1 ม.ค. 2021 เวลา 08:31 • ประวัติศาสตร์
[ปีใหม่ 2021 นี้กับการปัดฝุ่นนามปากกา “หนุ่มมาเก๊า” มาใช้อีกรอบ]
เท่าที่ผมเคยเขียนบล็อกมาก่อนหน้านี้ บล็อกที่เขียนก็มีหลายแนว อย่างเรื่องดาราศาสตร์ และท่องเที่ยว จึงมักจะใช้ชื่อเมืองเป็นชื่อนามปากกาตามเนื้อหาแต่ละบล็อก อย่างบล็อกแนวดาราศาสตร์ที่เคยทำในเวบไซต์ Exteen ก็ใช้นามปากกา “หนุ่มแทจ็อน” ตามชื่อเมืองแทจ็อน (Daejeon / 대전) เมืองใหญ่อันดับ 5 ของเกาหลีใต้ ที่เป็นศูนย์กลางทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งสำนักงานใหญ่ของสถาบันดาราศาสตร์ระดับชาติและองค์การอวกาศของเกาหลีใต้ตั้งอยู่ในเมืองนี้ หรือบล็อกแนวท่องเที่ยวก็ใช้นามปากกา “หนุ่มฝั่งธน” ตามชื่อฝั่งธนบุรี พื้นที่ที่ออกทริปเดินเที่ยวเพื่อเขียนบล็อกครั้งแรก
สำหรับบล็อกนี้ ธีมหลักคือ “เรื่องราวด้านภาษาและวัฒนธรรมทั้งโลกตะวันออกและโลกตะวันตก” เลยคิดว่านามปากกาที่เหมาะที่สุดคงหนีไม่พ้น “หนุ่มมาเก๊า” จากประสบการณ์ที่เคยเที่ยวคนเดียวที่นี่
มาเก๊าถือว่าเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายด้านภาษาเมื่อเทียบกับขนาดดินแดนที่เล็กมาก อย่างภาษาราชการของมาเก๊าเป็นภาษาจีนและภาษาโปรตุเกส และเคยมีบทบาทเป็นประตูแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิทยาการระหว่างโลกตะวันออก-โลกตะวันตกในอดีต
ภาษาจีนที่ใช้ในมาเก๊า จะมีภาษาเขียนเป็นภาษาจีนกลาง แต่ใช้อักษรจีนตัวเต็มเช่นเดียวกับฮ่องกงและไต้หวัน ต่างจากฝั่งแผ่นดินใหญ่ที่ใช้อักษรจีนตัวย่อ ส่วนภาษาพูด คนมาเก๊าทั่วไปจะใช้ภาษากวางตุ้งเป็นหลัก ตามสถานที่ท่องเที่ยวถึงจะเริ่มได้ยินภาษาจีนกลาง
ป้ายแสดงภาพยนตร์ที่ฉายในท้องฟ้าจำลองของศูนย์วิทยาศาสตร์มาเก๊า ที่ใช้ 3 ภาษา (จีนกลางแบบอักษรจีนตัวเต็ม โปรตุเกส อังกฤษ)
ขณะที่ภาษาโปรตุเกสนั้น ยังคงใช้งานในมาเก๊าเนื่องจากเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ แม้ว่าคนมาเก๊าจะไม่ใช้พูดในชีวิตประจำวันมากนัก แต่จะใช้ตามชื่ออาคารสถานที่ ป้ายรถเมล์ และเสียงประกาศในรถเมล์ อย่างคำประกาศในรถเมล์ว่า "Próxima Paragem" (ป้ายรถเมล์ต่อไป) ซึ่งกลายเป็นคำภาษาโปรตุเกสคำแรกที่ผมต้องใช้เพื่อเอาตัวรอด (ซึ่งฟังดูไม่ใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษเลย) ส่วนภาษาอังกฤษ จะใช้บ้างในรถเมล์และสถานที่ท่องเที่ยว
ดังนั้น ที่มาเก๊าจะเจอกับภาษาถึง 4 ภาษา คือ กวางตุ้ง จีนกลาง โปรตุเกส และอังกฤษ
จากประวัติศาสตร์ของมาเก๊าที่เคยมีบทบาททางการค้า ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมสำคัญในประวัติศาสตร์โลก โดยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกตะวันตกพบตะวันออกในยุคเรอเนสซองส์ (คริสต์ศตวรรษที่ 16-17) ผ่านการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่มีฐานจากเมืองนี้ เช่น บาทหลวงชาวตะวันตกจะมาเตรียมตัวที่นี่ก่อนเข้าจีนแผ่นดินใหญ่และญี่ปุ่น ซึ่งได้นำวิทยาการจากตะวันตกเข้าจีนพร้อมการเผยแพร่ศาสนาด้วย
ระหว่างทริปที่ผมเที่ยวคนเดียวที่นี่ก็เคยเจอพจนานุกรมโปรตุเกส-จีน (อักษรจีนตัวเต็ม) แสดงที่โบสถ์เซนต์โยเซฟ ที่บาทหลวงชาวโปรตุเกสในมาเก๊าทำขึ้นในปี ค.ศ.1833 บาทหลวงคนนี้มีบทบาทแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันออกกับตะวันตก ผ่านการสอนภาษาจีนให้คนตะวันตก สอนภาษาละตินให้คนจีน ทำพจนานุกรม หนังสือเรียนภาษา ยิ่งขับให้เห็นบทบาทของมาเก๊าในฐานะ "ประตู" แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออกมานานแล้ว
พจนานุกรมภาษาโปรตุเกส-จีน ที่แสดงในโบสถ์เซนต์โยเซฟ มาเก๊า
ด้วยเหตุผลทางภาษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของมาเก๊า เลยคิดว่านามปากกา “หนุ่มมาเก๊า” ก็เข้ากับธีม “เรื่องราวด้านภาษาและวัฒนธรรมทั้งโลกตะวันออกและโลกตะวันตก” และหวังว่าจะได้เขียนเรื่องราวเกร็ดต่าง ๆ ด้านนี้ได้เรื่อย ๆ ที่นี่ครับ
โฆษณา