3 พ.ย. 2020 เวลา 13:51 • การศึกษา
ถ้าคู่สัญญาซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ กำหนดค่าปรับสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ผลจะเป็นอย่างไร
ช่วงนี้มีงานเขียนอุทธรณ์ค่าปรับเข้ามาหลายงาน ค้นข้อมูลเยอะพอสมควร วันนี้ จึงอยากชวนคุยเรื่องปัญหาค่าปรับตามสัญญาของรัฐ ว่ามีเกณฑ์อย่างไร และศาลได้วางแนวคำวินิจฉัยเกี่ยวเรื่องนี้ไว้อย่างไร เผื่อเป็นแนวทางสำหรับ #ผู้ประกอบการประมูลงานภาครัฐ
ระเบียกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดค่าปรับในสัญญาของรัฐเอาไว้ดังนี้
1. การทำสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ นอกจากงานจ้างที่ปรึกษา ให้กำหนดค่าปรับ ร้อยละ 0.01 – 0.20 ของราคาพัสดุที่ยังไม่ได้รับมอบ
2. การจ้างที่ต้องการผลสำเร็จของงานทั้งหมดพร้อมกัน ให้กำหนดค่าปรับเป็นรายวันเป็นจำนวนเงินตายตัวในอัตราร้อยละ 0.01 – 0.10 ของราคาค่าจ้าง แต่ต้องไม่ต่ำกว่าวันละ 100 บาท
3. งานก่อสร้างสาธารณูปโภคที่ผลกระทบต่อการจราจร ให้กำหนดค่าปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.25 ของราคางานจ้างนั้น
4. สัญญาจ้างที่ปรึกษา ให้กำหนดค่าปรับเป็นรายวันเป็นจำนวนเงินตายตัวในอัตราร้อยละ 0.01 – 0.10 ของราคาค่าจ้างนั้น
..
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.144/2553 วินิจฉัยว่า
ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ให้บริการสาธารณะ สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างกันเป็นเครื่องมือของฝ่ายปกครองในการดำเนินการเพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะบรรลุผลอันมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง
แม้ว่าหลักการทำสัญญานั้นจะเป็นไปตามหลักกฎหมายแพ่งก็ตาม แต่เมื่อการจัดทำสัญญาทางปกครองดังกล่าวเป็นการจัดทำสัญญาที่เกี่ยวกับการพัสดุ จึงถูกบังคับให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีสถานะเป็นกฎเกณฑ์ของฝ่ายปกครองที่มุ่งให้การจัดซื้อและจัดจ้างในภาครัฐมีความเป็นเอกภาพในการดำเนินการ เปิดเผย โปร่งใส และให้ความเป็นธรรมแก่เอกชนอย่างเท่าเทียมกัน
ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานทางปกครองจึงมีหน้าที่ต้องผูกพันตนต่อระเบียบดังกล่าวอย่างเคร่งครัด (แม้ว่าบางกรณีอาจมีการใช้ดุลพินิจได้) เมื่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 134 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การจ้างซึ่งต้องการผqลสำเร็จของงานทั้งหมดพร้อมกันให้กำหนดค่าปรับเป็นรายวันเป็นจำนวนเงินตายตัวในอัตราร้อยละ 0.01 – 0.10 ของราคางานจ้าง ซึ่งแตกต่างจากอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง (ร้อยละ 0.40) ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่า ผู้ถูกฟ้องคดีสามารถคิดค่าปรับตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกฯ เท่านั้น ค่าปรับที่เกินกว่านั้นศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้คืนแก่ผู้ฟ้องคดี
...
#กฎหมายเพื่อผู้ประกอบการ #ค่าปรับ #สัญญาของรัฐ #บริหารสัญญา #ร่างสัญญา
โฆษณา