30 ต.ค. 2020 เวลา 05:02 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รายการ Vaccine #เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด
ตอนที่ 28 วิทยาศาสตร์ของเรื่องบังเอิญ
ความบังเอิญ (coincidence) หมายถึงเหตุการณ์สองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันโดยไม่ได้มีสาเหตุของการเกิดร่วมกัน หลายๆครั้งดูเหมือนเกิดขึ้นได้ยาก ทำให้เกิดความรู้สึกทึ่ง รู้สึกพิเศษ และน่าแปลกใจ ซึ่งความรู้สึกน่าทึ่งนี้เอง อาจกระตุ้นให้ผู้ประสบเหตุบังเอิญเกิดความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือ เชื่อมโยงเหตุการณ์ทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น
ตัวอย่างเรื่องบังเอิญที่ทุกท่านน่าจะเคยประสบ คือ เมื่อคิดถึงใครสักคน แล้วคนๆนั้นโทรมาพอดี หรือ ตอนรถติด แล้วนึกอยากให้ไฟแดงเปลี่ยนเป็นเขียว แล้วสัญญาณไฟก็เปลี่ยนพอดี นัดกับเพื่อนฝูง แล้วทุกคนใส่เสื้อสีเดียวกันหมด
วันนี้เรามาคุยเรื่องความบังเอิญในมุมมองของคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้เข้าใจมันและเป็นประโยชน์ต่อการคิดเรื่องอื่นๆมากขึ้นครับ
..........................................................
Clustering illusion คือ การมองเห็นรูปแบบหรือกลุ่มก้อน หรือ แนวโน้ม บางอย่าง ปรากฏขึ้นจากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก ทั้งที่จริงๆแล้วมันเกิดขึ้นเป็นแบบสุ่ม เช่น
- การสังเกตราคาหุ้นในช่วงสั้นๆแล้วเห็นแนวโน้มหรือ trend บางอย่าง ทั้งที่จริงๆ เมื่อมองในระยะยาวแล้ว ราคาที่ขึ้นลงในช่วงสั้นๆเหล่านั้นใกล้เคียงกับการสุ่มมากกว่า
- โรคไม่ติดต่อบางอย่างปรากฏขึ้นในกลุ่มประชากรขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ใกล้กัน ทำให้เกิดข้อสรุปว่าสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นเป็นเหตุให้เกิดโรค ทั้งที่จริงๆมันอาจเป็นเรื่องบังเอิญ
- การที่นักพนันจำนวนไม่น้อยพยายามมองหารูปแบบจากเกมการพนันและเชื่อว่ามองเห็นรูปแบบนั้นจากผลที่ออกมาในระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวเขาจะเสียเงิน เพราะผลลัพธ์จริงๆเกิดขึ้นแบบสุ่ม
ผลลัพธ์เชิงบวกที่เกิดขึ้นจากวิทยาศาสตร์เทียมนั้น อาจเกิดขึ้นแบบติดๆกันหลายครั้ง ชวนให้คนคิดว่าวิทยาศาสตร์เทียมนั้นเป็นสิ่งที่ใช้งานได้ดีเพราะได้ผลลัพธ์เชิงบวกอย่างต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริงแล้วเราต้องระวังเพราะบางครั้งผลเชิงบวกนั้นอาจเกิดขึ้นเป็นกลุ่มก้อนโดยบังเอิญ และเมื่อมองภาพใหญ่จึงจะพบผลลัพธ์เชิงลบที่เกิดขึ้นมากมาย
นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังการทดลองที่พยายามโอนเอียงผลเข้าข้างตนเอง ด้วยวิธีที่เรียกว่า optional start and stopping หมายถึง การที่ผู้เข้าร่วมการทดลองหรือผู้ทำการทดลองเลือกจุดเริ่มและจุดสิ้นสุดของการทดลองได้ตามใจชอบ ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการทดสอบพลังจิต ในตอนเริ่มต้น ถ้าผลการทำนายออกมาไม่ตรง ก็อาจจะบอกว่าเป็นการวอร์มอัพ หรือ เครื่องยังไม่ติด และเริ่มต้นนับเมื่อทายถูกติดๆกัน จากนั้นเมื่อกลับมาทายผิดก็จะบอกได้ว่าพลังหมดหรือใช้เหตุผลอื่นๆ
ย้อนกลับไปในช่วง ปี ค.ศ. 1920 Alfred Watkins ผู้สนในโบราณคดีสังเกตว่าแหล่งโบราณสถานในประเทศอังกฤษหลายแห่งมีการเรียงตัวเป็นเส้นตรง หลักฐานของเขาชัดเจนตรงไปตรงมา เพราะเมื่อนำตำแหน่งของโบราณสถานเหล่านั้นมาปักลงไปในแผนที่ก็จะพบว่ามันเรียงเป็นเส้นตรงจริงๆ เขาเชื่อว่ามันอาจแสดงถึงเส้นทางการเดินทางของคนยุคโบราณ ต่อมาผู้ที่สนใจงานของเขามีการขยายแนวคิดไปยังเรื่องเหนือธรรมชาติว่าเส้นทางเหล่านี้อาจถูกกำหนดโดยพลังงานบางอย่างจนกลายเป็นเส้นตรงที่เรียงรายอย่างลึกลับ บ้างก็ว่าสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเป็นตัวการที่ทำให้โบราณสถานเหล่านี้เรียงเป็นเส้นตรง
แล้ววิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างไร?
คำตอบคือ ในทางสถิติพบว่าโบราณสถานในประเทศอังกฤษนั้นมีจำนวนมาก จนลากเส้นยังไงก็มีโอกาสผ่านหลายจุดอยู่แล้ว พูดง่ายๆว่า หากเราเปลี่ยนจากโบราณสถานเป็นร้านอาหาร หรือโรงหนัง ก็จะมีโอกาสพบเห็นสถานที่เหล่านี้จำนวนหนึ่งอยู่บนเส้นตรงเดียวกันบ้างอยู่แล้ว
ในทางคณิตศาสตร์มีการศึกษาเรื่องนี้ในหัวข้อ การเรียงตัวของจุดสุ่ม (Alignments of random points) ที่วิเคราะห์โอกาสการเรียงตัวเป็นเส้นตรงของจุดที่กระจายแบบสุ่มเพื่อศึกษาระบบต่างๆในธรรมชาติ
การเรียงตัวเหล่านี้บางครั้งก่อให้เกิดความเชื่อประเภทรหัสลับที่แฝงอยู่ในคัมภีร์ทางศาสนาบางอย่าง โดยมีผู้พบว่าตัวอักษรแรกของบรรทัด เมื่ออ่านในแนวทแยงจะเกิดเป็นคำที่มีความหมายบางอย่างอะไรทำนองนี้ ซึ่งจริงๆมันไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะคัมภีร์เหล่านี้มีความยาวมากทำให้มีโอกาสสูงที่คำน่าสนใจหรือชื่อคนจะปรากฏขึ้นเมื่อตั้งใจมองหา
.................................................................
[ช่องทางรับฟัง]
anchor
spotify
youtube
หรือค้นคำว่า Vaccine ในแอปพลิเคชัน podcast
.......................................................
สนับสนุนรายการโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
โฆษณา