19 ต.ค. 2020 เวลา 05:27 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รายการ Vaccine #เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด
ตอนที่ 25 ทำไมเรื่องเล่าขาน และ ประสบการณ์เหลือเชื่อจึงไม่ใช่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์
เวลามีคนเล่าประสบการณ์แปลกๆ (ถูกมนุษย์ต่างดาวลักพาตัวไป หรือพบเห็นภูติผี ฯลฯ) ทำไมนักวิทยาศาสตร์จึงไม่นับว่านี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ต่างดาวหรือภูติผีมีอยู่จริง?
วันนี้ผมจะเล่าให้ฟังว่า ทำไมเรื่องเล่าขานจากประสบการณ์ในลักษณะนี้จึงไม่ใช่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ผ่านกรณีศึกษาต่างๆ เช่น ความทรงจำเท็จ (false memory) ครับ
........................................................
สมองของมนุษย์นั้นเป็นอวัยวะที่มหัศจรรย์และสลับซับซ้อนมาก
หนึ่งในหัวข้อที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงสนใจศึกษาเกี่ยวกับสมองมาจนทุกวันนี้คือ ความทรงจำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์เราเกิดการเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับชีวิต และพัฒนาบุคลภาพตัวตนขึ้นมา หลายคนคิดว่าสมองเป็นแค่ระบบที่ใช้บันทึกข้อมูล แล้วดึงข้อมูลนั้นๆออกมาใช้งานได้ แต่จริงๆมันมีความซับซ้อนมากกว่านั้น
ในปี ค.ศ. 1974 นักวิจัยชื่อ Elizabeth Loftus ทำการทดลองทางจิตวิทยาที่โด่งดังมาก
อาสาสมัครร่วมการทดลองจำนวนหนึ่งได้ชมวีดีโออุบัติเหตุของรถยนต์ หลังจากนั้นพวกเขาถูกถามว่ารถที่ชนกันนั้นมีความเร็วประมาณเท่าไหร่ ?
ฟังดูเป็นการทดลองง่ายๆ แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าสนใจมาก คำว่า "ชน" ในภาษาอังกฤษนั้นมีหลายคำ ซึ่งการเลือกใช้คำ ส่งผลต่อความเร็วที่ประเมินได้ ตอนถามถ้าใช้คำว่า smashed จะส่งผลให้ความเร็วรถที่ประเมินได้สูงกว่าคำอื่นๆอย่าง collided, bumped หรือ hit
นอกจากนี้ เมื่อทิ้งช่วงเวลาไว้ 1 สัปดาห์ แล้วนำอาสาสมัครเหล่านั้นมาถามว่า "เห็นเศษกระจกแตกหรือไม่?" ผลปรากฏว่าอาสาสมัครที่ก่อนหน้านี้ถูกถามด้วยคำว่า smashed มีแนวโน้มจะตอบว่า "เห็น" มากกว่าคำอื่นๆ ทั้งที่จริงๆในวีดีโอนั้นไม่มีกระจกแตกให้เห็นเลย
การทดลองนี้และการทดลองอื่นๆของเธอแสดงให้เห็นว่า รูปแบบคำถามถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ สามารถส่งผลต่อความทรงจำจนเกิดเป็นความทรงจำเท็จ (false memory)ซึ่งส่งผลต่อคำตอบได้
คาร์ล เซแกน สุดยอดนักสื่อสารวิทยาศาสตร์กล่าวไว้ว่า ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์นั้นถูกท้ายทายและประเมินอยู่เสมอด้วยข้อมูลใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น และจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเสมอ แต่ความทรงจำของเรากลับตรงข้าม เพราะมันเหมือนถูกแช่แข็งไว้ โดยไม่ได้รับการท้าทายตรวจสอบ แม้ว่ามันจะมีข้อผิดพลาดหรือถูกแต่งเติมก็ตาม
ฟังเรื่องราวแบบเต็มๆต่อได้จากช่องทางต่างๆดังนี้
.................................................................
[ช่องทางรับฟัง]
anchor
spotify
youtube
หรือค้นคำว่า Vaccine ในแอปพลิเคชัน podcast
.......................................................
สนับสนุนรายการโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดูน้อยลง
โฆษณา