8 พ.ย. 2020 เวลา 03:29 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เคยเจอใครที่เป็นแบบนี้ไหมครับ 🤔
เขาทำความผิดอะไรบางอย่าง ซึ่งเขาไม่รู้ว่าตัวเองทำผิด
แต่เมื่อมีคนชี้ให้เห็นว่าเขาทำผิด รวมถึงมีหลักฐานให้เห็นชัดเลยว่า สิ่งที่เขาคิด หรือสิ่งที่เขาทำมันผิด
แต่เขาก็ไม่สามารถยอมรับว่าตัวเองผิดได้
ยังคงหาข้อแก้ตัวต่อไปเรื่อยๆ 😔😔
ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้
และผมก็เชื่อว่าหลายคนเคยเป็นแบบนี้เอง
คำถามคือ ทำไมมนุษย์จึงมี พฤติกรรมนี้ ?
ทำไมการยอมรับว่าตัวเองผิด แม้ว่าจะมีหลักฐานชี้ชัดมากมายว่าเราผิด มันถึงได้ยากเย็นนัก ?
คำตอบของคำถามนี้ ยังจะช่วยอธิบายให้ฟังด้วยว่า
ทำไมคนเราทำผิดแล้วชอบแก้ตัว ?
ทำไมคนเราไม่ค่อยเห็นความผิดของตัวเอง เห็นแต่ความผิดของคนอื่น?
คำตอบ คือ .....
เพราะวิธีคิดแบบนี้มันมีประโยชน์กับมนุษย์เรา
กลไกการทำงานเช่นนี้ของสมองจึงถูกคัดเลือกมา
มาครับ ผมจะอธิบายเพิ่มเติมในรายละเอียดให้ฟัง
และเพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น
ผมมีเรื่องที่จะเล่าให้ฟังสองเรื่องด้วยกัน ค่อนข้างจะยาวนิดนึงนะครับ
เรื่องแรกจะเป็นเรื่องจริงที่เกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว
เรื่องที่สอง เป็นงานวิจัยด้านจิตวิทยา
1.
เรื่องที่จะเล่านี้ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในอเมริกาเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว
2
นักจิตวิทยาหนุ่มชื่อ ลีออน เฟซทิงเกอร์ (Leon Festinger) และเพื่อนอีกสองคน
แอบแฝงตัวเข้าไปในสมาคมลับแห่งหนึ่ง ซึ่งมีหัวหน้านามว่า .... แมเรียน คีช (Marian Keech)
สมาชิกของสมาคมลับแห่งนี้ มีความเชื่อและศรัทธาอย่างแรงกล้าว่า
แมเรียน คีช คือผู้นำสารสำคัญจากเทพเจ้าแห่งดาวแคลเรียน (Clarion) ว่า โลกกำลังก้าวเข้ามาสู่กาลวิบัติ
วันสิ้นโลกถูกกำหนดไว้เรียบร้อย
วันที่ 21 ธันวาคม ของปีนั้นจะเป็นอวสานของโลก
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้าจะได้รับการยกเว้น
1
ในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 20 หรือหนึ่งวันก่อนโลกระเบิด จะมีจานบินปรากฎขึ้นบนท้องฟ้า เพื่อมารับผู้มีศรัทธาหนีไปก่อนที่โลกจะสิ้นสูญ
แต่การจะแสดงตัวว่าคุณเป็นผู้มีศรัทธาจริง คุณต้องพิสูจน์ตัวเอง โดยคุณต้องละทิ้งทุกอย่าง คุณต้องแจกข้าวของทุกอย่างของคุณให้คนอื่นไปซะ มีรถก็ยกให้คนอื่นไป เงินในบัญชีถอนออกมาให้เกลี้ยงแล้วแจกให้คนอื่นๆ
คุณต้องตัดขาดจากคนรอบตัวให้มด มีลูกให้ทิ้งลูก มีสามีให้ทิ้งสามี มีแม่ให้ทิ้งแม่
เพราะโลกที่เป็นอยู่นี้ เป็นเพียงแค่โลกสมมติ เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่จริง
ถ้าทำได้จึงจะสามารถมาอยู่เป็นสาวกของ แมเรียน คีช ได้
สิ่งที่นักจิตวิทยา เฟซทิงเกอร์ อยากรู้คือ จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อคนเหล่านี้ค้นพบว่า โลกไม่ได้ถึงกาลอวสานอย่างที่ตัวเองเชื่อ?
2.
เมื่อใกล้เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 20 ธันวาคม
เหล่าผู้มีศรัทธาทั้งหลาย ซึ่งรวมตัวกันที่บ้านของแมเรียน คีช ก็เริ่มถอดโลหะต่างๆออกจากร่างกาย ถอดเข็มขัด เลาะซิป ปลดชุดชั้นในออก เพื่อให้แน่ใจว่าโลหะจะไม่ไปรบกวนระบบสื่อสารของมนุษย์ต่างดาว
จากนั้นก็เริ่มสวดมนต์
1
(สามีของแมเรียน คีช เข้านอนไปตั้งแต่หัวค่ำ ไม่ได้มาร่วมสวดมนต์ เพราะไม่เชื่อว่าโลกจะดับ)
เที่ยงคืนห้านาทีไปแล้ว ..... จานบินยังไม่มา
สมาชิกคนนึงพบว่ามีนาฬิกาเรือนหนึ่งในบ้านเพิ่งจะ 23:55 นาที
ทุกคนเลยเห็นพ้องกันว่า นาฬิกาเรือนอื่นๆเดินไม่ตรงเลยใช้นาฬิการที่ช้ากว่าเรือนอื่นๆนี้เป็นหลัก
เที่ยงคืนสิบนาที .... จานบินยังไม่มา
บรรยากาศในบ้านเงียบกริบ...
2:00am จานบินยังไม่มา หลายคนยังสวดมนต์ต่อไป
4:00am แมเรียน คีช เริ่มร้องไห้
แต่แล้วเมื่อถึงเวลา 4:45 am
แมเรียน คีช ก็ได้รับสารอัพเดทจากพระเจ้า
แปลเป็นภาษามนุษย์ ได้ใจความประมาณว่า
"มนุษย์ต่างดาว (พระเจ้า) เปลี่ยนใจแล้ว
แม้คนที่มารวมตัวกันจะมีไม่มากนัก แต่การละทิ้งทุกอย่างและนั่งสวดมนต์กันทั้งคืน ได้ทำให้มนุษย์ต่างดาวประทับใจกับศรัทธาอันแรงกล้า
พระเจ้าแห่งดาวแคลเรียนจึงเปลี่ยนใจและไม่คิดทำลายโลกอีกต่อไป"
2
บรรยากาศแห่งความสิ้นหวังก็พลันเปลี่ยนเป็นความปลื้มปิติ ทุกคนโผเข้ากอดกันและร้องไห้ดีใจ ศรัทธาและความพยายามของพวกเขาได้รับการตอบรับ
เรื่องราวจึงจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง ....
จะเห็นว่าในเรื่องที่เล่านี้ มีนักพยากรณ์อยู่สองคน โดยคนนึงทำนายผิด อีกคนทำนายถูก
คนที่ทำนายผิดชื่อ แมนเรียน คีช
ส่วนคนที่ทำนายถูกชื่อ เฟซทิงเกอร์
3.
ก่อนที่เฟซทิงเกอร์จะแฝงตัวเข้ามาร่วมกับคณะของแมเรียน คีช
เขาได้ทำนายไว้ว่า
ในหมู่ของคนที่ศรัทธาและเชื่อ แมเรี่ยน คีช สามารถแบ่งระดับความศรัทธาได้หลายระดับดัวยกัน ตั้งแต่คนที่เชื่อสุดใจ ยอมละทิ้งทุกอย่างมานั่งสวดมนต์ คนที่เชื่อกลางๆ ถึงไม่มาเข้าร่วมในบ้าน แต่ก็นอนกลัว นอนร้องไห้ กอดลูก กอดสามี รอความตายในคืนวันสิ้นโลก และคนที่เชื่อแต่แอบสงสัย ซึ่ง มาร่วมกลุ่มแบบเข้าๆออกๆ และอาจจะนั่งรอดูเหตุการณ์เงียบๆที่บ้านว่าโลกจะแตกจริงไหม
ก่อนหน้าที่เฟซทิงเกอร์จะแฝงตัวเข้ามานั้น
ทฤษฎีทางจิตวิทยา เชื่อว่า ถ้าคนกลุ่มนี้พบว่าโลกไม่แตกจริง หรือตัวเองติดตามเชื่อคนผิด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความรู้สึกโกรธแค้น โดยคนที่เชื่อมากๆและทิ้งทุกอย่างจะเป็นกลุ่มที่โกรธมากที่สุด คนที่เชื่อน้อยๆจะโกรธน้อย อาจจะแค่รู้สึกเสียหน้านิดหน่อย
1
แต่เฟซทิงเกอร์ มองต่างไป
เขาตั้งสมมติฐานว่า กลุ่มที่เชื่อมาที่สุด ยอมละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นกลุ่มที่ไม่โกรธ ยิ่งไปกว่านั้นศรัทธาของคนกลุ่มนี้จะยิ่งแรงขึ้นไปอีก คนกลุ่มนี้จะไม่อาย ติดต่อสื่อต่างๆเพื่อขอไปเล่าสิ่งที่พบให้โลกรับรู้ และพยายามชักจูงคนอื่นๆมาเข้าร่วมกลุ่ม
กลุ่มที่เชื่อนิดๆหน่อยๆ ไม่ได้ละทิ้งอะไรไปมาก จะรู้สึกอับอาย โกรธและออกมาต่อต้านรุนแรง
และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ สมมติฐานของเฟซทิงเกอร์ถูกต้อง
คำถามคือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
1
4.
เฟซทิงเกอร์ และเพื่อนร่วมงานชื่อคาร์ลสมิท (Festinger & Carlsmith) ได้ทำงานวิจัยแนวเดียวกันนี้ร่วมกันอีกหลายปี จนพวกเขาสรุปออกมาเป็นทฤษฎีที่มีชื่อว่า cognitive dissonance
คำว่า cognitive แปลว่า ความคิด
คำว่า dissonance แปลว่า ไม่พ้องกัน ไม่ตรงกัน
cognitive dissonance จึงแปลว่า ความคิดในสมองไม่พ้องกัน
กลไกนี้ เป็นกลไกการทำงานของสมองที่อยู่นอกจิตสำนึกของเรา (คือ ทำไปโดยไม่รู้ตัว)
คนปกติทั่วไปจะมีความเชื่อเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับตัวเองในทางบวกระดับหนึ่ง เช่น ลึกๆเราจะเชื่อว่า เราเป็นคนดี (ในระดับหนึ่ง อาจจะไม่ดีที่สุด แต่เราก็เป็นคนดีคนนึง) เราเป็นคนเก่งในระดับนึง เราเป็นคนน่ารักในระดับนึง เราฉลาดระดับนึง ฯลฯ
2
การต้องรับรู้ว่า เราไม่ดี เราไม่เก่ง เราไม่น่ารัก เราไม่ฉลาด มันจะทำร้ายจิตใจ หรือทำร้ายความรู้สึกตัวเอง ซึ่งสมองของคนปกติทั่วไปจะมีกลไกเลี่ยงไม่ให้เรารู้สึกแบบนั้น
ถ้ากลไกนี้ทำงานไม่ดีนัก เราอาจจะกลายเป็นคนที่ซึมเศร้า ไม่มั่นใจตัวเอง และรู้สึกหดหู่ ที่รู้ว่าจริงๆเราไม่ได้ดีขนาดนั้น
ถ้ามีเหตุการณ์อะไรก็ตามที่จะทำให้เรารู้สึกว่า เราโดนหลอก เราไม่เก่ง เราทำผิด มันจะเกิดความขัดแย้งขึ้นในสมอง (ฉันเก่งหรือไม่เก่ง ฉันโง่หรือไม่โง่ ฉันทำผิดหรือไม่ผิด) ทำให้กลไก 'ลดความขัดแย้งในสมอง' จะทำงาน แล้วพยายามหาเหตุผลมาแก้ต่างให้กับตัวเราเอง เพื่อไม่ให้เรารู้สึกกับตัวเองในทางลบ
ดังนั้นในกรณี สาวกแมเรี่ยน คีช เราจึงเห็นว่า คนที่โดนหลอกหนักที่สุด จึงพยายามแก้ต่างให้กับตัวเองมากที่สุด จนกลับกลายเป็นว่า ยิ่งเชื่อมากกว่าเดิม ยิ่งศรัทามากกว่าเดิม
1
คนที่โดนหลอกน้อยลงมา ก็อาจจะยอมรับตัวเองโดนหลอก แต่ก็จะมีเหตุผลอื่นมาแก้ต่างให้ตัวเองว่าทำไมจึงหลงไปเชื่อได้
ภาวะ cognitive dissonance นี้ เป็นสิ่งปกติที่พบได้ในทุกคน
และเชื่อว่าหลายท่านก็อาจจะพอนึกออกว่าเคยเกิดขึ้นกับตัวเองมากอ่น
เราอาจจะเคยติดสินบนคนอื่น แต่เราไม่คิดว่ามันเป็นการคอรัปชั่น
เพราะเราคิดว่ามันแค่นิดๆหน่อยๆ ไม่มีใครเดือดร้อน
เราอาจจะเคยใช้กระดาษหรือเครื่องถ่ายเอกสารบริษัทกับงานส่วนตัว
แล้วคิดว่ามันไม่ใช่การขโมยเพราะมันเล็กน้อย และเราก็ทำกำไรให้บริษัทตั้งมากมาย
เราอาจจะเคยเข้าร่วมกลุ่มหรือเป็นสมาชิกสมาคมบางอย่างที่หลอกลวงคนมาเป็นสมาชิก
แต่เราไม่ยอมรับว่ามันเป็นสมาคมหลอกลวง
ภาวะเหล่านี้ทั้งหมดคือ cognitive dissonance
คำถามคือ ทำไมสมองของเราจึงวิวัฒนาการมามีลักษณะเช่นนี้?
คำตอบคือ เพราะมันทำให้เรา ล้มแล้วยังลุก ผิดแล้วยังกล้าลองใหม่ครับ
ในชีวิตจริงมนุษย์เราทำสิ่งผิดพลาด ทำเรื่องโง่ๆกันตลอดเวลา และอาจจะมากกว่าการทำเรื่องที่ฉลาดหรือถูก
แต่เพราะสมองเรามีระบบแก้ตัวที่ทำงานให้เราอย่างอัตโนมัติ เราจึงไม่กลัวกับความล้มเหลว ไม่กลัวผิดพลาด ไม่รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ไร้ค่าและกล้าจะลองใหม่อีกครั้ง
ในทางตรงกันข้าม คนที่มองเห็นความผิดพลาดของตัวเองตามจริง อาจมีแนวโน้มที่จะซึมเศร้า ไม่มั่นใจ และประหม่า มากกว่าคนทั่วไป
ครั้งหน้าถ้าคุณทำอะไรผิด แล้วคุณรู้สึกว่า ฉันไม่ผิด หรือปกติฉันก็ไม่ทำแบบนี้หรอก พอดีครั้งนี้มัน ....
นั่นแหละครับ สิ่งที่เรียกว่า cognitive dissonance
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
สนใจหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ กับอารมณ์และจิตใจแนวๆนี้ แอดมินขอแนะนำเรื่อง 500 ล้านปีของความรัก สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ลิงก์ข้างล่างเลยนะคะ
โฆษณา