3 ก.ย. 2020 เวลา 11:19 • ข่าว
แจก3พันกระตุ้นใช้จ่าย จ้างงานใหม่2.6แสนคน
บิ๊กตู่" นั่งหัวโต๊ะ ศบศ. ไฟเขียว 4.5 หมื่นล้านกระตุ้นใช้จ่าย ผุดโครงการ "คนละครึ่ง" แจก 3 พัน คล้ายชิมช้อปใช้ เน้นร้านค้าย่อย-หาบเร่-แผงลอย ตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค. ทุ่มอีก 2.3 หมื่นล้านจ้างงาน นศ.จบใหม่ 2.6 แสนคน
ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 กันยายน เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบศ.) โดยมีรัฐมนตรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง รวมถึงนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะเป็นหนึ่งในแคนดิเดตที่จะมาทำหน้าที่ รมว.การคลังคนใหม่แทนนายปรีดี ดาวฉาย อดีต รมว.การคลังที่ได้ยื่นใบลาออกไปก่อนหน้านี้ เข้าร่วมด้วย
ต่อมาเวลา 11.00 น. พล.อ.ประยุทธ์เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า มีการพิจารณาหลายเรื่องที่สำคัญ เรื่องของมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือประชาชน มีการพูดถึงใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทที่อยู่ในแผนฟื้นฟู ซึ่งระยะแรกใช้ไปเกือบแสนล้านบาทแล้ว และเราจะใช้อย่างไรต่อไป ต้องไปพูดคุยกัน และยังได้หารือถึงการช่วยเหลือซอฟต์โลน ช่วยเหลือภาคธุรกิจ เอสเอ็มอีขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และพูดถึงการจ้างงาน ทั้งนิสิตนักศึกษาที่จะจบในปีนี้ รวมถึงคนที่ตกงานอยู่เดิมของปี 62 ปี 63 ซึ่งนอกจากงบในการจ้างงานของกระทรวงแรงงานแล้ว ยังมีงบจ้างงานของกระทรวงอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่มีรายได้น้อยก็ตาม งบตรงนี้จะลงไปถึงท้องถิ่นและในพื้นที่ด้วย ขอให้เข้าใจว่าทุกอย่างที่รัฐบาลใช้งบ มีการใช้อย่างระมัดระวัง และมีมาตรการที่เหมาะสม
สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยว วันนี้เราเน้นการท่องเที่ยวในประเทศ จะเห็นว่าเศรษฐกิจท่องเที่ยวในประเทศมีมากขึ้น จะเห็นได้ว่าโรงแรมต่างๆ มีการจองกันมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทดแทนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่รัฐบาลยืนยันว่าเพียงแค่ศึกษาไว้ก่อนเท่านั้น ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่ตนได้นำเสนอโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน และส่งเรื่องดังกล่าวให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปดำเนินการต่อ เพราะโครงการนี้ต้องใช้งบประมาณจากเงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ 400,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อ? สศช.พิจารณาดำเนินการเรื่องดังกล่าวเสร็จแล้ว จะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.ต่อไป
นายสุชาติกล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงเป้าต่อกรณีการว่างงานของผู้ที่เพิ่งจบการศึกษา ประกอบด้วย 1.มาตรการจ่ายเงินอุดหนุนสมทบเงินเดือนค่าจ้างแรงงานใหม่ให้กับลูกจ้างที่เพิ่งจบการศึกษา ด้วยการโอนเงินตรงเข้าบัญชีของลูกจ้างในธนาคารกรุงไทย ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบ 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างแต่ละเดือนตามวุฒิการศึกษา ซึ่งต้องไม่เกิน 7,500 บาทต่อราย โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563-30 ก.ย.2564 กรอบวงเงินงบประมาณที่จะใช้ 23,476.4 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 260,000 คน
2.การจัดงาน “ไทยแลนด์ จ๊อบ เอ็กซ์โป (Thailand Job Expo 2020)” ที่จะรวมตำแหน่งงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประมาณ 1 ล้านตำแหน่ง เพื่อจับคู่ตำแหน่งงานกับตัวบุคคล และ 3.การใช้แพลตฟอร์มที่ชื่อ “ไทยมีงานทำ” ซึ่งกระทรวงแรงงานจะนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลใหญ่ (บิ๊กดาต้า) สำหรับการจัดงาน “ไทยแลนด์ จ๊อบ เอ็กซ์โป” ซึ่งได้เชิญปลัดกระทรวงทุกกระทรวงมาประชุมที่กระทรวงแรงงานในช่วงบ่ายวันที่ 3 ก.ย.นี้ เพื่อให้นำฐานข้อมูลตัวเลขการจ้างงานของปี 2564 ของแต่ละกระทรวงมาพิจารณาว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ส่วนเรื่องสถานที่จัดงานเรากำลังพิจารณาอยู่ โดยจะจัดช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช. เปิดเผยว่า ศบศ.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท โดยรัฐจะให้เงินสนับสนุนการใช้จ่ายคนละไม่เกิน 3,000 บาท เพื่อเอาไปใช้จ่ายซื้อของในร้านค้า หาบเร่ แผงลอยที่เป็นรายย่อย ซึ่งผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมาลงทะเบียนรับสิทธิ์ในลักษณะเดียวกับชิมช้อปใช้ คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มภายในเดือน ต.ค.นี้ โดยมาตรการนี้มีชื่อว่า โครงการคนละครึ่ง ดำเนินการผ่าน www.คนละครึ่ง.com กลุ่มเป้าหมายคือ ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป จำกัดไว้ 15 ล้านคน ส่วนกลุ่มร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการจะมุ่งเน้นไปที่ร้านค้ารายย่อยทั่วไปครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการหาบเร่ แผงลอย ประมาณ 80,000 ร้านค้า ครอบคลุมอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้า ยกเว้นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และบุหรี่ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค.63
นายดนุชากล่าวว่า สิทธิประโยชน์ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ ต้องจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ของธนาคารกรุงไทย โดยรัฐบาลจะช่วยค่าใช้จ่าย 50% ของเงินที่ใช้ซื้อสินค้า เบื้องต้นจำกัดไว้ว่า จะให้ใช้จ่ายได้ไม่เกินวันละ 100-250 บาท ภายใต้วงเงินที่ได้รับคนละไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งวงเงินที่ประชาชนจ่ายไปให้ร้านค้านั้นจะจ่ายเพียง 50% ส่วนที่เหลือ 50% ร้านค้าจะได้รับจากรัฐในวันถัดไป คาดว่าจะมีเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 9 หมื่นล้านบาท กระตุ้นจีดีพีได้ 0.25% ขั้นตอนจากนี้ กระทรวงการคลังจะไปจัดทำรายละเอียดเสนอ ศบศ.ครั้งหน้า เพื่อให้เริ่มโครงการได้ภายในเดือน ต.ค.นี้
รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใน 3 กลุ่ม คือ ปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 260,000 อัตรา ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบเงินค่าจ้าง 50% ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา คือ ปริญญาตรี ไม่เกิน 7,500 บาท, ปวส.ไม่เกิน 5,750 บาท และ ปวช.ไม่เกิน 4,700 บาท มีระยะเวลาการจ้างงานทั้งสิ้น 12 เดือน ตั้งแต่ 1 ต.ค.63-30 ก.ย.64 โดยจะเสนอ ครม.ในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องอยู่ในระบบประกันสังคม มีการยืนยันตัวตนผ่านกระทรวงแรงงาน และต้องมีเงื่อนไขเลิกจ้างลูกจ้างเดิมไม่เกินกว่า 15% ภายในระยะเวลา 1 ปี (กรณีที่ลูกจ้างลาออกในระหว่างโครงการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถหาลูกจ้างใหม่ทดแทนได้) ขณะที่ลูกจ้างที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสัญชาติไทย อายุไม่เกิน 25 ปี หรืออายุเกินกว่า 25 ปี ซึ่งสำเร็จการศึกษาในปี 62 หรือปี 63
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เพิ่มสิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ให้ผู้ลงทะเบียน 3 สิทธิ คือ เพิ่มส่วนลดค่าที่พัก 40% จำนวน 10 คืนต่อคน, เพิ่มคูปองอาหารต่อการท่องเที่ยว โดยหากท่องเที่ยวในวันจันทร์-พฤหัสบดี จะอุดหนุน 900 บาท ขณะที่วันศุกร์-อาทิตย์ จะอุดหนุน 600 บาท และให้เงินคืนค่าตั๋วเครื่องบิน 2,000 บาทต่อที่นั่ง เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ย.63 และยังเห็นชอบให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักผ่อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อลงทะเบียนและใช้สิทธิ์ในแพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกัน ทั้งนี้นายกฯ ยังสั่งให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปหาแนวทางให้กลุ่มคนสูงวัย หรือคนที่มีกำลังซื้อสูงสามารถเข้าถึงโครงการเราเที่ยวด้วยกันสะดวกมากขึ้น เพราะโครงการนี้เดิมใช้งานในระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีแอปเป๋าตัง อาจทำให้บางกลุ่มเข้ามาไม่ได้ เพราะล่าสุดมีการเข้ามาใช้สิทธิ์เพียง 7 แสนสิทธิ์เท่านั้น จากที่มี 5 ล้านสิทธิ์ ดังนั้น อาจมีมาตรการเพิ่มเติมทำเป็นคูปอง หรือบัตรสมาร์ทการ์ดขึ้นมาให้ขยายกลุ่มเป้าหมายให้สะดวกมากขึ้น.
โฆษณา