11 ธ.ค. 2020 เวลา 23:40 • ศิลปะ & ออกแบบ
"เคยหนีไปหา Topic ใหม่ๆ ไปสนใจเรื่องอื่น แต่สุดท้ายเรามีความสุขที่ได้ทำเรื่องดอกไม้" 🌸🌸🌸
🌸 ปั้น –นภัสชล ตั้งนุกูลกิจ นักออกแบบที่เล่าเรื่อง ‘ดอกไม้’ ด้วยกรรไกรและกระดาษ
เรารู้จัก ปั้น –นภัสชล ตั้งนุกูลกิจ หรือ Papeterie ครั้งแรกในนิทรรศการ Lost in the Greenland ซึ่งเคยจัดแสดงที่ The Jam Factory เมื่อไม่นานมานี้
ปั้นเป็นศิลปิน – นักออกแบบ ที่ใช้กรรไกรวาดลวดลาย เลื้อยไหลจินตนาการไปบนแผ่นกระดาษ จนออกมาเป็นรูปร่างได้ตามใจ ยิ่งเป็นดอกไม้ด้วยแล้ว เธอศึกษา ลงลึก หลงใหลอย่างเห็นได้ชัด
จากนิทรรศการที่ผ่านมา เธอใช้เวลากว่าหนึ่งปีเจาะลึกดอกไม้ในเขตป่า 3 ประเภท ศึกษาทั้งรูปร่าง หน้าตา สีสัน จนได้ผลงานที่ละเอียดอ่อน งดงามอย่างที่เห็น
ในงานนิทรรศการวันนั้น เราได้คุยกับปั้นนิดหน่อย เราบอกเธอว่าคุยแค่เรื่องงานนิทรรศการนี้ก็พอนะ เรื่องราวอื่นๆ ในชีวิตเราขอนัดสัมภาษณ์อีกครั้ง จะได้มีเวลานั่งคุยกัน
ไม่นานหลังจากนั้น ปั้นนัดเราไปสตูดิโอที่ซอยสวนพลู – กรุงเทพฯ เมื่อเราไปถึง คุณแม่และปั้นต้อนรับเราอย่างดี บนโต๊ะมีทั้งขนม ผลไม้ น้ำท่าพร้อม เราวางกระเป๋า หยิบเครื่องอัดเสียงวางบนโต๊ะ แล้วมาเริ่มทำความรู้จักเธอในนาทีหลังจากนี้
*อย่าแปลกใจถ้าปั้นแทน ‘ดอกไม้’ ว่า ‘น้อง’ เพราะแววตาของเธอทะนุถนอมดอกไม้ทุกดอก
🌸 1
เริ่ม
ปั้นเรียนจบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกเซรามิก ที่เลือกเรียนเซรามิก เพราะว่าชอบงานที่จับต้องได้ ชอบงานคราฟท์ทุกแบบ ย้อนกลับไปช่วงที่เรียนติวก่อนเข้าจุฬาฯ รุ่นพี่ที่ติวให้กับเธอชอบการทำงานกับกระดาษ ตอนนั้นเธอก็ไปช่วยเขาทำงานด้วยความรู้สึกว่าสนุกดี หลังจากเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ปั้นก็ยังทำงานกับกระดาษไปเรื่อยๆ เป็นของขวัญกระจุ๊กกระจิ๊กให้เพื่อนตามเทศกาลต่างๆ
“พอเรียนปี 2 มีวิชานึงชื่อว่า ‘คัลเลอร์’ อาจารย์ให้ทำไฟนอลโปรเจกต์ โดยมีโจทย์เป็น ‘หนังสือนิทานเด็ก’ จะใช้เทคนิคอะไรก็ได้ ก็เลยเลือกตัดกระดาษดีกว่า เพราะเราไม่ค่อยชอบวาดรูป หลังจากทำไป ฟีดแบ็กค่อนข้างดี เราเริ่มมองเห็นลู่ทางของงานนี้มากขึ้น เพื่อนบอกให้เปิด Instagram เราเริ่มโพสต์งานลงไป หลังจากนั้นมีงานเข้ามาเรื่อยๆ ตั้งแต่ออกแบบการ์ด ทำหน้ากากในงานแต่งงาน ไปจนถึงงานตกแต่งร้าน”
1
“ส่วนงานเซรามิกก็ยังเรียนต่อไป แต่ก็คิดว่ามันไม่เหมาะกับเรา เพราะมันมีขั้นตอนเยอะ มีปัจจัยเยอะ ถ้าทำจาก 1 – 100 แล้วเราทำพังตอนสุดท้าย ก็ต้องกลับไปทำใหม่ (ยิ้ม) เลยคิดว่าคงไม่ใช่ทางเรา พอเรียนจบก็มีงานมารอแล้ว จึงตั้งใจทำงานกระดาษเต็มตัว”
🌸 2
รู้จักดอกไม้
หลังจากทำงานมาสักระยะหนึ่ง ปั้นเกิดความรู้สึกว่าเธอเริ่มอิ่มตัว ตอนนั้นเธอถึงกับถามตัวเองว่า นอกจากงานกระดาษแล้วมีอะไรอีกที่เธอชอบ “ก็ชอบ ‘ดอกไม้’ ชอบมากๆ มาตั้งแต่เด็กเลยค่ะ เลยไปสมัครทำงานร้านดอกไม้ชื่อว่า Plant House ตอนแรกว่าจะไปสมัครเป็นพาร์ทไทม์ แต่พอไปสัมภาษณ์แล้วดูน่าสนุก เลยตัดสินใจทำฟูลไทม์ที่นั่น 1 ปีเต็ม”
“สำหรับเรา การไปทำงานที่ร้านมันทำให้มุมมองในงานเปลี่ยนไป วิธีการทำงานก็เปลี่ยน จากเมื่อก่อนเราเป็นคนที่จะเอาอะไรก็ต้องเอาให้ได้ เอาให้สุด แต่พอเรามาทำงาน เราได้เห็นน้อง (ดอกไม้) ในแง่มุมอื่น เราได้เห็นน้องทุกช่วงการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ดอกตูม ไปจนถึงบานมากกกกก บางครั้งใช้น้องไม่หมดก็ต้องเอามาทำดอกไม้แห้ง เราเลยได้เห็นโครงสร้างทั้งหมด ทำให้เราอินมากขึ้น จากที่เรามองว่าสวยอยู่แล้ว ก็รู้สึกว่าน้องมีชีวิตจริงๆ มีความรู้สึกมากขึ้นในตัวเรา”
“ความรู้สึกของเรา ถึงแม้จะเป็นดอกเดียวกัน พันธุ์เดียวกัน หรือขึ้นจากต้นเดียวกัน น้องไม่ได้เหมือนกัน ทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับการตัดกระดาษ”
🌸 3
เข้าใจมากขึ้น
“เราว่าเราเข้าใจน้องมากขึ้น เห็นลึกขึ้น จากปกติเราเห็นแค่ชั้น 1 แต่พอเราไปทำงาน เราจินตนาการไปถึง ชั้น 2 ชั้น 3 ของดอกไม้ได้ ก่อนไปทำงานเรามองภาพว่าน้องต้องเป็นแบบนี้นะ แต่พอไปทำงานที่ร้านแล้วเราได้ลองจับ ทำให้รู้สึกถึงเท็กเจอร์จริงๆ เราซึมซับโดยไม่รู้ตัว ความสุขตอนนั้นคือการได้ไปเจอน้องๆ ในทุกวัน”
“ที่ร้านจะมีวันดอกไม้ล๊อตใหม่ลง จะตื่นเต้นมากเวลามีน้องมาลง ยิ่งถ้ามีพันธุ์ใหม่ มีสีใหม่เข้ามาก็จะรู้สึกตื่นเต้นมาก ถ่ายรูปเก็บไว้เยอะมาก รู้สึกดีใจที่ได้เจอ ได้เห็นพัฒนาการของน้อง บางดอกก็จะมาแบบตูมเลย พอสุดสัปดาห์ก็จะบานสวยพอดี หรือบางดอกบานมาแล้วสุดสัปดาห์ก็แห้งเหี่ยว ในแต่ฤดูกาลก็จะมีดอกไม้ไม่เหมือนกัน รู้สึกไม่เคยเบื่อเลย มีความสุขที่ได้เห็นน้องทุกวัน ทำให้การทำงาน 1 ปีที่ร้านสนุกมาก”
🌸 4
รักน้องเป็นพิเศษ
เมื่อเราถามว่า คนที่รักดอกไม้มากอย่างเธอ ดอกไม้อะไรที่มีความรู้สึกพิเศษด้วยมากที่สุด เธอบอกว่าจริงๆ แล้ว เธอชอบมันทุกอย่าง แต่มีอยู่ 3 อย่างที่เธอชอบมากที่สุด
“ชอบหมดเลยนะ แต่ที่ชอบมากๆ ก็ Pansy (ดอกหน้าแมว) อันนี้ชอบมากๆ น่ารักมากๆ เพราะตอนเด็กๆ เราชอบการ์ตูนเรื่อง Alice in Wonderland ส่วนช่วงหลังเริ่มชอบดอกที่เอ็กโซติกหน่อย อย่าง Passiflora (กระทกรก) น้องจะเป็นตระกูลเดียวกับเสาวรส ที่ชอบเพราะว่าดอกสวยมากแต่มีผลเป็นอีกอย่าง ความเป็นธรรมชาติมันเจ๋งมาก ส่วนอีกดอกที่ชอบตอนทำงานที่ร้านคือ Nutan ดอกไม้โซนร้อนที่หลายคนคุ้นตาเพราะน้องถูกหยิบมาถ่ายแฟชั่นมากขึ้น”
🌸 5
กระดาษ
ไม่ใช่แค่ดอกไม้ กระดาษคือวัสดุสำคัญที่ปั้นใช้ทำงาน “กระดาษมีหลายแบบมากค่ะ เดี๋ยวไปหยิบมาให้ดู (ลุกขึ้นไปหยิบกระดาษ) เนี่ยค่ะ (ฉีกให้ดู) กระดาษที่ไม่ดีฉีกแล้วจะมีสีขาว เพราะเขาย้อมแค่ส่วนผิวไม่ได้ย้อมเข้าไปถึงเยื่อกระดาษ ส่วนอีกแบบที่เราใช้เขาย้อมถึงข้างใน”
“ก่อนหน้านี้ใช้กระดาษยี่ห้อ ‘ฟาเบรียโน่’ กับ ‘แคนสัน’ ก็รู้สึกดีนะ แต่ช่วงหลังๆ ได้ทดลองกระดาษเยอะขึ้น จนมาเจอกระดาษยี่ห้อ ‘ทาเคโอะ’ แบรนด์ญี่ปุ่นที่ผสมเนื้อคอตตอนเข้าไปด้วย ทำให้กระดาษมีความยืดหยุ่นมากกว่าปกตินิดนึง ตอนนี้ชอบใช้มาก มีความหนา 102 แกรม – 120 แกรม อีกอย่าง เราชอบที่ทาเคโอะมีชาร์ตสีให้ใช้เยอะกว่า 2 แบรนด์แรก มีเท็กเจอร์ที่หลากหลายมากกว่า อย่างสีขาวถ้าไปดูในเว็บเขาจะมีให้เลือกถึง 20 แบบ เราไม่ได้บอกว่าแบบอื่นไม่ดีนะ เลือกตามสไตล์ที่ชอบได้เลย”
“ที่สตูดิโอก็จะมีกระดาษหลายสีมาก ตอนแรกก็ซื้อสีที่ชอบ แต่พอได้แสดงงาน Lost in the Greenland เลยซื้อมาทุกสี เพราะรู้สึกว่าบางสีเราอาจจะไม่ชอบ แต่เวลามาทำงานจริงเราได้ใช้ เหมือนมันมีบางอย่างที่ใช้ได้ มันก็ทำให้งานสนุกขึ้นนะเวลามีสีให้เลือกเยอะ แค่ปรับสีนิดเดียวก็ทำให้อุณหภูมิงานเปลี่ยนแล้ว”
🌸 6
ชอบตัด
ปั้นบอกว่า เธอชอบเท็กเจอร์ของกระดาษ มีความสุขทุกครั้งที่ได้จับกระดาษใหม่ ชอบตัด ชอบความรู้สึกที่ได้เห็นกระดาษแผ่นหนึ่งจนมาเป็นงานชิ้นใหม่ๆ
“การตัดกระดาษเป็นกระบวนการที่เราชอบที่สุด บอกไม่ได้ว่าทำไมเหมือนกัน เราชอบตัดกระดาษเล่นบ่อยมาก บางครั้งก็ตัดไปเรื่อย ไม่ได้ใช้หรอก เหมือนดูทีวี นั่งดูซีรีส์ก็ตัดไปเรื่อย ถ้าบางคนอ่านหนังสือเป็นงานอดิเรก เราก็ตัดกระดาษเป็นงานอดิเรก”
“เราว่ากระดาษมันเจ๋ง แค่แผ่นเดียวสามารถทำเป็นอะไรที่หลากหลายมาก ส่วนตัวคิดว่ามันไม่มีอะไรมากด้วย แค่กรรไกรกับกระดาษเท่านั้น อยู่ที่ไหนก็ตัดได้”
🌸 7
ไหลไปกับจินตนาการ
“เวลาเราทำงานก็จะเหมือนคน Drawing แต่เราแค่ตัดในสิ่งที่คิดออกมา ตัดสดๆ ตามความรู้สึก การที่มีกระดาษสีให้เลือกเยอะๆ มันทำให้งานของเราใกล้เคียงกับความคิดมากขึ้น อย่างเวลาจะทำดอกไม้อะไรสักดอกนึงเราก็จะดูโครงสร้างแล้วหยิบกระดาษที่คิดว่าต้องใช้มา ก็ทำให้งานสนุกขึ้น”
สไตล์การทำงานของปั้นจะไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้อะไรบ้าง อย่างช่วงนิทรรศการ Lost in the Greenland เธอเล่าให้เราฟังว่าจะมีกล่องใบหนึ่งไว้เก็บกระดาษต่างๆ ทั้งกระดาษสา กระดาษไข หรือกระดาษเลื่อมแยกไว้เป็นส่วนๆ “ปั้นชอบลองวัสดุเยอะๆ เลยชอบเก็บทุกอย่างไว้ใกล้ตัว บางครั้งสั่งของจาก IKEA แล้วกระดาษที่ห่อมาสวยมาก ก็จะเก็บไว้ใช้ คือเราปรับเปลี่ยนไปเรื่อยตามที่มองว่าใช้ได้”
“เราไม่ได้คิดว่าต้องทำให้เหมือนนะ แต่ทำในสิ่งที่เห็น คนอื่นอาจจะเห็นไม่เหมือนเรา อาจจะเห็นสีไม่เหมือนเราก็ได้ มันไม่มีอะไรผิด บางครั้งขึ้นงานไว้แต่ยังไม่ถูกใจก็ไม่ทิ้งนะ เราเก็บไว้เผื่อจะใช้ได้ในอนาคต รู้สึกว่าทำแบบนี้สนุกดี ทำให้งานไม่น่าเบื่อด้วย”
🌸 8
แรงบันดาลใจ
แรงบันดาลใจของปั้นส่วนมากจะเกิดจากสิ่งทั่วไปในชีวิตประจำวัน ลึกๆ แล้วเธอเป็นคนชอบงานสถาปัตยกรรมมาก “อย่างตอนไปรัสเซีย เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก ดีเทลทุกอย่างบ้ามาก มีแต่สวยๆๆๆ กับรวยๆๆๆ ปราสาทของเขาบ้ามาก ตอนไปออสเตรียกับเช็คว่าบ้าแล้ว แต่ที่รัสเซียบ้ากว่า รู้สึกว่าเจ๋งมากๆ ที่คนเราสามารถคิดอะไรได้ขนาดนั้น”
“อีกอย่างเวลาไปดูงาน เราจะชอบดูการใช้สีงานเพ้นท์ งานผ้า ชอบดู Material อย่างศิลปินไทย เราชอบพี่ยูน (ยูน -ปัณพัท เตชเมธากุล) ที่วาดงานให้ GUCCI เราชอบงานพี่เขามากเลย รู้สึกว่าแฟนซีและมีพลังมาก ส่วนอีกคนที่ชอบคือพี่นักรบ (นักรบ มูลมานัส) ที่ทำงานคอลลาจ เราเป็นคนที่ชอบงานคอลลาจ พี่นักรบทำงานได้เก่งมาก หลายคนน่าจะเห็นผลงานเขามาบ้างเหมือนกันเพราะเขาทำปกหนังสือบ่อย”
🌸 9
เคารพตัวเอง
ปั้นเป็นคนที่ไม่ชอบกำหนดตัวเอง การทำงานของเธอเริ่มต้นจากความสนใจในสิ่งนั้น “เราเคยถามตัวเองเหมือนกันนะว่าเราต้องจำกัดตัวเองไหม แต่สุดท้ายก็ทำงานตามใจตัวเองแหละ คิดว่าการเคารพตัวเองดีที่สุดแล้ว ไม่อยากให้อะไรมาเป็นกรอบว่าเราต้องทำแบบนั้น ต้องทำแบบนี้ ถ้าในอนาคตมีความสนใจด้านอื่นก็คงทำแหละ”
“ส่วนตอนนี้ก็เริ่มสนใจเรื่องเห็ดกับปะการัง ในแวบแรกก็ชอบรูปทรงของเขา… เป็นคนแบบ แค่ชอบ รู้สึกชอบแค่นี้เลย เหตุผลน้อยมาก (หัวเราะ) แต่คงเหมือนดอกไม้ที่เริ่มจากความชอบก่อน พอรู้จักเขามากขึ้นก็จะยิ่งชอบในหลายๆ เรื่องมากขึ้นไปอีก”
🌸ติดตามผลงาน ปั้น – นภัสชล ตั้งนุกูลกิจ หรือ p.papeterie ได้ที่
🌞 ติดตาม Breakfast and Friends ได้ที่
โฆษณา