29 ก.ค. 2020 เวลา 23:00 • สุขภาพ
ปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นโรคความดันโลหิตสูง
Cr. Sriphat Medical Center
ตลอดระยะเวลา 9 เดือนของการตั้งครรภ์
คุณแม่ต้องเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นอย่างดี
ด้วยเพราะห่วงความปลอดภัยของชีวิตน้อยๆ ที่เติบโตอยู่ในครรภ์
โดยหนึ่งในโรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังอีกโรคหนึ่ง
นั่นคือ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ศ.พญ.สายพิณ พงษธา สูตินรีแพทย์
อธิบายว่า ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หมายถึง กลุ่มความผิดปกติซึ่งประกอบด้วยความดันโลหิตสูงเป็นหลัก
อาจตรวจพบก่อนหรือขณะตั้งครรภ์ และพบร่วมกับการบวมหรือตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ
ถ้ามีอาการรุนแรง อาจมีอาการชักหมดสติ ซึ่งในอดีตเรียกภาวะความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์ว่า ภาวะครรภ์เป็นพิษ
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
ศ.พญ.สายพิณ อธิบายเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่แท้จริงยังไม่เป็นที่แน่ชัด
แต่มีหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดภาวะดังกล่าว
ได้แก่ อายุของหญิงตั้งครรภ์ มักพบในผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
และพบในมารดาที่เคยตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้ง
รวมทั้งภาวะความดันโลหิตสูงนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
นอกจากนั้นมักพบในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเรื้อรัง
เช่น เบาหวานหรือโรคไต ครรภ์แฝด ครรภ์ไข่ปลาอุก ทารกบวมน้ำ และการขาดสารอาหาร เช่น แคลเซียม
ผลต่อมารดาและทารก
ผลต่อมารดา
1. อันตรายจากภาวะชัก อาจทำให้หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต
2. ภาวะหัวใจทำงานล้มเหลว
3. เสียเลือดและเกิดภาวะช็อกจากรกลอกตัวก่อนกำหนด ตกเลือดหลังคลอด ซึ่งเป็นผลจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำและ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
4. ภาวะไตวายเฉียบพลัน
5. มีโอกาสกลับเป็นซ้ำใหม่ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
ผลต่อทารก
1. ทารกในครรภ์เสียชีวิต
2. คลอดก่อนกำหนด
3. ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
4. ทารกที่คลอดออกมาอาจมีภาวะแทรกซ้อน จากการคลอดก่อนกำหนด
อาการแบบไหน บอกได้ว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง
1. ความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท อาจมีอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุก แน่นลิ้นปี่
2. มีอาการบวมแบบทันทีทันใดบริเวณใบหน้ามือขาและเท้า โดยมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
3. ตรวจพบไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ
การปฏิบัติตัวของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
1. สังเกตอาการสำคัญต่างๆ
ได้แก่ การสังเกตอาการบวมบริเวณใบหน้ามือขาและเท้า
ปัสสาวะออกน้อยลงคลื่นไส้ อาเจียน มีเลือดออกตามไรฟัน
การรับรู้วัน เวลา สถานที่ลดลง และอาการสำคัญที่นำไปสู่การชัก
คือ อาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว เห็นภาพไม่ชัด
ปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือเจ็บชายโครงขวา
หากพบอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอถึงวันนัด
2. สังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์ ถ้าดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้งภายใน 4 ชั่วโมง ควรไปตรวจที่โรงพยาบาลโดยเร็ว
3. ควรนอนพักมากๆ ในท่านอนตะแคงซ้าย
เพื่อส่งเสริมให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกและรกมากขึ้น
นอกจากนี้ยังช่วยลดความดันโลหิตทำให้เลือดไปเลี้ยงไตมากขึ้น
4. ควรชั่งน้ำหนักทุกวันในเวลาเดียวกัน ตอนเช้าหลังตื่นนอนก่อนรับประทานอาหาร
ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนชั่งน้ำหนัก เพื่อให้ได้ค่าที่เชื่อถือได้
ถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่โรงพยาบาล
5. การรับประทานอาหาร
- ควรลดอาหารเค็ม
- เพิ่มอาหารประเภทโปรตีนและแคลเซียม ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว
- ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
- รับประทานอาหารที่มีกากใยเพื่อป้องกันท้องผูก
6. สังเกตการหดรัดตัวของมดลูก (อาการท้องแข็ง)
ถ้ามดลูกหดรัดตัวอย่างน้อย 1 ครั้งใน 10 นาที และมาสม่ำเสมอ
และแต่ละครั้งหดรัดตัวนาน 30 วินาที
แสดงถึงอาการของการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
ควรไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล
7. พักผ่อนให้เพียงพอ โดยพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน
ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดควรนอนพักในเวลากลางวันอย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง
และควรผ่อนคลายความเครียด
8. การออกกำลังกายควรเป็นแบบง่ายๆ
ได้แก่ การหมุนข้อมือข้อเท้า การผ่อนคลายกล้ามเนื้อแขนขา
เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ส่งเสริมการขับถ่ายให้เป็นปกติและช่วยให้รู้สึกสดชื่นแจ่มใสขึ้น
9. มาตรวจตามนัดสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
บทความเรื่อง ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
โฆษณา