25 ส.ค. 2020 เวลา 00:13 • ปรัชญา
วิธีเอาผิดของคนโบราณ
เห็นข่าวซื้อเรือดำน้ำแล้วผมนึกถึง Hammurabi กษัตริย์แห่งกรุงบาบิโลนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เขียนกฎหมายฉบับแรกของโลก
นี่คือข้อความตอนหนึ่งของ Code of Hammurabi ซึ่งมีอายุกว่า 3,800 ปี
“ถ้าบ้านที่สร้างไว้ถล่มลงมาจนทำให้เจ้าของบ้านเสียชีวิต นายช่างที่สร้างบ้านหลังนั้นจะต้องโทษประหาร
ถ้าบ้านที่สร้างไว้ถล่มลงมาจนทำให้ลูกชายเจ้าของบ้านเสียชีวิต ลูกชายคนใดคนหนึ่งนายช่างจะต้องโทษประหาร
ถ้าบ้านที่สร้างไว้ถล่มลงมาจนทำให้ทาสในบ้านเสียชีวิต นายช่างจะต้องชดใช้ด้วยทาสที่มีมูลค่าเท่ากัน”
การเขียนกฎหมายไว้อย่างนี้ ก็เพื่อให้นายช่างมี skin in the game หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับงานที่เขาสร้างเอาไว้
สมัยกรุงโรมเฟื่องฟูก็มีกฎบังคับให้วิศวกรที่คุมการสร้างสะพานต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้สะพานเป็นระยะเวลาหนึ่ง
และในกาลต่อมา ในประเทศอังกฤษก็มีกฎหมายให้วิศวกรที่สร้างสะพานนั้นต้องพาตัวเองและครอบครัวมาใช้ชีวิตอยู่ใต้สะพานด้วยเช่นกัน
นี่ไม่ใช่การลงโทษย้อนหลัง แต่เป็นการป้องกันล่วงหน้า เพราะเมื่อรู้ตัวว่าต้องพาลูกเมียมาอยู่ใต้สะพานที่เขาสร้าง วิศวกรคนนั้นย่อมต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ
ไม่ว่าจะเป็นชาวบาบิโลน ชาวโรมัน หรือชาวอังกฤษโบราณ ล้วนออกกฎหมายที่ผูกมัดให้แต่ละคนรับผิดชอบในงานของเขาอย่างถึงที่สุด
ในหนังเรื่อง Farenheit 9/11 หลังจากผู้ก่อการร้ายนำเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรด จอร์จบุชก็สั่งให้อเมริกาบุกอิรักทั้งๆ ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากนานาชาติ
Michael Moore ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ จึงไปดักรอหน้ารัฐสภาแล้วถามบรรดาส.ส.ที่ยกมือสนับสนุนให้อเมริกาบุกอิรักว่ามีใครสนใจจะส่งลูกชายตัวเองไปร่วมรบที่อิรักด้วยมั้ย ปรากฎว่าไม่มีใครตอบรับแม้แต่คนเดียว
ปัญหาของการเมืองและเศรษฐกิจปัจจุบันส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะ “คนที่มีอำนาจตัดสินใจ” นั้นไม่ต้องรับผิดชอบกับผลกระทบที่จะตามมาเท่าที่ควร พอพวกเขาไม่มี skin in the game จึงตัดสินใจโดยเอาผลประโยชน์ของตัวเองหรือพวกพ้องเป็นที่ตั้ง เพราะรู้ว่าแม้จะผิดพลาดไป อย่างมากเขาก็แค่อดได้โบนัสหรือโดนปลด แต่มันเทียบไม่ได้เลยกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับส่วนรวม
ไม่ได้จะเรียกร้องให้เอากฎหมายของ Hammurabi กลับมาใช้ใหม่ แค่จะชวนคิดว่ามีตรงไหนบ้างที่เราจะปรับกฎกติกาเพื่อให้คนทำงานคิดถึงคนอื่นมากเท่ากับที่คิดถึงตัวเองครับ
—–
ขอบคุณเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ Antifragile by Nicolas Nassim Taleb
โฆษณา