13 ธ.ค. 2020 เวลา 04:00 • ปรัชญา
อันอ้อยตาลหวานลิ้น..แล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหู...มิรู้หาย
🌺🌺🌺🌺🌺🌺🌺🌺🌺🌺🌺
แม้เจ็บอื่นหมื่นแสน...จะแคลนคลาย
เจ็บจนตายก็เพราะเหน็บ...ให้เจ็บใจ
...................................................
วันนี้มากับบทกลอนเกี่ยวกับพี่อ้อย เอ้ย! ต้นอ้อย ต่างหาก
ต้นอ้อย
ต้นไม้ที่ให้ความหวาน และช่วยต่อลมหายใจให้เกษตรกรไทยได้ลืมตาอ้าปาก
อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ แม้ผมเองก็ได้อ้อยนี่เอง ที่ทำให้ได้เรียนหนังสือ
เพราะพ่อของผมปลูกอ้อยเป็นอาชีพหลัก ตั้งแต่ผมจำความได้ก็ได้เจอต้นอ้อยอยู่ในไร่แล้ว
สมัยก่อนเราผลิตอ้อยสดขายไปให้ผู้บริโภคในตลาดผ่านพ่อค้าคนกลางที่จะมารับซื้อผลผลิตถึงบ้าน
ต่อมาเราก็ขนเอาไปขายให้กับผู้คนที่แวะผ่านไปมาแถวหมู่บ้านย่านชุมชน
เพราะสมัยก่อนแถวบ้านนอกจะไม่ค่อยมีขนมขบเคี้ยวที่หลากหลายมาวางขายเหมือนในปัจจุบัน
อ้อย จึงเป็นที่นิยมบริโภคของคนทั่วไป ทุกเพศ ทุกวัย อ้อย ก็นับว่าเป็นของขายดีในสมัยนั้นทีเดียว
และถ้าปีไหนมีอ้อยออกมากจนขายไม่ทัน พ่อกับญาติๆของพ่อจะร่วมกันทำน้ำอ้อยขาย เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ทำรายได้ให้กับครอบครัว
แต่งานทำน้ำอ้อยเป็นงานที่หนักมาก และต้องใช้แรงงานคนช่วยกันทำหลายๆคนทำอย่างต่อเนื่อง
และจะหยุดไม่ได้ จนกว่าน้ำอ้อยจะลงจากเตาสู่แม่พิมพ์
ระยะหลังพ่อจึงหันมาทำอ้อยลำขายเพียงอย่างเดียว
อ้อย...เป็นตัวแทนของอะไรที่หวานๆ
ดังนั้นใครจะแต่งงาน ก็ต้องใช้อ้อยเป็นเครื่องหมายของชีวิตคู่ที่นอกจากจะหวานแล้ว
ยังยืดยาว อีกด้วย
อ้อยยังถูกใช้ในงานพิธีต่างๆ อีกหลายงาน เช่น งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ งานบุญต่างไป ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า
ก็จะเห็นอ้อยเป็นสิ่งที่ใช้ในงานอยู่เสมอๆ
วันนี้ผมจึงขอนำเสนอเรื่องของอ้อย ที่ผมปลูกไว้ในสวน เพื่อระลึกถึง อ้อย ที่พ่อเคยปลูก
แต่ตอนนี้มันกลายเป็นเพียงต้นไม้เพื่อความทรงจำไปเสียแล้ว
โฆษณา