจไม่จำเป็นต้องมีมาก มีเท่าที่จำเป็นต้องใช้งานจริง อาจจะสักพันหรือหมื่น
เครดิตภาพ: http://kitiya13437.blogspot.com
พระสงฆ์เหล่านี้เป็นปัญญชน เรียนหนังสือมาพอสมควร และพยายามเรียนรู้อยู่ตลอดวลา ทั้งในทางโลกและทางธรรม รู้วิทยาศาสตร์ รู้ปรัชญาโดยเฉพาะปรัชญาสังคมและการเมือง มีรสนิยมทางศิลปะไม่เทศน์ซ้ำซากประจบประแจง หวังลาภสักการะ หรือเทศน์เอาฮาเอามันส์ แต่ชี้แจงข้อธรรมอย่างนักวิชาการ
เมื่อถึงวันนั้น พระไตรปิฎกก็คงได้รับการศึกษาวิเคราะห์อย่างที่จะเป็นความรู้ เนื้อหาส่วนที่จะเป็นหลักให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งจะประกาศว่าเป็นพุทธหรือไม่ ไม่สำคัญ ก็คงได้แก่ส่วนที่ตรวจสอบได้ เอามาใช้ได้จริง และลึกในตัวเอง ไม่ต้องอาศัยศรัทธา
สมตามที่ตรัสไว้ใน "กาลามสูตร" ความเชื่อที่ไม่อาจตรวจสอบได้ด้วยอายตนะที่เรียกว่าความเชื่อทางอภิปรัชญาที่สวยงาม ส่งเสริมศีลธรรมและจินตนาการ เช่นเรื่องกรรม ชาติหน้า นรกสวรรค์ นิพพาน เป็นต้น ก็ยังควรมีอย่างครบถ้วน
แต่ทั้งผู้สอนและผู้ฟังที่ได้รับการฝึกให้มีวินัยทางความคิด ผ่านทางวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และพระพุทธศาสนาเอง
จะทราบว่า แนวคิดเหล่านี้เนื่องจากตรวจสอบไม่ได้ เราก็ต้องมีท่าทีที่เหมาะสม คือ "ฟังหูไว้หู ไม่จำเป็นว่าต้องเชื่อคล้อยตามที่ผมหรือใครพูดให้ฟังหรือเขียนให้อ่าน...
สมตามที่ตรัสใน "กาลามสูตร" อีกเช่นกัน
เครดิตภาพ: https://www.smethailandclub.com
ในพระสูตรนั้น ไม่ทรงยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้มีหรือไม่ เพราะยืนยันอย่างไรก็ไม่มีใครตรวจสอบได้ จึงทรงให้หลักว่า
(1) จงมั่นใจที่จะเป็นคนดี
(2) หากชาติหน้ามีจริง คนดีก็ต้องไปเกิดดี
(3) หากชาติหน้าไม่มี คนดีก็มีชีวิตที่ดีแล้วในชาตินี้
(4) ดังนั้น ทำดีไม่มีเสียปล่า
นี่คือพระพุทธพจน์ที่ผมเห็นว่ามีเหตุผลที่สุด
ปรัชญาประจักษ์นิยมกับเหตุผลนิยม
-วิรุฬหก-
โฆษณา