26 ก.ค. 2020 เวลา 11:17
โชคดี & โชคร้าย อย่างไหนที่คนจะเลือกเชื่อปฏิบัติมากกว่ากัน
หากกล่าวถึงโชคลางย่อมไม่มีมนุษย์คนไหนกล้าออกมารับประกันว่าเรื่องทำนองนี้เป็นเพียงแค่ความรู้สึกนึกคิดเพ้อฝันไปเอง เพราะแม้แต่ศาสนาทุกความเชื่อที่อยู่บนโลกยังไม่มีคำอธิบายไหนสามารถอธิบายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับผู้คนที่เป็นอยู่นี้ได้
ทว่าในบรรดาโชคลางที่เล่าจากปากสู่ปากหรือบันทึกจากลายลักษณ์อักษร บางความเชื่อที่ตกทอดกันมาถึงปัจจุบันก็มีบางอย่างที่คนเรานิยมทำและพร้อมจะเชื่อถึงแม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์ใด ๆ ว่าทำแล้วจะได้ผลจริง
ความเชื่อเรื่องโชคลางหากจำแนกอย่างหลัก ๆ จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ โชคดีและโชคร้าย
ซึ่งในเรื่องของโชคดีนั้นมีอยู่หลากหลายรูปแบบตั้งแต่อดีตกาลมีทั้งเรื่อง วัตถุมงคล สถานที่เสริมพลัง วันฤกษ์งามยามดี หรือกระทั่งชื่อต้นที่ใช้อยู่ในแต่ละคน
ในทางกลับกันเรื่องของความโชคร้ายก็มีไม่น้อยไปกว่ากันทั้งเรื่องวัตถุต้องสาป สถานที่อับโชค วันทำบุญไม่ขึ้น หรือชื่อที่เป็นกาลกิณี
แต่ในความเชื่อเหล่านี้มนุษย์เรากลับเน้นให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตัวแล้วได้ผลโชคดีมากกว่า เพราะไม่ว่าจะรวยล้นฟ้าหรือเกิดมาพร้อมฐานะที่มีชื่อเสียงวงศ์ตระกูลติดตัวมนุษย์เราก็ยังอยากจะไขว่คว้าสิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ
โดยจะเห็นได้จากหลาย ๆ มุมในทางที่สังคมปฏิบัติ เช่น การพกเครื่องรางติดตัว การกราบไหว้ขอพร การทำบุญในวันเกิด หรือการปลูกพันธ์ไม้มงคล เป็นต้น
และสาเหตุหลักที่ความเชื่อเรื่องโชคร้ายไม่เป็นที่นิยมเพราะส่วนใหญ่แล้วความเชื่อดังกล่าวมักมาในรูปแบบข้อห้ามปรามเสียส่วนมาก ซึ่งในการกระบวนการรับรู้ของคนเราพอได้ยินอะไรที่เป็นข้อห้ามหรือไม่ควรทำก็พร้อมจะลองของอยากพิสูจน์ดูว่าเป็นแค่เรื่องงมงายไร้สาระเท่านั้น
ดั่งจะเห็นได้จาก การอย่าตัดเล็บตอนกลางคืน การฮัมเพลงในห้องน้ำ การท้าทายอยากเห็นหรืออยากเจอสิ่งลี้ลับต่าง ๆ นานา
ถึงความเชื่อเรื่องโชคดีจะทำให้คนประสบสุขและโชคร้ายทำให้คนประสบเคราะห์ แต่ควรรำลึกไว้เสมอว่ามนุษย์เราไม่ได้เกิดมาเพราะใช้ชีวิตขึ้นอยู่กับดวง หากเกิดมาเพราะมีดวงคอยรับใช้ชีวิตต่างหาก ฉะนั้นอย่ายึดติดให้ความเชื่อกับมันมากเกินไป ท้ายที่สุดไม่ว่าจะโชคดีหรือโชคร้ายขนาดไหนเมื่อถึงคราวตายโชคก็ไม่ช่วยอะไรเลย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา