22 พ.ย. 2020 เวลา 03:02 • อาหาร
ทำลายความเชื่อเดิม ๆ ? : เมื่ออาหารเช้าอาจจะไม่สำคัญที่สุดเสมอไป | MAIN STAND
“อาหารเช้าสำคัญที่สุด” คือคำที่เรามักจะได้ยินคนที่เป็นห่วงเป็นใยสุขภาพของเรา พร่ำบอกเราเสมอ
1
การงดอาหารเช้าจึงดูเหมือนเป็นการทำร้ายสุขภาพไปโดยปริยาย แต่สำหรับหลายคน อย่าว่าแต่การทานอาหารเช้า ตื่นให้ทันไปทำงาน ก็ท้าทายมากพออยู่แล้ว
1
อย่างไรก็ตาม เรื่องความสำคัญของอาหารเช้านั้นมีที่มาที่น่าสงสัย ดูมีเงื่อนงำ รวมถึงงานวิจัยในปัจจุบัน จากหลายสถาบัน ก็ออกมาเผยว่า อาหารเช้าไม่ได้สำคัญอย่างที่เราคิด
นักวิทย์ฯยังเถียงกัน
ใครเป็นคนแรกที่ออกมาบอกว่าอาหารเช้าสำคัญ ? คำตอบสั้น ๆ ของคำถามในข้างต้น คือ บริษัทขายผลิตภัณฑ์อาหารเช้า
2
ย้อนกลับไปในปี 1944 บริษัทผู้ผลิตซีเรียล เยเนอรัล ฟู้ดส์ ได้โปรโมทผลิตภัณฑ์ซีเรียล พร้อมกับสโลแกนฮิตติดหู ผ่านทางวิทยุ “อาหารเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดของวัน อ้างอิงจากนักโภชนาการ” และนั่นคือจุดเริ่มต้นของทั้งหมด
1
ในเวลาต่อมา ผลิตภัณฑ์อาหารเช้าต่าง ๆ ตั้งแต่เบค่อนถึงซีเรียล ก็พากันออกโปรโมทเรื่องประโยชน์ของอาหารเช้า โดยใช้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญมาให้การยืนยัน
แม้แต่ สมาพันธ์นักโภชนาการแห่งออสเตรเลีย (DAA) ก็ได้ออกมาสนับสนุนเรื่องดังกล่าวอีกเสียง ทางสมาพันธ์เผยว่า การรับประทานอาหารเช้า ทำให้เสี่ยงต่อโลกอ้วนน้อยลง และทำให้มีสมาธิ กำลังสมอง อารมณ์ และความจำดี
5
แต่ปรากฎว่า เมื่อลองดูงานวิจัยที่ DAA ใช้ในการอ้างอิน กลับพบว่า งานวิจัยบางชิ้น ได้รับเงินสนับสนุนจากเคลลอกส์ บริษัทซีเรียลชื่อก้อง
1
ความน่าเคลือบแคลงของที่มาของ วาทกรรมอาหารเช้า บวกกับเทรนด์การ fasting ที่กำลังมาแรงขณะนี้ ทำให้เรื่องดังกล่าว เป็นที่ถกเถียงกันเป็นวงกว้าง
4
อีกทั้งในปัจจุบัน ยังมีการศึกษาที่ให้ผลขัดแย้งกันออกมาตลอด ผู้เชี่ยวชาญบางท่านถึงกับชี้ว่า อาหารเช้านั้น “อันตราย”
1
ศาสตราจารย์ Terence Kealey นักชีวเคมีจากมหาวิทยาลัย Oxford เผยว่า การรับประทานอาหารเพิ่มความต้องการปริมาณแคลอรี่ของคน ๆ หนึ่ง ทำให้เกิดอาการหิวในเวลาต่อมามากกว่าบุคคลนั้นข้ามอาหารเช้า และอาจนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวานประเภท 2
3
ผู้อ่านคงกำลังสับสนว่า แล้วสรุป พรุ่งนี้ตื่นมาควรทานอาหารเช้าหรือไม่ ? ความจริงคืออะไรกันแน่ ?
อาหารเช้าเป็นเรื่องส่วนบุคคล
Main Stand ติดต่อสุกัญญา บุญมี นักกำหนดอาหารคลินิกโภชนบำบัดโรงพยาบาลราชวิถี และเจ้าของเพจ “กว่าจะเป็นนักกำหนดอาหาร” เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
2
“เรื่องนี้ต้องแยกกันว่าคนปกติ กับคนที่มีโรค สำหรับคนปกติ ช่วงเวลาการทานอาหารไม่ได้มีผลต่อสุขภาพ ไม่ว่าเราจะงดอาหารเช้า หรือไม่งด ก็ไม่มีความแตกต่างอะไรมากนัก ไม่มีผลต่อน้ำหนักตัวหรือระบบเผาผลาญ” สุกัญญา กล่าว
1
“ต้องดูเรื่องความสม่ำเสมอ ถ้าเคยทำอย่างไรแล้วปฏิบัติแบบเดิม ก็จะไม่มีผลแตกต่างกันในระยะยาว ถ้าเป็นคนปกติที่จะไม่ทานอาหารเช้าอยู่แล้วเป็นปกติ ก็สามารถงดต่อไปได้โดยที่ร่างกายไม่ได้มีปัญหาอะไร”
1
“แต่ถ้าคนที่ทานข้าวเช้ามาตลอด และเปลี่ยนเป็นไม่ทาน ร่างกายจะมีความโหย จนอาจทานอาหารในมื้อถัดไปเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อน้ำหนักตัวที่มากขึ้น” นักกำหนดอาหารอธิบาย
2
ดังนั้น อาหารเช้าเป็นเรื่องส่วนบุคคล แล้วแต่ความต้องการ โดยกลุ่มคนบางประเภทอาจได้รับประโยชน์จากการทานอาหารเช้า หรืออาจอาหารเช้าอาจเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
1
“สำหรับคนบางกลุ่ม การทานอาหารอาจจะมีประโยชน์มากกว่าการงดอาหาร เช่นนักกีฬา อาหารเช้าเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการสร้างกล้ามเนื้อ” สุกัญญา กล่าว
“อีกทั้ง มีการวิจัยศึกษาเรื่องของคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาหารเช้า โดยทดลองกับกลุ่มคนปกติกับกลุ่มคนที่เสี่ยงจะมีภาวะซึมเศร้ากลุ่มคนที่ทานอาหารเช้าที่มีคุณภาพ จะมีภาวะเครียดลดลง แต่กลุ่มคนที่ทานอาหารเช้าแต่ไม่มีคุณภาพ จะเสี่ยงต่อโรคภาวะซึมเศร้า ความเครียดและจะควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี” สุกัญญา นักกำหนดอาหาร เล่าให้เราฟังถึงประโยชน์อีกด้านหนึ่ง ที่ไม่ค่อยมีใครรู้ของอาหารเช้า
5
“ในกลุ่มคนที่ไม่มีโรคประจำตัวสามารถจะเลือกทานหรือไม่ทานอาหารเช้าก็ได้ แต่ถ้าคนที่เป็นเบาหวาน ต้องทานยาลดน้ำตาลในเลือดตอนเช้าอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องทานอาหารเช้า เพื่อลดน้ำตาลในเลือด หากไม่ทาน น้ำตาลจะต่ำ และอาจจะวูบเสียสติ เพราะหลักการของการรักษาเบาหวาน คือต้องให้น้ำตาลคงที่ตลอดเวลา ไม่ได้สูงหรือต่ำเกินไป”
2
เช่นเดียวกับเรื่องราวการรักษาสุขภาพด้านอื่น ๆ เรื่องของอาหารเช้า ก็เป็นเรื่องที่เราต้องคุยกับร่างกายตัวเองให้รู้เรื่อง ว่าร่างกายของเราเป็นแบบไหน มีความเสี่ยงอะไรหรือไม่ หากงดอาหารเช้า ซึ่งสำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีโรคประจำตัว การงดอาหารเช้า ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้น้ำหนักขึ้น อย่างที่นักวิจัย (ผู้สมรู้ร่วมคิดกับบริษัทซีเรียล) เคยกล่าวไว้
1
คุณภาพสำคัญที่สุด
3
การพูดคุยกับสุกัญญา ทำให้เราฉุกคิดได้ว่า เราอาจจะโฟกัสผิดจุด เพราะแท้จริงแล้ว มีเรื่องที่เราควรจะให้ความสำคัญ มากกว่าเรื่องเวลาในการทานอาหาร
“สิ่งที่สำคัญกว่าทานอาหารเช้าหรือไม่ คือเรื่องของคุณภาพอาหารในทุกมื้อ หากงดมื้อเช้า มื้อถัดไปก็ต้องมีคุณภาพอาหารที่ดี” สุกัญญา กล่าว
“คุณภาพอาหารเช้าที่ดี คือเรื่องเบสิกอย่างกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ต้องเลือกชนิดของแต่ละสารอาหาร กลุ่มที่ต้องดูแลคือ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่โปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน”
“สำหรับโปรตีน ควรทานไข่ นม เนื้อสัตว์ที่ไม่แปรรูป รวมถึงธัญพืช เป็นประจำ โปรตีนที่มีคุณภาพดีช่วยสร้างกล้ามเนื้อและภูมิคุ้มกัน จึงควรทานโปรตีนในแต่ละวันให้เพียงพอ และสำหรับไขมัน ควรลดหรืองด ไขมันทรานส์ คือไขมันในโดนัท เบเกอรี่ หรือขนมที่ผสมมาการีน รวมถึงหนังสัตว์” นักกำหนดอาหาร แจกแจงให้เราฟัง
1
“ส่วนคาร์โบไฮเดรต ให้ดูประเภทของคาร์บ โดยหลัก ๆ จะแบ่งเป็น คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน กับคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ให้เน้นทานอย่างหลัง เช่นข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ซึ่งควรทาน 2 ทัพพีต่อมื้อ และหากต้องการลดน้ำหนัก ให้ทานอาหารรวมในแต่ละวันลดลงประมาณ 500 แคลอรี ลดไขมันและน้ำตาล รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาหารเช้า ก็ยังคงมีประโยชน์หลายด้าน แต่การงดอาหารเช้าก็ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคอ้วน หรือโรคร้ายแรง สำหรับคนทั่วไป
สำหรับ #ทีมตื่นไม่ทัน จนทำให้ไม่ได้ทานอาหารเช้าติดต่อกันหลายวัน ก็ไม่ต้องกังวล เพราะสิ่งที่สำคัญกว่า เวลาที่ทานอาหารคือคุณภาพของอาหารที่ทานต่างหาก
บทความโดย พิมพ์พันธ์ุ จันทร์แดง
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา