25 พ.ย. 2020 เวลา 11:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา BRIDGEWATER เผยแพร่บทความเรื่อง Beyond the Election: What Doesn’t Change Will Be a Lot More Than What Does ซึ่งพูดถึงสิ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลงแม้จะมีการเลือกตั้ง เนื้อหาโดยรวมพอจะนำไปใช้เป็นมุมมองการลงทุนสำหรับปีหน้าได้ เลยนำมาเรียบเรียง เพิ่มเติม และเล่าสู่กันฟังหน่อยครับ
• ผลกระทบจากเชื้อไวรัส
ตอนนี้ยังไม่มีวิธีที่อธิบายผลของ social distancing ต่อระดับการใช้จ่ายอย่างชัดเจน แต่มีสิ่งหนึ่งที่พอจะอธิบายให้เห็นภาพได้นั่นคือ mobility data (จาก Google) ด้วยวิธีนี้แสดงให้เห็นว่า social distancing มีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการใช้จ่าย จะเห็นว่าตัวเลข mobility ยังทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ -20% เมื่อเทียบกับระดับเมื่อต้นปี
เมื่อพิจารณาการใช้จ่ายแต่ละประเภท พบว่าประเภทการใช้จ่ายที่ถูกกดดันด้วยการแพร่ระบาด (ท่องเที่ยว) ยังอยู่ที่ -40% จากระดับสูงสุด อีกทั้งยังมีโอกาสฟื้นตัวที่จำกัดตราบใดที่ยังมีปัจจัยด้านไวรัสรบกวนอยู่
จนถึงปัจจุบัน ความแตกต่างและขนาดของผลกระทบจาก social distancing เป็นปัจจัยที่บ่งชี้ผลกระทบชองเชื้อไวรัสต่อการใช้จ่ายในแต่ละประเทศได้ดีที่สุด และขนาดของการตอบสนองด้วยนโยบายการคลังเป็นอีกปัจจัยที่กำหนดแนวโน้มการใช้จ่ายเช่นเดียวกัน
• เรายังอยู่ในโลกการเงินยุค MP3
เป็นโลกการเงินที่ใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลโดยรัฐบาลเป็นหลัก และหนุนด้วยนโยบายการเงินโดยมีธนาคารกลางเป็นนายทุน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ส่วนนี้เรียกว่า MP3 การกระตุ้นจะต้องมีขนาดเพียงพอที่จะบรรเทาทั้งผลกระทบระยะสั้นจากเชื้อไวรัสและผลกระทบระยะยาวจากระดับหนี้สินที่สูง หนี้รัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นซึ่งส่วนใหญ่นั้นอยู่ในงบดุลธนาคารกลาง และท้ายที่สุดการถอนมาตรการกระตุ้นกลับอย่างชาญฉลาดยังมีความจำเป็น นั่นมาพร้อมความไม่แน่นอนของการกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง เช่นเดียวกับความสามารถและความตั้งใจในการดำเนินการของแต่ละประเทศ
• สภาพคล่องท่วมโลก
เมื่อนโยบายการเงินประสบความสำเร็จ ก็นำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของเงินสดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแต่ก็มาพร้อมการสูญเสียอำนาจซื้อที่แท้จริง โดยเงินที่สะสมอยู่ในภาคครัวเรือนและธุรกิจเพิ่มขึ้น เนื่องจากครัวเรือนเก็บออมเงินที่รับจากรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ส่วนภาคธุรกิจก็กู้ยืมเงินตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของวิกฤติและยังไม่ได้นำเงินส่วนดังกล่าวออกมาใช้ ด้านสัดส่วนของตราสารหนี้ที่ให้อัตราผลตอบแทนต่ำกว่า 1% เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนสภาวะอัตราผลตอบแทนต่ำทั้งในตราสารหนี้ระยะสั้นและยาว
• สภาพคล่องที่ล้นจะหาแหล่งเก็บความมั่งคั่ง
อันเป็นแหล่งที่ปกป้องความเสี่ยงจากผลกระทบของรายได้และการใช้จ่ายที่ลดลง รวมไปถึงมูลค่าของเงินที่ลดลงอันเป็นผลจากนโยบายการเงินแบบ MP3
ทาง BRIDGEWATER มองเห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างมากในทุกระดับสินทรัพย์ อุตสาหกรรม บริษัท ประเทศ และรายบุคคล ระหว่างกลุ่มที่มีความเสี่ยงเนื่องจากแรงกดดัน และกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับประโยชน์
ช่วงที่ผ่านมา ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดระหว่างกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันและกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ รวมไปถึงการเคลื่อนที่ของสภาพคล่อง คือ ความแตกต่างกันของราคาน้ำมันและราคาทองคำ ราคาน้ำมันเป็นสินทรัพย์อายุสั้นที่รับอิทธิพลอย่างมากจากความต้องการ ณ ปัจจุบัน โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งรับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ในทางกลับกัน ทองคำกลับเป็นสินทรัพย์โภคภัณฑ์เก็บความมั่งคั่งในระยะยาวที่ไม่ได้มีความต้องการใช้อย่างทันทีทันใด จะดียิ่งขึ้นเมื่อมองทองคำเหมือนค่าเงินที่มูลค่ามีความสัมพันธ์กับเงินกระดาษ ซึ่งคาดกันว่าจะมีการพิมพ์เงินออกมาอย่างมากในอนาคตโดยที่ความต้องการไม่ลดลง มูลค่าทองคำเทียบกับเงินแล้วเพิ่มขึ้น
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ความแตกต่างกันของผลตอบแทนดัชนีอุตสาหกรรมในตลาดหุ้น กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ซึ่งมาพร้อมคุณสมบัติของการเป็นแหล่งเก็บความมั่งคั่ง ไม่ว่าจะเป็นกำไรมหาศาล ระดับหนี้ที่ต่ำ และความสามารถในการสร้างประโยชน์จากการหดตัวของเศรษฐกิจโดยปราศจากความเสียหาย ในทางกลับกันกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและธนาคารปรับตัวลงอย่างหนัก อันเนื่องมาจากความต้องการที่ลดลง ความกังวลเรื่องหนี้เสียและกำไรที่หดตัวจากภาวะอัตราดอกเบี้ย 0%
อย่างไรก็ตาม ราคาทั้งสองสินทรัพย์และดัชนีอุตสาหกรรมที่กล่าวมาเริ่มเปลี่ยนแนวโน้ม หลังรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งบ่งชี้แนวโน้มการใช้มาตรการกระตุ้นและนโยบายต่างประเทศที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมไปถึงข่าววัคซีน ทำให้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเรื่มฟื้นตัวเหนือกลุ่มที่รับประโยชน์ ซึ่งสะท้อนผ่านทั้งราคาสินทรัพย์ทั้งสอง และผลตอบแทนดัชนีอุตสาหกรรม ดังนั้นกลุ่มที่เสียประโยชน์มีโอกาสที่จะฟิ้นตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า แต่การฟื้นตัวดังกล่าวเป็นเพียงการฟื้นตัวกลับไปสู่จุดก่อนเกิดการแพร่ระบาด และโลกในปัจจุบันก็ไม่ใช่ช่วงเวลารุ่งเรืองของกลุ่มที่เสียประโยชน์อีกแล้ว
• เงื่อนไขที่กล่าวมาแพร่หลายมากในโลกตะวันตก แต่ไม่ใช่สำหรับโลกตะวันออก
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นความจริงแล้วในโลกตะวันตกและญี่ปุ่น แต่ไม่มากนักในจีนและประเทศในเอเชีย ซึ่งควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีที่สุดพร้อมจำกัดผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจไปด้วยกัน ทำให้ความต้องการเงินอุดหนุนจากภาคการคลังน้อยลง ประกอบกับประเทศเหล่านี้มีนักออมหรือนักลงทุนเป็นกลุ่มหลักที่หนุนให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพในปัจจุบัน จึงไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างชาติ ในปัจจุบันประเทศจีนเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาที่ระดับก่อนการแพร่ระบาดเรียบร้อยแล้ว และเป็นประเทศขนาดใหญ่เพียงประเทศเดียวที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไม่แตะระดับ 0%
ปัจจัยที่กล่าวทั้งหมดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจโลกจากตะวันตกมายังตะวันออก ซึ่งประเทศจีนและประเทศในเอเชีย (ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย) มีส่วนสำคัญต่อผลผลิตทั่วโลกเทียบเท่าสหรัฐฯ รวมกับภูมิภาคยุโรป ที่ต่างก็เป็นส่วนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกัน
โฆษณา