11 ม.ค. 2021 เวลา 04:00 • การศึกษา
เหตุใดกงสีจึงไม่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย?
สวัสดีครับเพื่อนๆ หลังจากที่ห่างหายไปนาน วันนี้ผมได้ตกตะกอนทางความคิดเกี่ยวกับหัวข้อ "เหตุใดกงสีจึงไม่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย?" จึงอยากจะมาแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เพื่อนๆได้อ่านกันครับ หวังว่าจะตรงกับหลายๆกงสีที่เพื่อนๆอาจจะประสบอยู่ครับ
ต้องเกริ่นก่อนนะครับว่ากงสีส่วนใหญ่นั้นมีอายุมาค่อนข้างยาวนานครับ เช่น 20ปี 30ปี หรือมากกว่านั้นครับ บริหารงานมาโดยคนรุ่นเก่าที่ทำงานตามระบบเดิมๆมานานโดยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาพอสมควรครับ เช่น ช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจ ช่วงวิกฤตทางระบบภายในกงสีเอง มาหลายครั้ง แต่ก็สามารถผ่านมาได้จนถึงทุกวันนี้ ฟังดูเผินๆเหมือนจะเป็นข้อดีนะครับ แต่ก็แฝงไปด้วยข้อเสียที่ร้ายแรงเช่นกัน เจ้าข้อเสียที่ว่ามานั้นคือความภาคภูมิใจของเจ้าของนั้นเองครับ มาถึงตรงนี้เพื่อนๆอาจจะยังสงสัยนะครับว่าความภาคภูมิใจนี่เป็นข้อเสียตรงไหน เหตุผลก็คือเจ้าความภาคภูมิใจนี้เองก็เป็นความยากลำบากในการเปลี่ยนใจเจ้าของนั้นเองครับ เนื่องจากเจ้าของรุ่นพ่อรุ่นแม่อาจจะมั่นใจในวิถีทางการบริหารของตัวเองจนไม่อาจคิดว่าจะมีวิธีอื่นๆของ เพื่อนๆรุ่นใหม่ที่เข้าไปทำงานนั่นเองครับ แม้ว่าสถานการณ์การแข่งขันของธุรกิจที่กงสีอาจจะไม่ได้ดีเหมือนเดิม มีผู้เล่นรายใหม่ๆเข้ามาเพิ่มขึ้น หรือ ตัวกงสีเองกำลังอยู่ในหมวดอุตสาหกรรมที่กำลังอยู่ในขาลงต้องการปรับตัว
ไอเดียของคนรุ่นใหม่นั้นไม่จำเป็นว่าจะถูกเสมอไป อาจจะผิดก็ได้ แต่ผมมั่นใจว่าการใช้ระบบบริหารแบบเดิมตลอดไปนั้นผิดแน่นอน การไม่ตัดสินใจอะไร การคงสภาพการบริหารไว้ การไม่ปรับตัว เท่ากับการนับถอยหลังสู่จุดจบของธุรกิจ ตัวอย่างก็มีมากมาย เช่น ย้อนไปสัก 20ปีก่อน หวังว่าเพื่อนๆคงพอจำกิจการในยุคนั้นได้เช่น ร้านขายหนังสือ ร้านเช่าวีดีโอ โรงหนัง(อดีตเคยบูมมากๆตอนนี้มีแพลตฟอร์มใหม่ๆเกิดขึ้นมาแทนที่) ระบบโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์สาธารณะ (ปัจจุบันทุกคนมีโทรศัพท์ส่วนตัวแล้ว) เหล่านี้ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในปี 2020 ที่ผ่านมานี้ จากตัวเร่งของวิกฤตทางสาธารณะสุข COVID-19 จากในข่าวและที่ไม่ได้เป็นข่าวหลายแห่งตลอดปีพ.ศ. 2563 ทำให้บริษัทน้อยใหญ่ที่ปรับตัวไม่ทันหรือไม่ได้มีแผนรองรับไว้พากันปิดตัวไปหลายแห่ง กระทั่งบริษัทสายการบินเก่าแก่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยก็ออกอาการจากปัญหาที่หมักหมมไว้นาน บางบริษัทอาจจะสามารถดำเนินกิจการต่อได้หากปรับตัวให้เข้ากับสถาณการณ์ แต่กิจการบางอย่างก็ไม่สามารถต้านทานวิกฤตครั้งนี้จริงๆก็มีครับไม่ใช่ว่าเขาไม่ปรับตัว
เดี๋ยวจะนอกเรื่องมากเกินไป กลับมาในประเด็นที่ว่าทำไมกงสีจึงไม่ปรับตัว? เมื่อเพื่อนๆเข้ามาทำงานในกงสี ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ย่อมมีไอเดียใหม่ๆเสมอ แต่ทำไมคนรุ่นก่อนถึงไม่ทำตาม? ไอเดียใหม่จากคนรุ่นใหม่ไม่ดีพอที่จะนำมาใช้จริงหรือไม่? คำตอบที่ผมตกตะกอนจากความคิดของผมเองมี 5 ประเด็นคือ
1. ไอเดียใหม่ๆที่เสนอไปมันไม่ดีจริงๆ อันนี้ไม่ต้องขยายความมากครับ มันไม่ดีจริงๆ กงสีมองออก อาจจะเคยลองทำในอดีตแล้ว หรือ ไอเดียใหม่ๆไม่สามารถเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ อาจจะอิงแต่ทฤษฎี
2. เจ้าของกิจการเดิมไม่เข้าใจไอเดียใหม่ๆที่คนรุ่นใหม่เสนอมา หรือถ้าเข้าใจก็เข้าใจเพียงบางส่วน เลยไม่อยากลงทุนกับสิ่งที่ไม่เข้าใจ ต้องเข้าใจครับว่าคนยุคเก่าๆที่ผมพบ(ไม่ได้เหมารวมนะครับอย่าดราม่า) ไม่สนใจที่จะเรียนรู้ ปล่อยผ่านการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆมานานเป็น10ปีแล้ว ถ้าจะเรียนรู้ติดตามความเป็นไปก็เข้าใจในระดับที่สามารถเอาไปคุยในวงเพื่อนๆเท่านั้นเอง ไม่เข้าใจรายละเอียดและความเป็นไปของกระแสสังคมปัจจุบัน ประเด็นนี้มาลองทำความเข้าใจกันหน่อยครับ สาเหตุที่ไม่ทำตามไอเดียใหม่ๆเพราะ ปัจจัยด้านเงินลงทุน หากไอเดียใหม่นี้จำเป็นต้องใช้เงินลงทุน คนเราคงไม่อยากเสี่ยงเอาเงินไปลงทุนไปกับเรื่องที่ตัวเองไม่เข้าใจเป็นธรรมดา ครั้นจะลองเข้าไปทำความเข้าใจก็ปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ถูกแล้ว เหมือนกับเล่นเกมเศรษฐีที่ทำจากกระดาษ แล้วโดดมาเล่นเกมเพลย์สเตชั่น5เลย (อาจจะเกินจริงไปนิด แต่คงจะพอเห็นภาพนะครับ) แค่มองtrailerเกมก็รู้แล้วครับว่าเล่นไม่เป็นหรอก ปุ่มบังคับเยอะแยะไปหมด อธิบายยังไงก็ไม่เก็ต จะควักเงินซื้อทำไม
3. ไอเดียใหม่ๆทำลายตัวตนและความภาคภูมิใจในอดีต ในกรณีนี้ไอเดียใหม่ในมุมมองของคนรุ่นเก่าอาจจะดีหรือไม่ก็ได้ ไม่แน่ใจ อาจจะไม่ต้องเสียเงินลงทุนอะไรมากนักแค่เปลี่ยนไปใช้วิธีใหม่ ก็ต้องปฏิเสธไปเนื่องจากขัดกับสิ่งที่ทำมาตลอด มันแตกต่างจากเดิมมากเกินไป วิถีทางการบริหารเดิมที่สามารถผ่านระยะเวลามาได้ 20-30ปี หรือมากกว่า จะมาถูกแทนที่ด้วยไอเดียแบบใหม่ มันทำลายความภาคภูมิใจที่มีมาตลอด หากยอมรับไอเดียวิธีบริหารแบบใหม่ เท่ากับยอมรับว่าวิธีที่ใช้มาตลอดมันไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด
4. คนที่เสนอไอเดียยังเด็กอยู่ไม่น่าเชื่อถือ ในมุมมองของพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ยังไงก็มองว่าคนรุ่นใหม่นั้นเด็ก แม้ว่าจะมีประสบการณ์การทำงานมาหลายปีแล้วก็ตาม ผู้ใหญ่ยังจดจำเรื่องราวเก่าๆได้อย่างแม่นยำ เด็กคนนั้น วันนี้สามารถออกไอเดียที่ดีกว่าเราได้งั้นเหรอ? ไม่น่าเป็นไปได้มั้ง? เด็กคนนั้น เมื่อไม่นานมานี้เรายังต้องไปคอยช่วยเหลือบ่อยๆ ถ้าจะทำความเข้าใจประเด็นนี้นะครับลองจินตนาการว่ามีเด็กที่อายุน้อยกว่าเรา20ปีมาบอกว่าเราทำผิดควรทำตามเขาเราจะทำไหมหละครับ?
5. ประเด็นนี้ผมว่าสำคัญที่สุด คือ ถ้าไม่ทำตามแล้วจะทำไม? อาจจะฟังดูกวนๆนะครับแต่ลองมาพิจารณาดู สมมติเลือกที่จะไม่ทำตาม จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
5.1 กงสีเหมือนเดิม=ก็ดีแล้วหนิ
5.2 คนเสนอไอเดียไม่พอใจ=เดี๋ยวไปปลอบภายหลัง, เพิกเฉยไปเงียบๆ หรือ ถือโอกาสตักเตือนเรื่องความอดทน สอนเรื่องอื่นๆให้ฟัง
5.3 พลาดโอกาสในการแสวงหากำไร สมมติทำตามแล้วกงสีจะได้กำไรเพิ่มมา10%จากวิธีใหม่=เงินเพิ่มมา10%แล้วจะให้เอาไปทำอะไร เถ้าแก่เขามีเงินเหลือในบัญชีเยอะแยะไม่ได้ขัดสนอะไร ทุกวันนี้ก็พอใช้แล้ว อายุก็มากแล้วถือเงินก้อนไว้ดีกว่าปลอดภัยที่สุด แล้วถ้าลงทุนไปแล้วไม่เป็นอย่างที่คิดไม่เท่ากับเสียเงินฟรีเหรอ เอาเหมือนเดิมก็ได้นะไม่ต้องคิดมาก ไม่ได้ตื่นเต้นกับเงินที่จะเพิ่ม
สรุปก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรหากปฏิเสธไอเดียใหม่ๆ
สุดท้ายนี้ครับ หากเพื่อนๆอ่านแล้วคิดว่าช่างตรงกับชีวิตตนเองก็ขอให้ทำใจร่มๆครับ เรื่องนี้ถ้าไม่มีเหตุการณ์มาบังคับให้เปลี่ยนจริงๆไม่มีทางที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครับ วันนึงจะถึงเวลาของเราเอง แต่ถ้าหากคนรุ่นเก่าๆนึกได้และปล่อยวางเอง ถือเป็นคนที่โชคดีสุดๆครับ ฝากกดติดตามกดไลก์ด้วยครับ เพื่อกำลังใจในการเขียนบทความต่อไป หรืออยากให้เขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไรคอมเม้นท์ไว้ได้เลยครับ
โฆษณา