27 ธ.ค. 2020 เวลา 00:45 • ท่องเที่ยว
ปราสาทเมืองต่ำ ..ความงดงามบนความแข็งกระด้างของแผ่นศิลา @ บุรีรัมย์
ปราสาทเมืองต่ำ ... เป็นศาสนสถานที่ก่อด้วยอิฐ ในศิลปะแบบขอมบาปวน ตั้งอยู่ ณ พื้นราบเบื้องล่างของเขาพนมรุ้ง สร้างร่วมสมัยกับปราสาทพนมรุ้ง คือในราว พุทธศตวรรษที่ 16 –17 (พ.ศ. 1510-1630) หรือราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 (กรมศิลปากร 2536:127-130)
สร้างตามคติศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย เพื่อเป็นศาสนสถานของชุมชนเพื่อประกอบพิธีกรรมถวายพระศิวะ เพราะพบศิวลึงค์ขนาดใหญ่ที่ปราสาทประธาน และมีภาพพระศิวะและพระอุมาที่ทับหลังของปราสาทแถวหน้าด้านทิศเหนือ จากจารึกที่พบบริเวณโคปุระชั้นนอก มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงเทพสององค์ที่สถิตอยู่ที่ปราสาทแห่งนี้ ซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์แหล่งน้ำและพืชพันธุ์ธัญญาหารของชุมชน แสดงให้เห็นว่าปราสาทเมืองต่ำมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนแถบนี้
กำแพงแก้วและซุ้มประตูของปราสาทเมืองต่ำ เป็นหินทราย ส่วนกำแพงด้านนอกเป็นศิลาแลง
ปราสาทหินแห่งนี้มีการวางผังที่แฝงความหมายตามคติการสร้างศาสนสถานขอมที่เกี่ยวกับความเชื่อ ในเรื่องแกนกลางของจักรวาลอันสัมพันธ์กับความเป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยมีปราสาททั้ง 5 หลังที่ยกพื้นขึ้นเป็นศูนย์กลาง เปรียบดังเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชมพูทวีป ที่เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลและเป็นที่สถิตของเหล่าเทพยาดาตามคติโบราณ
เนินปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีสระน้ำล้อมรอบ ... เปรียบดั่งมหาสมุทรที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ
ลักษณะสถาปัตยกรรมของปราสาทเมืองต่ำด้านในนั้น ได้รับการก่อสร้างด้วยฝีมือช่างในระดับช่างหลวง ไม่ด้อยกว่าปราสาทพนมรุ้งเลย
ความโดดเด่นของปราสาทเมืองต่ำ คือ มีการจำหลักส่วนต่างๆด้วยลวดลายอันประณีต สวยงาม น่าหลงใหล ซึ่งลายจำหลักส่วนใหญ่ มีทั้งลวดลายพรรณพฤกษาที่กรอบประตูหน้าบัน ทับหลังของโคปุระของกำแพงชั้นนอก และลวดลายที่เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์และฮินดู ซึ่งปรากฏอยู่ตามหน้าบันและทับหลังของซุ้มประตูและปราสาท
ปราสาทเมืองต่ำ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างหลัก คือ
กลุ่มปราสาททั้งห้า
กลุ่มปราสาททั้งห้า … เรียงเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชั้นเดียว แผนผังของปรางค์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ตัวปรางค์ก่อด้วยอิฐขัดเรียบ .. ประกอบด้วยปรางค์ประธาน ซึ่งพังทลายลงมาเหลือเพียงส่วนฐาน ส่วนปราสาทบริวารที่เหลืออีกสี่องค์ได้รับการบูรณะแล้ว แต่ละองค์มีทางเข้าเฉพาะด้านทิศตะวันออก ส่วนอีกสามด้านจำหลักลายเป็นประตูหลอก ประตูทางเข้าตกแต่งด้วยเสาประดับกรอบประตูรูปแปดเหลี่ยมจำหลักลาย เรือนธาตุหรือส่วนกลางของปราสาทก่อทึบ มีรายละเอียดดังนี้
ปรางค์ประธาน มีขนาดใหญ่กว่าปรางค์บริวารอีก 4 องค์ ตั้งอยู่ตรงกลางเยื้องมาข้างหน้าเล็กน้อย ระหว่างปรางค์บริวารทั้งสอง ทับหลังเป็นหินทราย จำหลักภาพเทวะนั่งยกเข่าซ้ายอยู่บนแท่นเหนือเศียรเกียติมุข ส่วนบนของทับหลังจำหลักภาพฤาษีนั่งประนมมือเป็นแถว จำนวน 7 ตน ปัจจุบันพังทลายเหลือเพียงส่วนฐาน
การขุดแต่งบริเวณปรางค์ประธานได้พบทับหลังประตูมุขปรางค์ สลักเป็นภาพเทพถือดอกบัวขาบประทับนั่งเหนือหน้ากาล แวดล้อมด้วยสตรีเป็นบริวาร หน้าบันสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนทับหลังประตูปรางค์สลักเป็นเทพนั่งชันเข่าเหนือหน้ากาล และยังได้พบชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นประดับฐานอีกด้วย แสดงว่าปรางค์เหล่านี้ได้เคยมีปูนฉาบและปั้นปูนเป็นลวดลายประดับตกแต่งอย่างงดงาม
- ปราสาทแถวหน้าด้านทิศเหนือ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยม ขนาดประมาณ 5 x 5 ม. มีประตูทางด้านทิศตะวันออก เหนือประตูทางเข้ามีทับหลังหินทรายจำหลักภาพพระอิศวรทรงโคนนทิ พระหัตถ์ซ้ายอุ้มนางปราพตี พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูลโคนนทีนี้ยืนอยู่บนแท่นเหนือเศียรเกียรติมุขซึ่งคายท่อนพวงมาลัย ขอบบนสุดจำหลักภาพฤาษีนั่งรัดเข่าประนมมือ จำนวน 10 ตน ถัดขึ้นไปจากส่วนเรือนธาตุเป็นยอดปราสาทซึ่งทำซ้อนกันขึ้นไปห้าชั้น แต่หักพังไปเหลือเพียงสามชั้นเท่านั้น
- ปราสาทแถวหน้าด้านทิศใต้ มีลักษณะเหมือนกับปราสาท ทางทิศเหนือ มีประตูทางด้านทิศตะวันออก ทับหลังหินทราย จำหลักภาพเทวะนั่งชันเข่าขวาอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข ซึ่งคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้าง ขอบบนของทับหลังจำหลักภาพฤาษีนั่งชันเข่าจำนวน 9 ตนอยู่ภายในซุ้ม ส่วนยอดปราสาทเหลือเพียงสามชั้นเช่นเดียวกัน
- ปราสาทแถวหลังด้านทิศเหนือ มีลักษณะคล้ายปราสาทแถวหน้า
ภายในห้องเรือนธาตุมีฐานของรูปเคารพเป็นหินทรายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทับหลังจำหลักเป็นรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ
- ปราสาทแถวหลังด้านทิศใต้ ประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ทับหลังหินทรายจำหลักภาพพระอรุณทรงหงส์ประทับอยู่ด้านบน อยู่เหนือเศียรเกียรติมุขที่กำลังคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองด้าน บริเวณลานด้านหลังของปราสาทแถวหลัง มีชิ้นส่วนของบัวยอดปราสาทตั้งไว้บนศิลาแลง บัวยอดนี้ทำจากหินทราย จำหลักเป็นรูปบัวกลุ่มสามชั้น ทว่าไม่ได้ยกขึ้นติดตั้งไว้บนปราสาท เพราะยอดปราสาทแต่ละองค์ได้หักพังไปแล้ว
ประติมากรรมที่เห็นในรูปเรียกว่า กลศ อ่านว่า กะ-ละ-สะ หมายถึง หม้อน้ำมนต์ ที่มองเห็นในภาพนี้ ส่วนบนชำรุดเสียหายไปแล้ว กลึงและสลักรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นรูปดอกบัวบาน ซ้อนลดหลั่น รูปดอกบัว
ชุดบัวบานในทรงคลุ่มนี้ นักวิชาการชาวฝรั่งเศสเรียกตามคำศัพท์จากต้นแบบคือศิลปะอินเดียโบราณ ว่า “kalasa”
 
โคปุระและระเบียงคดชั้นนอก
ตั้งอยู่รอบนอกห่างจากสระน้ำประมาณ 10 เมตร เป็นกำแพงล้อมรอบปราสาทชั้นใน ก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยม กึ่งกลางของกำแพงแต่ละด้านมีซุ้มประตูหรือโคปุระ ตรงมุมกำแพงด้านตะวันออกและตะวันตกทำเป็นซุ้มประตูขนาดเล็ก ตกแต่งด้วยทับหลังและเสาติดผนังจำหลักลาย บนสันกำแพงเซาะเป็นรางตื้น ๆ สำหรับวางท่อหินสี่เหลี่ยมสี่ด้านทำเป็นซุ้มประตูจตุรมุข มีประตูด้านละ 3 ช่องมุงหลังคาด้วยหินทรายโค้งเป็นรูปประทุนเรือ
ทับหลังหินทรายเหนือประตูของซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกซึ่กกลางหน้าบันจำหลักเป็นรูปหน้ากาล มีเทพนั่งชันเข่าอยู่ด้านบน อยู่เหนือเศียรเกียรติมุข ส่วนตรงปลายทำเป็นรูปนาคห้าเศียรคายพวงอุบะ มีทับหลังซึ่งทำเป็นรูปหน้ากาลเช่นกัน โดยเชื่อว่าสามารถป้องกันสิ่งชั่วร้ายมิให้เข้าสู่ศาสนสถานได้
ส่วนโคปุระทางด้านใน (ด้านที่หันเข้ากลุ่มปราสาท) มีหน้าบันจำหลักเป็นลายพรรณพฤกษา ตรงกลางคือรูปหน้ากาลอยู่ใต้รูปสิงห์ มีช้างยืนขนาบข้าง และภาพพระกฤษณะปราบนาคกาลียะ
ซุ้มประตูด้านทิศตะวันตกมีร่องรอยแสดงว่ายังตกแต่งลวดลายไม่เสร็จ ระหว่างประตูทั้ง 3 ช่อง เป็นหน้าต่างหลอกติดลูกกรงลูกมะหวดเลียบกำแพงศิลาแลง มีทางเท้าปูด้วยก้อนศิลาแลง ขนาดกว้าง 1 เมตรรอบทุกด้าน
ซุ้มประตูด้านทิศเหนือและทิศใต้มีประตูเดียว ปีกทั้งสองข้างทำเป็นหน้าต่าง และตกแต่งลวดลายจำหลักเช่นกันหากเดินผ่านซุ้มประตูกลางของประตูด้านตะวันออกเข้าสู่โถงชั้นใน จะเห็นว่าที่พื้นติดกับขอบประตูมีการจำหลักลายคล้ายรูปปีกกา และที่พื้นกลางห้องโถงของโคปุระจำหลักเป็นรูปดอกบัวแปดกลีบ แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่แห่งนี้
สระหัวนาค
เมื่อผ่านโคปุระชั้นนอกเข้ามาจะพบกับสระน้ำรูปตัวแอล (L) ที่มีน้ำขังอยู่ตลอดปี ตั้งอยู่ที่ลานปราสาท สระน้ำทั้ง 4 ขอบสระกรุด้วยศิลาแลง กรุพื้นสระด้วยหินทรายซ้อนเป็นชั้น ๆ ปากผายก้นสอบลงไปจนถึงพื้นดินเดิม มุมสระประดับด้วยนาคห้าเศียรทำด้วยหินทราย เป็นนาค ๕ เศียรเกลี้ยง ๆ ไม่มีกระบัง หรือเครื่องประดับศีรษะ หรือลวดลายประดับหัว ซึ่งเป็นศิลปะในยุคเดียวกับที่เห็นที่ปราสาทพระวิหาร เรียกกันว่า “นาคหัวลิง”
ตรงขอบสระทำเป็นลำตัวนาคทอดหางยาวไปบรรจบกันตรงกลาง สองข้างบาทวิถี ระหว่างซุ้มประตูระเบียงคดกับซุ้มประตูกำแพงทุกด้านมีบันไดลงสู่สระน้ำอยู่ทั้งสองข้างทาง
เหนือบันไดทำเป็นเสาซุ้มประตูทั้งสองข้างปัจจุบันล้มลงทั้งหมด สันนิษฐานว่าสระน้ำนี้ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม และมีบทบาทสำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์โดยรอบศาสนสถาน
บรรณาลัย
มีสองหลังอยู่บริเวณลานชั้นใน เป็นซากอาคารยกพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าเข้าหากลุ่มปราสาท สันนิษฐานว่าเป็นที่เก็บคัมภีร์ ปัจจุบันยังเหลือส่วนประกอบของอาคาร คือส่วนฐานอาคาร กรอบหน้าต่าง กรอบประตู เสาประดับ และทับหลังจำหลักลายงเป็นทางเข้าหลัก ตกแต่งไว้อย่างสมบูรณ์และสวยงามที่สุด
ความโดดเด่นของปราสาทเมืองต่ำ อยู่ที่สถาปัตยกรรมและศิลปะที่สวยงามของโบราณสถาน และลายจำหลักที่อ่อนช้อย มีชีวิตชีวา ... ความงดงามบนความแข็งกระด้างของแผ่นศิลา
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา