20 ส.ค. 2020 เวลา 03:10
วัยรุ่นไม่ฟัง
5
ไม่รู้ว่าเด็กวัยรุ่นจะยอมฟังผู้ใหญ่ได้อย่างที่ผู้ใหญ่อยากจะสอนได้อย่างไรนะครับ ผมเองก็อยู่ในช่วงทำความเข้าใจ ลองผิดลองถูกกับลูกสาววัยรุ่นตัวเองอยู่ ทำให้เขาฟังนี่ไม่แน่ใจ. แต่พอรู้ว่าอะไรที่ทำแล้วเด็กจะไม่ฟัง ไม่สนใจ และต่อต้านจากประสบการณ์คุณพ่อวัยรุ่น สิ่งที่เขาไม่ฟังแน่ๆคือ
2
1. บทความที่ผู้ใหญ่อ่านแล้วเห็นว่าดีแล้วพยายามยัดเยียดให้เด็กอ่านเพื่อที่จะได้เห็นเหมือนกัน. อ่านสิอันนี้ดีนะ ช่วยกันส่งต่อให้เด็กๆหน่อยจะได้เข้าใจ บทความที่ตั้งสมมติฐานว่าเขาไม่เข้าใจแล้วมีเจตนาที่อยากให้เขาเข้าใจ ส่งให้เขาเขาก็ไม่อยากอ่าน บังคับก็อ่านแค่ผ่านๆ เพราะบทความที่ผู้ใหญ่ชอบมักเขียนในบริบทที่เด็กไม่ชอบ การพูดคุย ถ้าเขายอมเปิดใจคุยด้วยจะมีประโยชน์กว่ามากในประเด็นเดียวกัน ผมเองก็มีนิสัยแบบนี้ มีอะไรดีๆก็อยากให้ลูกอ่านแล้วก็สังเกตว่าเขาไม่อยากอ่านถ้าไม่มีเหตุผลหรือแรงกระตุ้นอะไรให้เขาสนใจ
2. การสอนโดยยกตัวอย่างอดีตไกลๆ ซักสิบปีก่อนก็ไกลไปละครับ เขานึกภาพไม่ออก ไม่มีประสบการณ์ร่วม ฟังไปก็ไม่เก็ท เอาจริงๆไม่ต้องสิบปี ห้าปีก็งงๆแล้วว่าพ่อพูดถึงอะไร พ่อพูดไปอินไปในขณะที่เขาไม่ได้อินด้วยเลย
3. การเอาค่านิยมของตัวเองมาตั้งธงไว้ว่าถูกก่อนแล้วเด็กผิดตั้งแต่แรก เช่นทำไมต้องติดมือถือ รู้มั้ยว่าติดมือถือไม่ดีนะ แต่ในมุมเด็ก เขาคิดว่าเขาเกิดมามือถือก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว เหมือนรุ่นใหญ่เกิดมาก็มีไฟฟ้า ไม่เคยเห็นบอกว่ามีไฟฟ้าไม่ดี พอตั้งธงว่าเด็กผิดผู้ใหญ่ถูก เขาก็ปิดการรับฟังตั้งแต่แรก
4. การที่เริ่มด้วยการเทศนาหรือพูดสั่งสอนก่อนโดยไม่รับฟัง ไม่ให้เขาพูดก่อนบ้าง เด็กก็จะไม่อยากเล่าอะไรเพราะโดนเบรคตลอด ตั้งต้นคือผู้ใหญ่ถูกเสมอ เด็กก็จะรู้สึกว่าถูกดูถูกทางความคิด ก็จะนิ่งเงียบ แล้วต่อต้านลึกๆในใจ
5. การที่ไม่สนใจอะไรที่เขาสนใจเลย (เช่นวงเกาหลี แฟชั่น เซเลป เพลง ฯลฯ) เอาแต่สิ่งที่ตัวเองชอบในการพูดคุยหรือยกตัวอย่างเวลาคุยกับเขา ก็จะทำให้คุยกันคนละภาษา สิ่งที่อยู่ในหัวเรากับเขานั้นคนละเรื่องกัน แม้แต่คำเดียวกันอย่าง BTS เรายังนึกถึงรถไฟฟ้าแต่เขานึกถึงวงเกาหลีเลย ไม่พูดถึงบริบทอื่นๆที่ต่างกันตามวัยของตัว เด็กวัยรุ่นเกิดมาพร้อมเกมส์ออนไลน์ที่ทุกคนเท่ากัน มีกติกาที่ยอมรับกัน ไม่ได้มีระบบอาวุโส ระบบอภิสิทธิ์ แค่บริบทนี้อย่างเดียวก็ต่างกับรุ่นพ่ออย่างผมเยอะมากแล้ว
6. การใช้ความเป็น “ผู้ใหญ่” ในการอาบน้ำร้อนมาก่อน เป็นตัวข่มและดูถูกความเป็นเด็ก ซึ่งในมุมของเขานั้น โลกมันเปลี่ยนไปเยอะขนาดนี้ วัฒนธรรมอินเตอร์เนทที่เปลี่ยนโลกเดิมไปมาก น้ำร้อนเดิมก็ใช้ไม่ได้ซะเยอะแล้ว การที่ให้ความเคารพในความใหม่ ให้เกียรติโลกของเขาบ้าง ฟังในสิ่งที่เขาอยากบอก ยอมรับว่าหลายอย่างในยุคเขาก็มีดี บทสนทนาถึงจะเกิดได้ ความคิดแบบที่สมัยก่อนดีกว่าสมัยนี้ พูดไปก็ไม่มีเด็กคนไหนอยากฟัง ตอนที่เราเป็นวัยรุ่นเราก็ยังไม่ชอบเลย
ถ้าเราคุยกับวัยรุ่นไม่ได้เลย แล้วเขาก็ไม่อยากคุยกับเรา เขาก็มีทางเดียวคือไปคุยกับเพื่อนๆในวัยเดียวกันหรือคนที่พร้อมจะรับฟังเขา จะผิดจะถูกเราก็จะไม่มีทางแทรกอะไรได้ ... แล้วโลกก็จะห่างกันไปทุกที แทนที่จะเริ่มจากว่าจะสอนอะไร น่าจะเริ่มจากตั้งคำถามกับตัวเองก่อนด้วยความเมตตาเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยๆคิดว่าทำไมเขาถึงไม่ฟัง แล้วทำอย่างไรเขาถึงจะฟังมากกว่า แล้วอย่าโมโหถ้าเขาคิดไม่เหมือนเรา ยิ่งโมโหก็จะยิ่งห่าง
…เพราะต่อให้ชนะไปวันนี้ก็แพ้วันหน้าอยู่ดีนะครับ
(บทความนี้ผมขอให้วัยรุ่นที่บ้าน approve แล้วว่าผ่านและอ่านรู้เรื่องครับ )
โฆษณา