16 ก.ย. 2020 เวลา 03:34 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รายการ Vaccine #เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด
ตอนที่ 21 โลกร้อน ภัยของมนุษยชาติที่คนบางกลุ่มเชื่อว่าเป็นข่าวปลอม
#เข้าใจเรื่องโลกร้อน
ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ไล่เรียงตั้งแต่ รูโหว่ของชั้นโอโซน ขยะพลาสติกที่ออกสู่แหล่งธรรมชาติ ฝุ่น PM 2.5 จนถึง ภาวะโลกร้อน
ภาวะโลกร้อน (Global warming) เป็นข้อสรุปที่ได้จากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก โดยงานวิจัยเหล่านี้ล้วนชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าโลกร้อนขึ้นจริงๆ แต่กลับมีคนจำนวนมากเชื่อว่าภาวะโลกร้อนเป็นข่าวปลอม โดยบางส่วนเชื่อว่าโลกไม่ได้ร้อนขึ้น , บางส่วนเชื่อว่าโลกร้อนขึ้นจริง แต่ไม่ได้เป็นผลมาจากมนุษย์ และไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง
รายการในตอนนี้จะเล่าให้ทุกท่านฟังว่าอะไรทำให้นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องจริง
ภาวะโลกร้อน (Global warming) คือ สภาวะที่อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกเราเพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่ยุคที่อุตสาหกรรมต่างๆเฟื่องฟูเมื่อร้อยกว่าปีก่อน มีการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นทำให้เกิดแก๊สเรือนกระจกออกมา ความร้อนจากดวงอาทิตย์จึงถูกกักไว้ในชั้นบรรยากาศโลกมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ในชั้นบรรยากาศของโลกเรามีแก๊สเรือนกระจกอยู่แล้ว ได้แก่ ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน Nitrous oxide ฯลฯ แก๊สเหล่านี้จะกักความร้อนจากแสงอาทิตย์ไว้ไม่ให้ออกจากโลกของเราในลักษณะเดียวกับเรือนกระจกที่โรงเรือนหรือศูนย์พฤกษศาสตร์ใช้ในการทำให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนอุ่นกว่าด้านนอก
เมื่อโลกร้อนขึ้น ย่อมส่งผลให้อุณหภูมิน้ำมหาสมุทรเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ การละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในดินแดนน้ำแข็งเหล่านั้นโดยตรง
แม้ว่าเมืองริมทะเลหรือเกาะต่างๆ จะยังไม่ถึงกับจมหายไปอย่างในภาพยนตร์หายนะต่างๆ แต่ในระยะยาวนับว่าน่ากังวล
นอกจากนี้ มันยังส่งผลให้สภาพภูมิอากาศของโลกยังมีความแปรปรวน คลื่นความร้อน (Heat wave) มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เกิดสภาพภัยแล้ง พายุเฮอริเคนรุนแรง ยาวนาน และเกิดบ่อยขึ้น ผลอีกอย่างที่หลายคนไม่ทราบคือ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศจะถูกดูดซับไว้โดยมหาสมุทร ทำให้มหาสมุทรมีความเป็นกรดมากขึ้นจนส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งปะการังที่เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่นๆปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ocean acidification
ผลลัพธ์เหล่านี้ส่งผลกระทบไม่เพียงกับมนุษย์ แต่รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆในระบบนิเวศด้วย
ความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนถูกตรวจวัดได้โดยสถานีตรวจจับทั่วโลก ชี้ว่ามันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น มาตลอดในช่วง 60 ปีก่อน
ช่วงเวลาที่เก่าแก่กว่านั้น นักวิทยาศาสตร์ใช้การเจาะชั้นน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติากาแล้วดึงขึ้นมาเป็นแท่งทรงกระบอกยาว แต่ละชั้นของแกนน้ำแข็งเปรียบเสมือน “เครื่องบันทึกสภาพแวดล้อมในอดีต” เพราะเมื่อนักวิทยาศาสตร์ศึกษาอากาศที่ถูกกักเก็บไว้ในน้ำแข็งเก่าแก่ที่มีอายุหลักหลายแสนปีก่อนก็พบแนวโน้มในลักษณะเดียวกัน
นั่นคือ แก๊สเรือนกระจกโดยเฉลี่ยมีการเพิ่มขึ้นสูงมากในช่วง 200 ปีก่อน และ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกทุกวันนี้เพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่มากกว่าโลกยุคโบราณมาก
ยังมีหลักฐานอื่นๆที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง
สามารถฟังต่อได้ทางนี้ครับ
.................................................................
[ช่องทางรับฟัง]
anchor
spotify
youtube
หรือค้นคำว่า Vaccine ในแอปพลิเคชัน podcast
.......................................................
สนับสนุนรายการโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
โฆษณา