28 ธ.ค. 2020 เวลา 00:11 • ท่องเที่ยว
ปราสาทพนมรุ้ง ทิพยวิมานบนปล่องภูเขาไฟ … บุรีรัมย์
ปราสาทหินพนมรุ้ง …ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้งซึ่งมีความสูง 1,320 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ในเขตตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นบนยอดภูเขาไฟที่ดับมาแล้วเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี
เชื่อกันว่า เดิมเป็นที่ตั้งของศาสนพื้นถิ่น เพื่อประกอบพิธีกรรมของชุมชนมาก่อนที่จะมีการก่อสร้างขึ้นเป็นปราสาท ที่มีความใหญ่โตงดงาม
ปราสาทหินพนมรุ้ง … สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 … จารึกต่างๆที่นักวิชาการได้อ่านและแปลพอจะสรุปได้ว่า พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 3 กษัตริย์แห่งเมืองพระนคร (พ.ศ.1487 – 1511)ได้สถาปนาเทวาลัยถวายพระอิศวรที่ขาพนมรุ้ง ซึ่งในสมัยแรกๆคงยังไม่ใหญ่โตนัก ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ.1511 – 1544) ได้ทรงอุทิศที่ดินและข้าทาสถวายแด่เทวสถานพนมรุ้ง ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 นเรนทราทิตย์ เจ้านายแห่งราชวงศ์มหิทรปุระที่ปกครองดินแดนแถบนี้ (ซึ่งเป็นต้นตระกูลของ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัด)ได้สร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นและได้ทรงบำเพ็ญพรตเป็นโยคี ณ ปราสาทพนมรุ้ง ก็เลยได้ยกฐานะเป็นเทวาลัยของศิวะเทพ .. ทำนองเดียวกับวัดหลวงของไทยสมัยปัจจุบัน
จารึกที่พบในปราสาทแห่งนี้อธิบายความหมายของชื่อ “พนมรุ้ง” ว่าหมายถึงภูเขาอันกว้างใหญ่ ซึ่งก็สอดคล้องกับประวัติการสร้างปราสาท ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณกลางศตวรรษที่ 15 เพื่ออุทิศแด่เทพเจ้าแห่งขุนเขา หรือพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุด ดังนั้น เขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ
ปราสาทหินพนมรุ้ง ได้จัดผังที่ประกอบไปด้วยหมู่อาคารต่างๆ ตั้งเรียงรายจากลาดเขา ต่อเนื่องขึ้นไปจนถึงองค์ปรางค์ประธานบนยอดสูงสุดของยอดเขาพนมรุ้ง ส่วนทางเดินขึ้นทอดไปสู่สะพานนาคราช คล้ายดั่งจุดเชื่อมโยงโลกมนุษย์กับแดนสวรรค์ นับเป็นโบราณสถานฝีมือชั้นเลิศชิ้นหนึ่ง ที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในครั้งอดีตของอาณาจักรขอมโบราณ
ปราสาทหินพนมรุ้ง มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างแพร่หลาย เมื่อมีกระแสเรียกร้องถึง ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ตั้งเคียงคู่กับปราสาทพนมรุ้งมานานนับพันปี แต่ในช่วงเวลาหลายสิบปีตั้งแต่ พ.ศ. 2516 กลับไปถูกจัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
หลังจากนั้น เกิดพลังเรียกร้องของประชาชนในการทวงคืนทับหลังองค์นี้ กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการเรียกร้องผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับความร่วมมือจากองค์กรต่างๆหลายชาติ .. ในปี 2531 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ก็ได้รับการส่งคืนมาแบบไม่มีเงื่อนไข
ยลโฉมปราสาทหินพนมรุ้ง
แผนผังของปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรง และเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง นั่นคือปราสาทประธานซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
บันไดต้นทาง .. การเดินเที่ยวชมปราสาทหินพนมรุ้ง หากเริ่มต้นด้วยการเดินจากด้านล่างขึ้นไปยังปราสาทองค์ประธานที่อยู่บนยอดเขาสูงสุด จะเริ่มจากบันไดทางขึ้น ที่เรียกว่า บันไดต้นทาง ก่อด้วยศิลาแลง เป็นชั้น ๆ สามชุด
สุดบันไดขึ้นมาเป็นชาลารูปกากบาท ยกพื้นตรงกลางสูงกว่าปีกสองข้างเล็กน้อย ปูด้วยศิลาแลง ซึ่งน่าจะเป็นฐานพลับพลารูปกากบาท ซึ่งเป็นซุ้มประตูทางเข้า (โคปุระชั้นนอก) ด่านแรกของปราสาท เช่นเดียวกับที่ปราสาทเขาพระวิหาร ซุ้มประตูนี้มีรูปทรงคล้ายกับซุ้มประตูระเบียงคด ด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทางเข้าด่านสุดท้าย (โคปุระชั้นใน)
พลับพลาเปลื้องเครื่อง
อยู่ด้านขวาของบันไดทางขึ้นสู่ศาสนสถาน เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง มีหินทรายประกอบบางส่วน เป็นที่พักจัดเตรียมองค์ของพระมหากษัตริย์ ก่อนเสด็จเข้าสู่การสักการะเทพเจ้า หรือประกอบพิธีกรรมในบริเวณศาสนสถาน
ทางดำเนิน
เป็นทางเดินเท้าที่ต่อมาจากบันไดชาลารูปกากบาทซึ่งอาจจะเป็นซุ้มประตูชั้นนอก ทอดไปยังบันไดขึ้นปราสาท พื้นปูด้วยศิลาแลง ขอบเป็นหินทราย ขอบถนนทั้งสองข้างประดับด้วยเสาหินทราย มียอดคล้ายดอกบัวตูม จำนวน ๖๘ ต้น ข้างละ 34 ต้นตั้งเรียงกันตรงกันทั้งสองแถว เรียกว่าเสานางเรียง ทอดตัวไปยังสะพานนาคราช
สะพานนาคราช
เป็นจุดเชื่อมทางดำเนินกับบันไดทางขึ้นปราสาท และทางสู่บารายหรือสระน้ำ ก่อด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาท ยกพื้นสูงจากถนน ๑.๕๐ เมตร ด้านหน้า และด้านข้างลดชั้น มีบันไดทำเป็นอัฒจันทร์รูปปีกกาทางขึ้น ส่วนด้านหลังเป็นชานกว้างเชื่อมต่อกับบันไดขึ้นปราสาท เสาและขอบสะพานสลักเป็นลวดลายสวยงาม
1
ราวสะพานทำเป็นตัวพญานาคห้าเศียร ซึ่งมีสภาพที่สวยงามสมบูรณ์มาก หันหน้าออกแผ่พังพานทั้งสี่ทิศ เครื่องประดับพญานาคเป็นแผ่นสลักลายในแนวนอน อันเป็นลักษณะศิลปกรรมแบบนครวัด ซึ่งมีอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ สะพานนาคราชนี้ ตามความเชื่อเป็นทางที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า
บันไดขึ้นปราสาท
ต่อจากสะพานนาคราชชั้นที่ 1เป็นทางเดินขึ้นไปยังลานยอดเขา ทำด้วยหินทรายกว้าง มีอยู่ ๕ ชั้น 52 ขั้น ระหว่างบันไดแต่ละชั้น มีชานพักสองข้าง ทำเป็นรูปฐานสี่เหลี่ยม ตั้งเป็นกระพักทั้งห้าชั้น บันไดและชานพักแต่ละชั้น ลดหลั่นกันขึ้นไปตามลำดับความสูง
1
ทางสู่ปราสาท
เมื่อถึงบันไดชั้นที่ ๕ จะมีชานชาลาโล่งกว้างอยู่หน้าระเบียงคด บันไดและชาลา มีระดับเดียวกัน ตั้งอยู่บนฐานเดิม ซึ่งได้ถมและปรับระดับไว้ ก่อขอบคันดินทลายด้วยศิลาแลง จากบันไดชั้นที่ ๕ ด้านหน้าก่อเป็นชั้นบันได ทั้งสองข้างของบันไดทางขึ้นชั้น ๔ ใช้เป็นทางเข้าสู่ปราสาทได้อีกทั้งสองทาง ถัดจากชานบันไดชั้น ๔ เข้าไปเป็นยกพื้นชั้นเดียวรูปกากบาท
สะพานนาคราชช่วงที่สอง สุดถนนกลางซึ่งเป็นทางเข้าหลัก มีสะพานนาคราชชั้นที่ 2 รับอยู่อีกช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะถึงซุ้มประตูกลางระเบียงคดชั้นใน
ซุ้มประตูและระเบียงชั้นใน
ก่อนถึงบริเวณที่ตั้งปราสาท จะมีระเบียงคดล้อมเป็นกำแพงชั้นใน ก่อเป็นห้องยาวต่อเนื่องกันเป็นวงรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีหลังคาคลุม แต่ไม่สามารถเดินทะลุโดยตลอด เพราะมีผนังกั้นเป็นช่วง ๆ
ระเบียงทั้งสี่ด้านมีซุ้มประตู (โคปุระ) ... ซุ้มประตูระเบียงเหล่านี้ มีการสลักลวดลายที่หน้าบันทับหลังเสาประตู กรอบประตูและเสาติดผนังที่ส่วนบนของผนังระเบียง ที่หน้าบันและทับหลังนิยมสลักเป็นภาพเล่าเรื่อง ส่วนอื่น ๆ นิยมสลักเป็นลายพรรณพฤกษา
สะพานนาคราชช่วงสุดท้าย
เป็นช่วงที่เชื่อมต่อระหว่างซุ้มประตู (โคปุระ) กับปรางค์ประธาน มีลักษณะเหมือนสะพานนาคราชช่วงก่อน ๆ แต่มีขนาดเล็กลง
ปรางค์ประธาน
ปรางค์ประธาน ... เป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุด ก่อด้วยหินทรายสีชมพู ตั้งอยู่ตรงกลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุม มีมุขสองชั้นทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ส่วนด้านหน้าคือทิศตะวันออก ทำเป็นรูปมุขโถง
ตัวปรางค์ประธานตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ สองชั้น ย่อมุมรับกับอาคาร ลักษณะของแผนผังดังกล่าว มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ เหมือนกันกับแผนผังของปราสาทหินพิมาย องค์ปรางค์ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วนคือ ส่วนฐาน เรือนธาตุ ส่วนหลังคาและเรือนยอด
บริเวณหน้าบันและทับหลังของปราสาทประธานทางทิศตะวันออก มีภาพสลักทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือพระวิษณุบนพญาอนันตนาคราช ณ ทะเลน้ำนมหรือเกษียรสมุทร มีดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภี มีพระพรหมพระผู้สร้างโลกเกิดขึ้นบนดอกบัว …
ส่วนบนเป็นรูปศิวนาฏราช หรือพระศิวะกำลังร่ายรำหนึ่งในร้อยแปดท่า อันเป็นบ่อเกิดวิชานาฏศิลป์ … ชาวฮินดูเชื่อว่า ท่าร่ายรำขององค์ศิวะ มีผลต่อการหมุนของโลกและจักรวาล
จากลักษณะของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของปรางค์ประธาน พอจะกำหนดอายุได้ว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗
เรือนธาตุ
คือส่วนที่ถัดขึ้นไปจากฐาน เป็นบริเวณที่เข้าไปภายในได้ ห้องภายในที่สำคัญคือ ห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุดของศาสนสถานคือ ศิวะลิงค์
ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่เพียงร่องรับน้ำสรง ท่อลอดพื้นห้อง และลานปราสาท ออกไปนอกระเบียงคดด้านทิศเหนือ เรียกว่า โสมสูตร ศิวะลึงค์ที่เห็นเป็นของที่ทำขึ้นใหม่
มองออกไปอีกด้าน จะเห็น โคนนทิ พาหนะของพระศิวะ
เทพประจำทิศ
ประดับอยู่บนแท่งศิลาทราย ทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ด้านบนสลักเป็นรูปดอกบัว (ปัทมะ) ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะใช้สำหรับวางเครื่องบูชา และแต่เดิมนั้น คงจะประดับอยู่เรียงรายรอบปราสาทประธาน … เทพผู้ประจำอยู่ตามทิศต่าง ๆ ทั้งแปดพระองค์ ประกอบไปด้วย ท้าวกุเวร ประจำทิศเหนือ พระอินทร์ ประจำทิศตะวันออก พระยม ประจำทิศใต้ พระวรุณ ประจำทิศตะวันตก พระอิศาน ประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พระนรฤติ ประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้ พระอัคนี ประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้ และพระพาย ประจำทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ส่วนหลังคา และเรือนยอด
ทำเป็นชั้น ๆ ที่เรียกว่า ชั้นเชิงบาตร ลดหลั่นกันขึ้นไป ๕ ชั้น ส่วนยอดบนสุดสลักเป็นกลีบบัว รองรับนพศูล ที่ชั้นเชิงบาตรแต่ละชั้น ประกอบด้วย ซุ้มและกลีบขนุนปรางค์สลักเป็นรูปเศียรนาค ฤาษี เทพสตรี และเทพประจำทิศต่างๆ กลีบขนุนที่ประดับตามมุมของแต่ละชั้นจะสลักให้สอบเอนไปทางด้านหลัง ทำให้ยอดปรางค์มีรูปทรงเป็นพุ่ม
ส่วนประกอบอื่น ๆ ขององค์ปรางค์ได้แก่มุขปรางค์ด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก มณฑป และมุขหน้า มุขหลังคาเป็นโค้งลดชั้นเช่นเดียวกับซุ้มประตู ระเบียงคดหรือโคปุระ ด้านในของหลังคา รวมทั้งของยอดปรางค์ น่าจะเคยมีเพดานไม้จำหลักลาย และอาจทาสีให้สวยงาม
องค์ปรางค์และส่วนประกอบทั้งหมด มีประตูรับกันเป็นชั้น ๆ อยู่ในแนวตรงกันทุกทิศ มณฑปและฉนวนมีประตูข้างทางทิศเหนือ และทิศใต้ข้างประตู
ประติมากรรมรูปทวารบาล
เท่าที่เห็นจะเหลือในลักษณะที่ค่อนข้างสมบูรณ์อยู่เพียงด้านเดียวของปราสาท ส่วนด้านอื่นๆหักพังไปเกือบหมดแล้ว
ส่วนต่าง ๆ ของปรางค์ประธาน ล้วนสลักลวดลายประดับ มีทั้งลวดลายพันธุ์พฤกษา ภาพเทพต่าง ๆ และภาพเล่าเรื่องตามคัมภีร์ทางศาสนา เช่น เรื่องมหาภารตยุทธ เรื่องของพระศิวะ เรื่องของพระวิษณุ เรื่องรามายณะ
ลายจำหลักรูปฤาษี ซึ่งเป็นภาคของการรักษาโรคภัยต่างๆของพระศิวะ
ห้องมุขปรางค์ทิศต่าง ๆ อีกสามด้าน .. มีร่องรอยว่าเคยมีแท่นฐานประติมากรรมตั้งอยู่
ปรางค์น้อย
ปรางค์สี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ตั้งอยู่ใกล้ปรางค์ประธานทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ … ก่อด้วยหินทราย ไม่มีส่วนยอดเหลืออยู่ กรุผนังด้านในด้วยศิลาแลง มีประตูเข้าได้ทางเดียวคือ ทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นด้านหน้า ส่วนด้านอื่น ๆ ก่อเป็นผนังทึบ แต่ทำเป็นประตูหลอก ภายในห้องมีแท่นฐานหินทราย สำหรับประดิษฐานรูปเคารพ
ภาพสลักประดับส่วนต่าง ๆ ขององค์ปรางค์สลักลวดลายพันธุ์พฤกษา เป็นส่วนใหญ่ มีภาพบุคคลขนาดเล็กอยู่กลางค่อนมาทางด้านล่าง เศียรนาคกรอบหน้าบันทำเป็นเศียรนาคเกลี้ยงไม่มีรัศมี ลักษณะลวดลายจำหลักบนทับหลังเป็นศิลปะเขมร แบบบาปวนเป็นส่วนใหญ่ มีศิลปะก่อนหน้านั้นคือ แบบเกรียงหรือคลังปนอยู่บ้าง ทำให้สามารถกำหนดอายุได้ว่า น่าจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖
วิหาร หรือ บรรณาลัย
มีอยู่สองหลัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปรางค์ประธานสองข้างสะพานนาคราช ช่วงสุดท้ายที่เชื่อมต่อระหว่างระเบียงชั้นในด้านหน้ากับปรางค์ประธาน เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสร้างด้วยศิลาแลง มีประตูเข้าออกด้านเดียว ภายในไม่มีรูปเคารพ หลังคาทำเป็นรูปประทุนเรือ โดยวางหินซ้อนเหลื่อมกันขึ้นไปบรรจบกันแบบเดียวกันกับหลังคาระเบียงชั้นใน จากการที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้าง โดยใช้หินทรายเป็นส่วนประกอบตามแบบของการก่อสร้างสมัยบายน ทำให้สันนิษฐานว่า อาคารดังกล่าวนี้สร้างร่วมสมัยกับสมัยบายน ประมาณปี พ.ศ.๑๗๒๐ – ๑๗๗๓
ปรางค์อิฐ
มีอยู่สององค์ ตั้งอยู่ใกล้ปรางค์ประธานทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ องค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อีกองค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศใต้ แต่ละองค์มีขนาด ๕ x ๕ เมตร มีเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทราย สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่เกาแก่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่
ชานชาล ด้านหลังของปราสาทพนมรุ้ง … มีบันไดเดินลงด้านล่าง ที่ริมชานชาลามีประติมากรรมรูปสิงห์คู่นั่ง คล้ายกับสิงห์ที่เห็นตรงทางขึ้นปราสาทเขชาพระวิหาร
ถัดจากชานชาลามีบันไดลงไปสู่ส่วนที่ปัจจุบันเป็นร้านค้า … สามารถมองลงไปยังทิวทัศน์เบื้องล่างได้
ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (เมษายน) ของทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกี่ยวกับศาสตร์ความเชื่อในการก่อสร้างปราสาทแห่งนี้ คือจะเกิดแสงแรกของพระอาทิตย์สาดส่องทะลุผ่านประตูทั้ง 15 ช่อง
 
ในสมัยโบราณแสงอาทิตย์ยามเช้าสาดมาส่องศิวะลิงค์ ซึ่งเป็นสัญญาลักษณ์ของพระศิวะ เกิดเป็นรัศมีเหลืองอร่าม ถือว่าเป็นการเพิ่มพลังให้แก่พระศิวะ … ปัจจุบัน ทางการของจังหวัดบุรีรัมย์จึงได้จัดให้มีงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง เป็นงานใหญ่ประจำปี ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวจะเดินเท้าขึ้นมาเพื่อชมความอลังการที่ผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างของบรรพชน
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพนมรุ้งเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อปี พ.ศ. 2475 ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา