23 ก.ย. 2020 เวลา 02:45 • การศึกษา
#ภาษีรอบตัวเรา
EP8: เทคนิคการวางแผนภาษี เมื่อคู่สมรสรายได้น้อย
สำหรับคู่สมรสที่มีรายได้ทั้งคู่ คงคุ้นเคยกับคำแนะนำที่ว่า เวลายื่นภาษี ควรใช้วิธียื่นแยกจะดีกว่า เพราะทำให้เสียภาษีน้อยกว่าการยื่นรวมกัน ซึ่งหากเรามาลองคำนวณกันดูแล้ว หากรายได้ของคู่สามีภริยาใกล้เคียงกัน การยื่นแยกก็จะประหยัดภาษีกว่าการยื่นรวม
แต่หากรายได้ของทั้งคู่ห่างกันมาก แนวคิดดังกล่าวอาจไม่ถูกต้องเสมอไป วิธีที่ดีที่สุดคือ ให้คำนวณดูทั้ง 2 แบบ ว่าระหว่างการแยกยื่นภาษี กับการยื่นรวมภาษี แบบไหนประหยัดภาษีมากกว่ากัน ค่อยเลือกวิธีนั้น ซึ่งเดี๋ยวนี้การคำนวณเปรียบเทียบวิธีการยื่นภาษี ก็ง่ายนิดเดียว เพราะสามารถลองคีย์ข้อมูลผ่านเว็บของสรรพากร (http://www.rd.go.th) ได้เลย ไม่ต้องมากรอกข้อมูลใส่กระดาษแล้วกดเครื่องคิดเลขเปรียบเทียบกันเหมือนเมื่อก่อน
แต่อีกประเด็นที่ต้องระวัง และเป็นที่เข้าใจผิดของหลาย ๆ คน คือเรื่องรายได้ของคู่สมรส
เช่น กรณีที่มีคนทำงานหลักเพียงคนเดียว แต่ปรากฏว่าคู่สมรสมีรายได้น้อยมาก ๆ (ย้ำว่าน้อยมาก ๆ) คนส่วนใหญ่จะคิดว่า ไม่จำเป็นต้องยื่นแสดงรายได้ก็ได้ แถมยังเอาคู่สมรสมาใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีของอีกฝ่ายด้วยต่างหาก ซึ่งหากถูกเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจสอบพบภายหลัง ก็จะต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มโดยใช่เหตุ
จากเคสของครอบครัวหนึ่ง ฝ่ายชายทำงานเป็น Freelance รับจ้างทั่วไป มีรายได้ประมาณเดือนละ 100,000 บาท โดยแต่งงานจดทะเบียนกับคู่สมรส และมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ภรรยารับหน้าที่ในการคอยดูแลลูกเป็นหลัก แต่เนื่องจากเป็นคนที่ชอบศึกษาเรื่องการลงทุน จึงได้นำเงินส่วนหนึ่งที่สามีให้ในแต่ละเดือน ไปซื้อกองทุนรวมเก็บไว้ เพื่อไว้เป็นเงินเกษียณในอนาคต โดยปีที่ผ่านมา ได้รับเงินปันผล 20,000 บาท เพื่อนำมาใช้จ่ายภายในครอบครัว
เมื่อถึงเวลาที่ต้องยื่นภาษี หากครอบครัวนี้ไม่ทราบว่า เงินได้จากเงินปันผล ถือเป็นเงินได้ประเภท 40(4)(ข) จึงเข้าใจผิดว่าคู่สมรสไม่มีเงินได้ จึงได้ยื่นภาษีตามปกติ และนำเอาคู่สมรสมาหักลดหย่อนด้วย ซึ่งในกรณีนี้ หากเจ้าหน้าที่สรรพากรมาตรวจพบในภายหลัง เขาจะต้องคำนวณภาษีใหม่ และต้องจ่ายคืนภาษี พร้อมเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มอีกด้วย
แต่ถ้าฝ่ายชายมีความรู้ความเข้าใจว่า เงินปันผลที่ได้ ถือเป็นรายได้ของภรรยาด้วย แต่ทำการยื่นแยกภาษี (เพราะมีคนบอกว่า หากมีรายได้ทั้งคู่ ให้ยื่นแยกภาษีจะประหยัดกว่า) หลังจากคำนวณภาษีแล้ว เขาจะเสียภาษีเป็นเงิน 117,500 บาท รายละเอียดการคำนวณสามารถแสดงได้ ดังนี้
จะสังเกตว่า รายได้ของฝั่งคู่สมรสน้อยมาก แต่มีค่าลดหย่อนสูงกว่ารายได้เสียอีก
ดังนั้น เคสนี้ หากเลือกใช้วิธียื่นรวมภาษี จะทำให้เขาเสียภาษีเพียง 103,000 บาทเท่านั้น รายละเอียดการคำนวณสามารถแสดงได้ ดังนี้
หรือพูดง่ายๆ คือ หากยื่นรวม จะประหยัดภาษีกว่าการแยกยื่นภาษี ถึง 117,500 – 103,000 = 14,500 บาทเลยทีเดียว
(ในบทความนี้ จะไม่พูดถึงภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพราะต้องการแสดงการเปรียบเทียบให้เห็นถึงส่วนต่างของภาษี จากการยื่นภาษีต่างวิธีกันเป็นหลัก)
จะเห็นว่า ความรู้เรื่องภาษีเป็นเรื่องสำคัญ หากเราเข้าใจในเรื่องของประเภทของเงินได้ทั้ง 8 ประเภท และวิธีการยื่นภาษีแต่ละวิธี เราสามารถที่จะวางแผนเพื่อให้ประหยัดภาษีได้สูงสุด แถมยังมีเงินเหลือไปต่อยอดความมั่งคั่งได้อีกด้วย
มานพ รัตนะ, FChFP
โฆษณา