28 ก.ค. 2020 เวลา 05:00 • สุขภาพ
การตรวจปัสสาวะ สามารถบอกอะไรได้บ้าง
Cr. Sriphat Medical Center
เมื่อถึงช่วงเวลาแห่งการตรวจสุขภาพประจำปี
นอกจากการตรวจเลือดแล้ว หลายคนต้องตรวจปัสสาวะด้วย
แล้วตรวจไปเพื่ออะไร ทำไมต้องตรวจ ที่สำคัญ..ผลตรวจปัสสาวะบ่งบอกอะไรเกี่ยวกับสุขภาพได้บ้าง
อ.พญ.อนุธิดา เชาว์วิศิษฐ์เสรี แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ประจำศูนย์ศรีพัฒน์
อธิบายว่า น้ำปัสสาวะเกิดจากไตทำการกรองของเสียที่อยู่ในเลือด
ซึ่งจะไหลผ่านตามทางเดินปัสสาวะก่อนที่จะถูกขับออกมา
เพราะฉะนั้นการนำปัสสาวะมาตรวจ จึงเป็นการสะท้อนการทำงานของไตและทางเดินปัสสาวะ
นอกจากจะสามารถประเมินความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะแล้ว
ยังสามารถบ่งบอกความผิดปกติของร่างกายบางภาวะได้อีกด้วย เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
ผลตรวจปัสสาวะ บอกอะไรได้บ้าง
- บอกถึงข้อมูลเบื้องต้นจากปัสสาวะ
ได้แก่ ลักษณะของสีและความขุ่นใสของปัสสาวะ โดยปกติแล้วปัสสาวะจะมีลักษณะสีเหลืองใส หากมีลักษณะผิดแปลกไป อาจจะบ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกายได้ เช่น ปัสสาวะขุ่นบ่งบอกถึงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะสีแดงบ่งบอกถึงการมีเลือดปน ซึ่งแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อสืบค้นสาเหตุของความผิดปกติต่อไป
- ความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ (pH)
สามารถแสดงความสมดุล ความเป็นกรด-ด่างของเลือดได้ ค่าปกติจะอยู่ที่ 4.5-8 อย่างไรก็ตามสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามอาหารที่รับประทานเข้าไปได้ด้วย เช่น ปัสสาวะสามารถเป็นกรดมากขึ้น จากการรับประทานเนื้อสัตว์ในปริมาณมากหรือผลไม้บางชนิด
- ความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ (SG)
ค่าปกติควรอยู่ที่ 1.003-1.030 ค่านี้จะช่วยบ่งบอกความเข้มข้นหรือเจือจางของปัสสาวะได้ หากค่าผิดปกติไป ร่วมกับมีประวัติหรืออาการที่ผิดปกติ จะช่วยบ่งบอกถึงภาวะหรือโรคบางอย่างได้
- โปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะ (Protein)
โดยปกติแล้วไม่ควรพบโปรตีนในปัสสาวะ แต่อาจจะมีปนมาในปัสสาวะได้บ้างในกรณี เช่น มีการออกกำลังกายอย่างหนักมาก่อน, มีภาวะขาดน้ำ, มีไข้, ใกล้มีรอบเดือน, รับประทานเนื้อสัตว์เยอะ แต่หากมีการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะปริมาณมากควรได้รับการตรวจยืนยันอีกครั้ง เพราะอาจจะเป็นสัญญาณของภาวะไตเสื่อมเรื้อรังหรือโรคไตบางชนิดได้
- น้ำตาลในปัสสาวะ (Sugar)
ปกติแล้วไม่ควรพบน้ำตาลในปัสสาวะ หากตรวจพบจะบ่งบอกถึงระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง ทำให้สงสัยโรคเบาหวานได้ หรือมีการทำงานของไตที่ผิดปกติได้
- ตะกอนของปัสสาวะ (Urine Sediments)
ประกอบไปด้วยการรายงานเม็ดเลือดขาว, เม็ดเลือดแดง, เยื่อบุเซลล์ผิวหนัง รวมถึงผลึกต่างๆ หรือแท่งคาสท์ ซึ่งหากมีสิ่งเหล่านี้สูงผิดปกติ สามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ, นิ่วหรือโรคไตบางชนิดได้ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุต่อไป
คำแนะนำการเก็บปัสสาวะ
อ.พญ.อนุธิดา ให้คำแนะนำว่า การเก็บปัสสาวะที่ถูกวิธี จะทำให้สามารถวิเคราะห์ผลได้ถูกต้อง
โดยการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ จะทำขณะที่ปัสสาวะยังสดใหม่และอุ่นอยู่
โดยไม่ควรทิ้งปัสสาวะไว้นานเกิน 2 ชั่วโมงหลังเก็บปัสสาวะ
เพราะจะเกิดการสลายตัวของเม็ดเลือดและพบแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้นได้
โดยมีวิธีดังนี้
 
- สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนอยู่ แนะนำงดตรวจปัสสาวะ เพราะจะทำให้มีเลือดปนกับปัสสาวะออกมาและแปลผลผิดไปจากความเป็นจริง
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังอย่างหักโหมก่อนทำการเก็บ เพราะอาจจะทำให้พบเม็ดเลือดแดงและโปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะได้
- สำหรับผู้ใหญ่ที่สามารถเก็บปัสสาวะเองได้ นิยมตรวจปัสสาวะด้วยวิธีการ Midstream and clean catch technique นั่นคือต้องเก็บปัสสาวะด้วยวิธีที่สะอาดและกลางลำปัสสาวะ
จะเห็นได้ว่าการตรวจปัสสาวะสามารถให้ข้อมูลต่างๆ ทางสุขภาพได้มากมาย
และยังเป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องมีการเตรียมตัวที่ยุ่งยากซับซ้อน
แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่รับการตรวจต้องให้ความสำคัญกับวิธีการเก็บปัสสาวะที่ถูกต้อง
เพื่อผลที่ออกมาจะได้มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ
บทความเรื่อง การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis)
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
โฆษณา