26 พ.ย. 2020 เวลา 03:43 • หุ้น & เศรษฐกิจ
#ภาษีรอบตัวเรา
EP11: 3 ทางเลือก เมื่อต้องออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
By มานพ รัตนะ, FChFP
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นเครื่องมือในการวางแผนเกษียณอายุที่ดีมาก เพราะเป็นการทยอยหักเงินออมจากเงินเดือนเอาไปลงทุน โดยมีนายจ้างช่วยออมให้อีกก้อนหนึ่งด้วย ซึ่งนอกจากจะทำให้เงินเติบโตได้อย่างรวดเร็วแล้ว เงินที่เราออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังสามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ดังนั้น หน่วยงานไหนมีการการทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน จึงถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีความห่วงใยต่อสวัสดิการของพนักงานเป็นอย่างมาก และมักจะทำให้พนักงานทำงานอยู่กับองค์กรไปจนถึงวัยเกษียณ ลดอัตราการ turn over ได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่า win win กันทุกฝ่าย
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยเงินกองทุนจะมาจากเงินที่ลูกจ้างยินยอมให้หักเข้ากองทุนทุก ๆ เดือน ที่อัตรา 2-15% ของเงินเดือน เรียกว่า “เงินสะสม” กับเงินที่นายจ้างจ่ายให้อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสมทบ” นั่นคือ นอกจากลูกจ้างจะออมแล้ว นายจ้างยังช่วยลูกจ้างออมอีกแรงหนึ่งด้วย โดยจะมีการนำเอาเงินทั้งสองส่วนไปลงทุนต่อเพื่อให้เกิดดอกออกผล โดยมีระยะเวลาในการออมและลงทุนไปจนถึงลูกจ้างจะอายุครอบ 55 ปีบริบูรณ์เป็นอย่างน้อย
สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ลูกจ้างสามารถที่จะนำเอายอดเงินสะสม ไปลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ในขณะที่นายจ้างก็สามารถนำเอายอดเงินสมทบ ไปเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี เพื่อลดภาษีนิติบุคคลได้อีกด้วย
แล้วลูกจ้างจะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตอนไหน
เราจะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืน เมื่อสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุนนั้น ๆ ซึ่งมีทั้งหมด 4 กรณีคือ
1.เกษียณอายุ (ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์)
2.เสียชีวิต
3.โอนย้ายกองทุน
4.ลาออกจากงาน
ใน 3 กรณีแรกนั้น เงินได้รับมาทั้งหมดจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเต็มจำนวน แต่ในกรณีที่ 4 ต้องมาพิจารณาว่า เมื่อลาออกจากงานแล้ว เราทำอะไรกับเงินกองทุนก้อนนั้น ซึ่งจะมีผลต่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีแตกต่างกัน
3 ทางเลือก เมื่อต้องลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
บางครั้ง ลูกจ้างก็อาจมีการโยกย้ายไปทำงานที่ใหม่ จึงจำเป็นต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนไปโดยอัตโนมัติ แต่ก็มีบางคนที่ยังคงทำงานอยู่ที่เดิม แต่ก็สามารถลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เหมือนกัน ซึ่งเมื่อลาออกจากการทุนแล้ว สามารถเลือกได้ 3 แบบคือ
1. กรณีลาออกจากกองทุน สามารถที่จะขอคงเงินกองทุนที่มีอยู่ทั้งหมดไว้ที่เดิมต่อไปได้ตามระยะเวลาที่กำหนดของแต่ละกองทุน แต่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการคงเงินไว้ด้วย โดยทั่วไปจะคิดค่าธรรมเนียมปีละ 500 บาท
หรือจะใช้วิธีขอย้ายกองทุนไปไว้ที่กองทุนรวม RMF ที่เปิดมาเพื่อรองรับการโยกย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ได้ โดยในระหว่างที่คงเงินไว้ในกองทุน RMF ดังกล่าว จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการคงเงินไว้แต่อย่างใด และก็ไม่จำเป็นต้องซื้อกองทุน RMF ต่อเนื่องด้วย
2. ย้ายไปกองทุนที่ทำงานใหม่ กรณีที่มีการย้ายงาน และที่ที่ทำงานใหม่ ก็มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเหมือนกัน เราสามารถที่จะแจ้งความจำนงค์ที่จะย้ายเงินในกองทุนจากที่ทำงานเดิม ไปยังที่ทำงานใหม่ เพื่อสะสมเงินต่อไปได้
ทั้ง 2 ทางเลือกนี้ หากลูกค้าทำเรื่องถอนเงินเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์เป็นอย่างน้อย ผลประโยชน์จากการลงทุนทั้งหมดจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
แต่หากมีการถอนเงินออกมาก่อนกำหนด ก็จะต้องนำเอาเงินที่ได้ไปคิดเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
3. ลาออกจากกองทุนและขอถอนเงินทั้งหมดออกมาก่อนที่จะอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ วิธีนี้จะทำให้เรามีภาระทางภาษีติดมาด้วย โดยต้องนำเอาผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนทั้งหมด มาคำนวณภาษีด้วย
การคำนวณภาษี กรณีถอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนกำหนด
เมื่อเราถอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมา เงินก้อนดังกล่าวจะประกอบด้วยเงิน 4 ส่วนคือ
1.เงินสะสม (เงินที่เรายินยอมให้หักจากเงินเดือนเพื่อออม)  ถือเป็นต้นทุนของเราเอง
2.เงินสมทบ (เงินที่นายจ้างช่วยออมอีกส่วนหนึ่ง)
3.ผลประโยชน์จากเงินสะสม กรณีที่มีกำไรจากการนำเงินไปลงทุน
4.ผลประโยชน์จากเงินสมทบ กรณีที่มีกำไรจากการนำเงินไปลงทุน
การคำนวณภาษี เราจะนำเฉพาะ เงินสมทบ และผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสมและเงินสมทบ ไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนเงินสะสมจะไม่นำมาคิดด้วย ซึ่งสามารถแบ่งการคำนวณได้เป็น 2 แบบ ตามระยะเวลาทำงานได้ ดังนี้
1. กรณีทำงานน้อยกว่า 5 ปี
ต้องนำเอาเงินที่ได้จากกองทุน ในส่วนของเงินสมทบ และเงินผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสมและเงินสมทบ ไปรวมกับเงินได้ทั้งปี เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ
2. กรณีทำงานมากกว่า 5 ปี
สามารถเลือกได้ว่าจะนำเอาเงินดังกล่าวไปคำนวณรวมกับเงินได้อื่นๆ หรือไม่ (ทำให้เสียภาษีมากขึ้น) หรือเลือกได้ว่าจะนำไปแยกคำนวณต่างหาก (เสียภาษีน้อยกว่า) ซึ่งสามารถคำนวณดังนี้
2.1 นำเงินที่ได้จากกองทุน (เงินสมทบ + เงินผลประโยชน์ทีเกิดจากเงินสะสมและเงินสมทบ) หักด้วยค่าใช้จ่าย โดยเอาตัวเลข 7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน
2.2 เหลือเงินได้เท่าไหร่ ให้หักออกอีกครึ่งหนึ่ง
2.3 นำเงินที่เหลือไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ
ทั้งนี้ การคำนวณด้วยวิธีแยกยื่นในใบแนบนี้ จะคิดภาษีตั้งแต่บาทแรกของเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย โดยไม่มีการยกเว้น 150,000 บาทแรก
ตัวอย่างเช่น นายเอ เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและทำงานมาแล้ว 5 ปี ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาทั้งหมด 500,000 บาท โดยแบ่งเป็นเงินสะสม 150,000 บาท เงินสมทบ 150,000 บาท และผลประโยชน์จากเงินสะสมและเงินสมทบอีก 200,000 บาท เราสามารถแยกคิดภาษีในใบแนบต่างหาก ได้ดังนี้
o เงินได้ที่นำมาคิดภาษี = เงินสมทบ+ผลประโยชน์จากเงินสะสมและเงินสมทบ = 350,000 บาท
o หักค่าใช้จ่ายตามปี (7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน) = 7,000 x 5 = 35,000 เหลือ 350,000 – 35,000 = 315,000 บาท
o หักออกอีกครึ่งหนึ่งของเงินได้ที่เหลือ = 315,000 / 2 = 157,500 บาท
o คิดเป็นเงินได้สุทธิ = 157,500 บาท เสียภาษีฐาน 5% = 7,875 บาท
ส่วนนายบี เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและทำงานมาแล้ว 4 ปี ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาทั้งหมด -400,000 บาท โดยแบ่งเป็นเงินสะสม 120,000 บาท เงินสมทบ 120,000 บาท และผลประโยชน์จากเงินสะสมและเงินสมทบอีก 160,000 บาท เราสามารถคิดภาษีได้ดังนี้
o เงินได้ที่นำมาคิดภาษี = เงินสมทบ+ผลประโยชน์จากเงินสะสมและเงินสมทบ = 280,000 บาท
o ไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใด ๆ
o ต้องนำเอาเงินได้ดังกล่าว ไปรวมกับเงินได้อื่น ๆ เพื่อคำนวณภาษีตอนสิ้นปีด้วย
จะเห็นว่า อายุการทำงานมีผลต่อการคิดคำนวณภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นอย่างมาก ใครที่จะลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงต้องคิดให้ดี เพราะหากถอนเงินจากกองทุนออกมาก่อนกำหนด ก็จะมีภาระทางภาษีตามมาเป็นอย่างมาก
ดังนั้น หากไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนนั้นจริง ๆ ก็ควรจะโอนเงินก้อนนั้นไปเก็บไว้ยังกองทุนประเภท RMF for PVD เพื่อให้กองทุนได้เติบโตต่อไปไว้ใช้ยามเกษียณ สมกับเจตนารมณ์เริ่มแรกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจริง ๆ
โฆษณา