7 พ.ย. 2020 เวลา 03:23 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมทฤษฎีการประมูลจึงได้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์(ปี 2020)
(เรียบเรียงโดย สัมโมทิก สวิชญาน)
ในปี ค.ศ. 2020 นี้ Royal Swedish Academy of Sciences ได้มอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ให้แก่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสองท่าน ได้แก่ Paul Milgrom และ Robert Wilson จากผลงานการพัฒนาทฤษฎีการประมูลและสร้างสรรค์รูปแบบการประมูลแบบใหม่
1
คำถามคือ ทฤษฎีการประมูลสำคัญอย่างไร?
สมมุติเพื่อนของคุณมีธนบัตร 1,000 บาท ธรรมดาๆ อยู่ใบหนึ่ง แล้วคุณอยากได้ธนบัตรใบนั้นเพราะว่าตัวเองมีแบงค์ย่อยเยอะ คุณผู้อ่านคิดว่าจะเอาแบงค์ย่อยจำนวนเท่าไรไปแลก? แน่นอนว่า ก็ต้องแลกด้วยแบงค์ย่อยที่มูลค่ารวม 1,000 บาทอยู่แล้ว ทุกคนรู้สึกเหมือนๆ กันว่า "มูลค่า" ของธนบัตรใบนั้นคือ 1,000 บาท ฉะนั้นการย้ายมือจึงเกิดขึ้นได้แบบตรงไปตรงมา
แต่วัสิ่งของอื่นๆบนโลก ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนี้ แต่ละคนอาจประเมินมูลค่าของสิ่งหนึ่ง ไม่เท่ากัน วิธีการตกลงมูลค่าเพื่อดำเนินการแลกเปลี่ยนก็มีได้หลายแบบ เช่น ฝ่ายหนึ่งตั้งมูลค่า (ราคา) เอาไว้ แล้วอีกฝ่ายก็จ่ายตามนั้น ถ้าอยากได้และพอใจที่จะจ่าย ซึ่งนั่นคือการซื้อขายปกติ ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือ จัดการประมูล
รูปแบบการประมูลมีได้มากมาย แต่แบบที่ใช้กันหลักๆ ก็เช่น
(1) ผู้ขายตั้งราคาไว้ต่ำ ผู้ประมูลแข่งกันให้ราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ (English auction)
(2) ผู้ขายตั้งราคาไว้สูง และค่อยๆ ลดราคาลงจนกว่าจะมีผู้ประมูลคนแรกตกลงเอาราคานั้น (Dutch auction)
1
(3) ผู้ประมูลใส่ซองเสนอราคาให้ผู้ขาย (กล่าวคือ ผู้ประมูลแต่ละคนไม่รู้ราคาของกันและกัน) แล้วผู้ขายเลือกซองที่ให้ราคาสูงที่สุด และเจ้าของซองก็จ่ายตามนั้น (first-price auction)
(4) ผู้ประมูลต่างก็ใส่ซองเสนอราคาให้ผู้ขาย แล้วผู้ขายเลือกซองที่ให้ราคาสูงที่สุด เหมือนแบบก่อนหน้านี้ แต่เจ้าของซองจ่ายเท่ากับซองที่ราคาสูงรองลงมา (Vickrey auction)
1
ฯลฯ
รูปแบบการประมูลมีผลอย่างยิ่งต่อกลยุทธ์ที่ผู้ประมูลจะใช้ และเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ผู้ประมูลจะนำมาพิจารณา ปัจจัยหลักอื่นๆ ก็เช่น มูลค่าที่ผู้ประมูลคิดว่าคนทั่วๆ ไปประเมินวัตถุนั้น (common value) และมูลค่าที่ตัวผู้ประมูลเองประเมินเป็นการส่วนตัวแบบไม่บอกใคร (private value)
ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นงานประมูลบ้านมือสอง common value ก็คือราคาที่ผู้ประมูลคิดว่าตั้งแล้วน่าจะมีคนซื้อ ซึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับรายงานตรวจประเมินบ้านที่เป็นข้อมูลสาธารณะที่ผู้ขายเปิดเผย (ถ้ารายงานบอกว่าดี มูลค่าก็สูง) ส่วน private value เกิดจากความรู้สึกส่วนตัวว่าผู้ประมูลพอใจในสภาพบ้านและทำเลมากขนาดไหน เป็นต้น
การเลือกรูปแบบการประมูลให้เหมาะสมกับ common value และ private value ของสิ่งของหนึ่งๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ถ้าเลือกได้อย่างเหมาะสม ผู้ขายจะขายได้ตามเป้าประสงค์ของตัวเองมากที่สุด โดยปกติ เป้าประสงค์ก็คือ ผู้ขายได้ผลตอบแทนมากที่สุด แต่ในบางกรณี เป้าประสงค์ก็ลึกซึ้งกว่านั้น เช่น อยากให้สิ่งของนั้นตกไปอยู่ในมือของผู้ที่มีศักยภาพและความตั้งใจที่จะนำไปทำประโยชน์ให้แก่สังคมมากที่สุด เป็นต้น
1
ตัวอย่างสำคัญคือ ถ้ารัฐบาลต้องการประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมพร้อมๆ กันหลายๆ คลื่นความถี่ หรือประมูลสัมปทานเส้นทางรถประจำทางพร้อมๆ กันหลายๆ เส้นทาง รัฐบาลอาจจะไม่ได้แค่อยากได้รายได้มากที่สุดเท่านั้น แต่อยากให้ผลลัพธ์ท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนทุกคนได้ใช้บริการต่างๆ จากผู้ชนะการประมูลได้ในราคาที่ไม่แพง กรณีตัวอย่างที่ยกมานี้ มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการประมูลที่เรียกรวมๆ ว่า multi-object auction ซึ่งเป็นการประมูลที่เกี่ยวข้องกันหลายๆ วัตถุ(จุดประสงค์)พร้อมๆ กัน
การเลือกรูปแบบการประมูลให้เหมาะสมสำหรับ multi-object auction เพื่อเป้าประสงค์ของรัฐที่จะให้เกิดสาธารณประโยชน์สูงสุด เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก และมีอุปสรรคใหญ่หลวงต้องก้าวข้ามมากมาย เช่น นักลงทุนอาจจะฮั้วกัน นักลงทุนบางคนอาจจะมาประมูลแค่เพื่อไปขายงานต่ออีกที นักลงทุนบางคนอาจจะไม่มาเพราะรอไปซื้อต่อดีกว่า ฯลฯ
นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากได้พยายามสร้างสรรค์รูปแบบการประมูลที่จะมารับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ ผู้ที่วางรากฐานเชิงทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อรับมือกับ multi-object auction ไว้อย่างดีคือ Milgrom และ Wilson นั่นเอง ผลงานของอาจารย์ทั้งสองท่านทำให้ Federal Communications Commission ของประเทศสหรัฐอเมริกา จัดประมูลคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือได้อย่างมีหลักการตลอดมา ในยุคที่โทรศัพท์มือถือได้กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
รากฐานที่อาจารย์ทั้งสองท่านได้วางไว้ ไม่ได้เพียงเกิดประโยชน์สำหรับการประมูลแบบต่างๆ เท่านั้น แต่ยังถูกประยุกต์ใช้ในตลาดหลักทรัพย์ ในการจับคู่เพื่อผลประโยชน์ร่วมสูงสุด (เช่น จับแพทย์คู่กับโรงพยาบาลอย่างไร) หรือในการกำหนดราคาสาธารณูปโภค เป็นต้น
ผลงานของอาจารย์ทำให้สิ่งที่เคยเป็นศิลป์ในการลองผิดลองถูกและกะประมาณ กลายเป็นศาสตร์ให้ยึดปฏิบัติอย่างเป็นหลักเป็นการนั่นเอง
โฆษณา