4 ธ.ค. 2020 เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ครม. พับแผน 'รถเก่าแลกรถใหม่' ดีแล้วหรือไม่ ?
The Serious - No free lunch, no free car
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นโยบายรถเก่าแลกรถใหม่ที่ใครหลาย ๆ คนกำลังรออย่างใจจดใจจ่อ ก่อนถอยรถคนใหม่ เอ้ย ! รถคันใหม่ก็ต้องพับโครงการไปตามระเบียบ
จากรายงานข่าวก็พบข้อเท็จจริงว่า กระทรวงอุตสาหกรรมที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ผู้คิดค้นนโยบายนี้ขึ้น กลับเป็นผู้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้หยุดการพิจารณานโยบายดังกล่าวด้วยตนเอง
โดยมีเหตุผลว่า
(1) ยังมีรายละเอียด 'ในทางปฏิบัติ' ที่ยังไม่สามารถสรุปได้ และ
(2) เพื่อไม่ให้เป็นที่สับสนแก่ประชาชนที่กำลังจะซื้อรถมารอนโยบายดังกล่าว
2
ซึ่งสอดคล้องกับรายงานข่าวในช่วงนี้ ที่ค่ายรถยนต์ต่าง 'บ่นระนาว' ว่าประชาชนแห่ทิ้งใบจองเพื่อรอนโยบายนี้อยู่
นั่นจึงเป็นจุดแรกที่เราจะต้องบอกก่อนเลยว่า 'รัฐบาลสอบตก' ในแง่การสื่อสารต่อสาธารณะ 'อย่างต่อเนื่อง' และ 'ตลอดมา' และอาจจะ 'ตลอดไป'
(เราก็ยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลเลือก 'ทีมด้านการสื่อสารองค์กร' กันอย่างไร เพราะปัญหาการสื่อสารของรัฐบาลนี้มีมาตั้งแต่รัฐบาล คสช. เลยก็ว่าได้)
1
เอาเป็นว่าเราจะข้ามเรื่องการสื่อสารไปอีกครั้ง ... แต่เราจะมาให้ความเห็น 'เชิงนโยบายเศรษฐกิจ' กันดีกว่าว่า การพับนโยบายดังกล่าว อาจจะเป็นเรื่องที่ดีก็ได้ ดังนี้
ประการแรก : ตลาดรถยนต์ในประเทศโดยรวมค่อย ๆ ฟื้นตัวแล้ว โดยตัวเลขยอดขายรถยนต์ในเดือน ก.ย. และ ต.ค. หดตัวน้อยลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ -3.5% และ -1.4% ตามลำดับ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ได้เลวร้ายมากนักในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้
1
ประการที่สอง: การที่รัฐบาลใช้คำอธิบายว่า ต้องการส่งเสริมรถยนต์ไฮบริด/รถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้น อาจไม่ถูกต้อง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมากรมสรรพสามิตรเอง ก็ได้มีการปรับลดภาษีรถยนต์ ไฮบริดและรถพลังไฟฟ้า ไปเรียบร้อยแล้ว (ผ่านการลดภาษีอย่างรุนแรง)
ประการที่สาม: ผลของการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรดังกล่าวเริ่มได้ผลแล้ว ดังจะเห็นได้จาก ค่ายรถยนต์ต่างพากันออกรถรุ่นใหม่ ใน Segment รองลงมาที่มีความเป็นไฮบริดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้าอัลติส Hybrid, ฮอนด้าซิตี้ Hybrid และนิสสันคิกส์ e-Power ซึ่งต่างเป็น Segment ที่ไม่เคยมี Hybrid มาก่อน
1
ประการที่สี่: แม้นโยบาย 'รถเก่าแลกรถใหม่' จะมีข้อดีที่สำคัญคือ การไม่สร้างความต้องการเทียม เมื่อเทียบกับนโยบายรถคันแรกในอดีต แต่นโยบายนี้จะมีข้อเสียที่สำคัญข้อใหม่คือ
นโยบายนี้จะเป็นการให้ประโยชน์แก่คนที่พอมีฐานะ หรือเคยได้ประโยชน์จากรัฐไปแล้ว เนื่องจากผู้ที่มีรถยนต์ส่วนตัวอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสินทรัพย์ถาวร/กึ่งถาวร ก็มักไม่ใช่ผู้ที่มีรายได้น้อย และยังอาจได้สิทธิประโยชน์ตั้งแต่รถคันแรกอยู่แล้วด้วยซ้ำไป
นั่นหมายความว่า การออกนโยบาย 'รถเก่าแลกรถใหม่' ยิ่งเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางเม็ดเงินแก่บุคคลเฉพาะกลุ่มอยู่ดี
ทั้งหมดนี้ ยังไม่ต้องพูดถึง การสูญเสียรายได้ภาษีของรัฐสนับสนุนธุรกิจที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ ปัญหาในทางปฏิบัติ การบิดเบือนพฤติกรรมผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม แต่อย่างใด...
นั่นก็หมายความว่า การพับโครงการจากข้อผิดพลาดในครั้งนี้ อาจจะดีแล้วก็ได้...
1
แล้วท่านมีความเห็นอย่างไร เชิญทุกท่านแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ ...
#รถเก่าแลกรถใหม่ #ครมถอยทับ
#นโยบายเศรษฐกิจ #นโยบายเศรษฐกิจ
ติดตามเราบน Facebook : www.facebook.com/theseriousth
โฆษณา