13 ม.ค. 2021 เวลา 07:41 • ธุรกิจ
ทำไมสายการบินถึงไม่ยอมคืนเงินสักที
2
ก็เพราะไม่มีเงินน่ะสิ จบ ... ยัง!
1
ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินแบบนั้น มันก็ง่ายดีเนอะ และก็มีความจริงปนอยู่บางส่วน 555
แต่ถ้าอยากจะรู้รายละเอียดเบื้องลึก เดี๋ยวเราเล่าให้ฟังนะ
ไม่ว่าธุรกิจไหน ก็ต้องเจอปัญหาฝืดเคืองในยุคโควิดด้วยกันทั้งนั้น
1
อยู่ที่ว่าใครจะงัดสารพัดวิชาเอาตัวรอดมาพยุงธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้
และวิชาหลัก ที่แทบทุกสายการบินจำเป็นต้องงัดออกมาใช้
ก็คือการยื้อเงินสดเอาไว้หมุน ยอมให้เลื่อนตั๋วและการให้เก็บเป็นเครดิตไว้นั่นเอง
ปูพื้นให้ฟังก่อนว่า ธุรกิจการบิน เป็นธุรกิจที่
[1] ใช้ต้นทุนสูง
[2] กำไรไม่ได้มากมาย
[3] ต้องการเงินหมุนเวียนจำนวนมาก
[4] ปรับตัวค่อนข้างยาก
1
[1] ต้นทุนสูงที่ว่า ประกอบด้วย
💸 ค่าเช่าหรือซื้อเครื่อง หลักหลายล้าน
💸 ค่าจ้างพนักงาน นักบิน ลูกเรือ พนักงานออฟฟิศ พนักงานภาคพื้น ช่างซ่อมเครื่อง และอื่นๆ อีกมากมาย
💸 ค่าจอดเครื่อง ยิ่งไม่ได้บิน จอดแช่นานๆ ยิ่งเสียบานตะไท
💸 ค่าซ่อมบำรุง ยิ่งจอดนานเครื่องยิ่งงอแง เหมือนรองเท้าที่ไม่ค่อยได้ใส่
💸 ค่าเช่าออฟฟิศและอื่นๆ อีกมากมาย
3
ค่าใช้จ่ายที่ว่ามานั้น คือแค่จอดเฉยๆ ก็เสียนะ เสียทุกวัน
ถ้าขึ้นบินก็จะมีค่าอื่นๆ เพิ่มอีก
(แต่ถ้าบินแล้วจำนวนผู้โดยสารพอคุ้มทุน ยังไงขึ้นบินก็ยังดีกว่าเยอะะะ)
ไว้ว่างๆ จะเล่ารายละเอียดค่าใช้จ่ายให้ฟังอีกทีนะ
[2] กำไรที่ไม่ได้มากมาย
จะเพราะอะไรได้ล่ะ นอกจากสงครามราคาที่สาดกัน
1
โดยเฉพาะในหมู่สายการบินโลว์คอสต์ ที่แข่งกันกดราคาเพื่อแย่งลูกค้าภายในประเทศ
ส่วนสายที่บินไกลไปต่างประเทศก็ต้องไปแย่งลูกค้ากับสายการบินเจ้าใหญ่ระดับโลกแทน
เรียกได้ว่า กำไรไม่ได้เกิดจากค่าตั๋ว แต่ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละสายการบิน บริหารต้นทุนและทรัพยากรภายใน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากแค่ไหนต่างหาก
ส่วนประโยชน์จริงๆ ก็ตกไปอยู่ที่ผู้โดยสารที่รักทุกท่านนั่นเอง
[3] ต้องการเงินหมุนเวียนจำนวนมาก
ด้วยรายจ่ายตามข้อ 1 ที่บอกไว้ ทำให้สายการบินจำเป็นต้องมีรายรับสม่ำเสมอ
ที่ผ่านมา อาศัยการออกโปรล่วงหน้าเรียกกระแสเงินสด การขายของเพิ่มบนเครื่อง และการออกโปรร่วมกับธุรกิจอื่นๆ
โดยอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ถ้ายังได้บินเรื่อยๆ
ก็จะมีเงินมาเติมถมค่าใช้จ่ายได้ต่อไป
ซึ่งก็เปรียบเสมือนการนำเงินในอนาคตมาใช้หมุนก่อนอะเนอะ
แต่ใครจะไปคิดล่ะ ว่าวันนึงจะต้องหยุดบินเกือบจะ 100%
1
สถานการณ์แบบนี้ เงินสำรองที่เผื่อไว้ เท่าไหร่ก็เอาไม่อยู่แล้ว
[4] ปรับตัวค่อนข้างยาก
บริการหลักของสายการบิน แน่นอนว่าต้องเป็นการส่งผู้โดยสารให้ถึงที่หมาย แต่พอสถานการณ์บังคับให้คนเดินทางน้อยลง บริการหลักก็แทบไม่ทำรายได้
 
ช่วงที่คนบินน้อย เราจึงได้เห็น สายการบินหันมาทำร้านขายอาหาร ผันตัวมาขายประกัน มาส่งชานม ส่งอาหารถึงบ้าน รวมทั้งออกโปรบุฟเฟ่ต์ และเที่ยวบินพิเศษไหว้พระรัวๆ
1
แต่พอเกิดการระบาดระลอกใหม่ ที่แทบจะห้ามคนเดินทาง
ทางเลือกก็ยิ่งน้อยลงไปอีก
1
ด้วยลักษณะของธุรกิจที่กล่าวมา ทำให้ช่วงนี้
สายการบินต้องรัดเข็มขัดสุดชีวิต
1
รายจ่ายที่มากมาย ถูกลดทอนลงด้วยสารพัดวิธี ไม่ว่าจะเป็น
🔻ปรับลดเงินเดือนพนักงาน ให้ลาพักร้อนระยะยาว บางสายการบินก็เอาคนออก
🔻เจรจาขอผ่อนผันค่าเช่าต่างๆ ทั้งค่าเช่าเครื่อง ค่าเช่าออฟฟิศ
🔻เจรจาขอลดหย่อนหรือละเว้นค่าจอดเครื่อง
🔻เอาเครื่องไปขายต่อ แลกเงินสดกลับมาต่ออายุธุรกิจ
1
แต่ทั้งหมดทั้งปวง จากการคาดการณ์แล้ว
ก็อาจจะไม่พอที่จะช่วยพยุงให้พ้นวิกฤติอยู่ดี
จึงเป็นเหตุให้มีการรวมตัวของสายการบิน เพื่อขอร้องรัฐบาลให้ช่วยเหลือในเรื่อง soft loan (เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ) นั่นเอง
1
แต่ดูทรงแล้วคงยาก เรื่องเงียบหายอย่างไร้วี่แวว
สายการบินก็ต้องดิ้นรนกันเองต่อไป
2
จึงทำให้สายการบิน จำเป็นต้องออกนโยบายที่กระทบผู้โดยสารอย่างเลี่ยงไม่ได้ ด้วยการเสนอให้ผู้โดยสารเก็บค่าตั๋วที่โดนยกเลิกไว้เป็นเครดิต เพื่อใช้ในการจองตั๋วในอนาคต แทนที่จะคืนเงินให้โดยทันที
2
ซึ่งถ้าว่าตามหลักกฎหมายแล้ว สายการบินต้องคืนเป็นเงินให้นะ ดังนั้น หากใครอยากได้เงินคืนจริงๆ ก็สามารถปฏิเสธเครดิตและยืนยันขอคืนเป็นเงินได้ แต่ยังไงก็อาจต้องรอนานหน่อยนึง
เพราะนอกจากความพยายามดึงเวลายื้อแล้ว ยังมีจำนวนคิวที่รออยู่มหาศาล จากระบบที่ยังไม่รองรับการคืนเงินอัตโนมัติ
(เพราะปกติ หลายสายการบินก็ไม่ได้มีนโยบายคืนเงินมาแต่เดิม ทำให้ไม่ได้วางระบบและทรัพยากรคนไว้ตรงจุดนี้ ตอนหลังต้องอาศัยนักบินและลูกเรือมาเป็นคอลเซนเตอร์แทนแล้ว)
ที่ผ่านมา ได้รับความเห็นใจ และได้กำลังใจบ้าง
แต่ก็ได้คำด่าทอกลับมาไม่น้อยเช่นกัน
ตรงนี้เข้าใจได้ในทุกความเห็นจริงๆ
เพราะทุกคนก็คงกำลังลำบากอยู่เหมือนกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น มีอีกมุมหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ให้คิด คือ
จะเกิดอะไรขึ้น หากทุกคนขอคืนเงินหมด
และสายการบินให้เงินคืนในทันที?
คำตอบคือ สายการบินก็คงจะหมดกระแสเงินสด ไม่สามารถคืนเงินได้ครบทุกคนอยู่ดี หรืออาจต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ซึ่งก็จะยังต้องติดหนี้ผู้โดยสารทุกคนไปอีกนาน และสุดท้ายอาจจะไม่มีความสามารถในการหาคืนจนครบเลยก็ได้
2
เมื่อสายการบินล้มหายตายจาก เหลือไว้เพียงไม่กี่เจ้า ก็จะขาดการแข่งขันกัน ทำให้เจ้าที่สายป่านยาวเหลือรอดอยู่ สามารถผูกขาดกำหนดราคาค่าตั๋วที่สูงได้
ภาระค่าใช้จ่ายก็จะตกไปอยู่ที่ผู้โดยสาร การท่องเที่ยวก็คงจะกลับมาได้ยาก ไม่บูมเหมือนในยุครุ่งเรืองที่ตั๋วเครื่องบินราคาแทบจะเท่าตั๋วรถทัวร์
ดังนั้น ความพยายาม ณ ตอนนี้ จึงเป็นการยอมโดนด่าเพื่อซื้อเวลา โดยหวังว่าธุรกิจจะอยู่รอดต่อไป จนถึงวันที่สามารถกลับมาบินได้เต็มที่อีกครั้ง เพื่อหาเงินมาชดเชยให้กับทุกๆ คนได้อย่างครบถ้วน
1
กลับมาที่คำถามที่ว่า ทำไมสายการบินถึงไม่ยอมคืนเงินสักที
ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็คงได้คำตอบเหมือนเดิม
นั่นคือ ไม่มีเงิน
1
แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป คำตอบคือ
ขอยืมไว้สู้เพื่ออนาคตของวงการท่องเที่ยวไทยนั่นเอง
1
โฆษณา