16 ม.ค. 2021 เวลา 17:09 • ไลฟ์สไตล์
ศานตินิเกตัน
ห้องเรียนใต้ร่มไม้ ที่ไร้พรมแดน
“โรงเรียนใต้ต้นไม้”
แค่ชื่อก็ชวนให้หลงใหล
หิ่งห้อยใต้แสงจันทร์
‘หน้าฝน...หิ่งห้อยและกลิ่นดิน’
....ตอนเด็กๆเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นมาก ครั้งแรกที่เห็นหิ่งห้อยคือหน้าฝนตอนนั้นเราน่าจะอายุไม่เกิน6ขวบ ตอนกลางคืนนอนอยู่ที่โถงระเบียงบ้าน. ปิดไฟกลางมุ้งนอน. ยังไม่ทันหลับตาเราเห็นแสงกระพริบเล็กๆบินวนแถวมุ้งที่กาง ด้วยความที่อยากจะครอบครองสัตว์มหัศจรรย์เราทำการจับแล้วคว่ำไว้ในแก้วในมุ้งด้วย. ฝันดีจริงแหละเพราะคิดว่าตื่นมาจะได้เจอแสงกระพริบๆน่ารักๆ แต่พอตื่นเช้ามาแสงหายไป ตั้งแต่ตอนนั้นเราเลยคิดว่าสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆเราไม่ควรเก็บไว้ด้วยการฝืนธรรมชาติ....
•หลังจากฝนหยุด เราได้ปั่นจักรยานเข้าไปในตลาดโบปู้ว์ ขากลับความเงียบและความมืดทำให้เราได้สัมผัสความโรแมนติกระหว่างทาง
หน้าฝน บนหลังคาและสถานีตำรวจ
รายงานตัวเป็นผู้อาศัย
เพราะเราถือวีซ่านักศึกษา เมื่อไปถึงศานตินิเกตัน เราต้องไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ให้รับทราบว่าเราเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตปกครองนี้.
...เช้านี้เป็นวันแรกที่ต้องนั่งรถบัสแขก. โดยมีพี่สาวคนสวย (ดีดี้) เราเรียกพี่สาวตามเพื่อนแขกที่จะเรียกรุ่นพี่ผู้หญิงว่าดีดี้ และพี่ผู้ชายว่าดาด้า. วันนั้นมีดีดี้คนสวยพาพวกเราไปรายงานตัว เราตื่นแต่เช้านัดกันปั่นจักรยานไปจอดไว้ที่สถานีรถบัส. เพื่อที่จะนั่งรถบัสต่อไปซูรี่.ไปถึงสถานีเราซื้อตั๋วนั่งแล้วขึ้นไปนั่งรอบนรถ ที่นั่งเต็มแล้วนึกว่ารถจะออก. แต่!!! เจ้าถิ่นขึ้นมาเบียดยิ่งกว่าปลากระป๋องสามแม่ครัว ความตื่นเต้นมีตลอดเส้นทางทั้งเสียงแตรรถที่บีบตลอดเส้นทาง ทั้งแพะข้ามถนน ต่างๆนานา พอไปถึงเราก็กรอกเอกสารเยอะแยะ ใช้เวลาทั้งวัน. ขากลับอากาศค่อนข้างจะดี. ดีดี้คนสวยชวนพวกเราขึ้นนั่งหลังคาโชคดีที่เค้าไม่ให้ขึ้นเพราะผู้ชายขึ้นเต็มแล้ว
มาถึงกลางทางฝนตกหนักบนหลังคารถเคาะกระจกทุบหลังคาเพื่อให้รถจอด. พอรถจอดลงมายืนยัดกันบนรถมินิบัส. ถ้านึกถึงโอ่งหนังเรื่องปอบก็น่าจะใช่ตอนถึงสถานีแล้วคนทยอยลงมาไม่หมดสักที
ร้านหนังสือใต้ต้นไม้
ร้านหนังสือใต้ต้นไม้
ดาด้าผู้ใจดี จะมาเปิดร้านขายหนังสือศิลปะใต้ต้นไม้ที่คณะ ความพิเศษของเจ้าของร้านคือจำนักศึกษาได้หมดว่าใครเรียนอะไร เพราะต้องแนะนำหนังสือให้วัยรุ่นได้อัพเดตงานศิลปะและงานออกแบบกัน บางคนก็นั่งอ่านได้จนกว่าจะปิดร้าน หากใครอยากได้เป็นเจ้าของสักเล่มแต่รูปีไม่ถึงก็สามารถผ่อนจ่ายได้
นักร้องปูผ้า ดนตรี ทำนอง เสียงร้องและจังหวะเท้าไฟของผู้ชม
Saturday haat หรือตลาดนัดวันเสาร์
ตลาดงานอาร์ตที่เป็นงานฝีมือจากศิลปินศานตินิเกตัน ศรีนิเกตันและศิลปินท้องถิ่นจะออกมาวางขายผ้าปัก ตุ๊กตาจากไม้ เหล็ก วัสดุธรรมชาติง่ายๆ ผลงานศิลปะและอาหารพื้น. โลเคชั่นของตลาดตั้งยู่ในป่ายูคาลิปตัส ที่ไกลจากมหาวิทยาลัยประมาณ 2 กิโลเมตร บ่ายแก่ ๆ ของวันเสาร์เราปั่นจักรยานไปตามถนนดินลูกรัง ที่สองข้างทางมีแต่ป่าที่ดูยังไงก็คือทางไปไร่ไปสวนเราเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่พอไปใกล้จะถึงสถานที่เปิดตลาดมีรถสามล้อปั่น รถยนต์ ที่ครึกครื้นไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมาย เสียงขับร้อง บรรเลงดนตรี ของศิลปิน Baul สีสันของตลาดก็คือมีวงของศิลปินท้องถิ่นนั่งเล่นดนตรี ร้องเพลงอินดี้เพื่อชีวิต ปูผ้าแทนการเปิดหมวก เสียงร้องและทำนองดังก้องป่า นักท่องเที่ยวที่ชอบความสนุกสนานก็จะออกมาเต้น กลายเป็นเสน่ห์ที่เรียกให้ผู้คนมาล้อมวงไปด้วยกัน
**การออกสเต็ปเท้าไฟของคนแถวนี้คือมาจากสายเลือดจริง ๆ ..
เตาฟื้น. กาต้มน้ำและจอกดินเผา
ร้านน้ำชาถ้วยดินเผาข้างร้านเติมแก๊ส
ร้านชาทางผ่านระหว่างขากลับจากตลาดใหญ่แถวสถานีรถไฟโบลปูร์ ก็จะมีร้านชาเจ้าประจำที่เราชอบแวะดื่มระหว่างทางกลับบ้านแถวรัตตันปาลีเป็นร้านที่อยู่ข้าง ๆ ร้านเติมแก๊สเจ้าประจำเช่นกัน บางทีระหว่างรอเติมแก๊สถังเล็กที่ใช้ทำอาหารก็จะมานั่งรอที่ร้านชา สั่งจายร้อน ๆ พร้อมกับบิสกิตกินคู่กัน ความสุขของการดื่มชาคือชานมร้อนบนจอกดินเผา กลิ่นนมและชาผสมกลิ่นดิน กินเสร็จเราก็ค่อย ๆ หย่อนจอกดินเผาลงบนพื้นดินหน้าร้าน ...เตาที่ดาด้าใช้ต้มชาก็คือเตาดินที่ก่อและฉาบด้วยดินใช้ถ่านและฟืนเป็นเชื้อเพลิง กลิ่นควันไม้และเขม่าที่กาต้มอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้รสชาติและการดื่มชาอร่อยขึ้นมาอีก 10 เท่า
ข้าวผัด รอยยิ้มและกลิ่นน้ำมันก๊าซ
ภัตตาคารอาหารจีนที่พวกเราเรียกกันและชอบไปทานแต่เพื่อนแขกชอบถามว่ากินไปได้ไง หนึ่งในร้านข้าวที่พวกเราชอบนัดกันมากินก็คือร้านนี้ ที่มีข้าวผัดและเฉาเหมี่ยนที่รสชาติใกล้เคียงกับหมี่ซั่ว ร้านเป็นผนังและพื้นด้านในสร้างฟฉาบด้วยดินเหนียว. ด้านในตกแต่งด้วยภาพเขียน ร้านค่อนข้างมืดแต่ดาด้า ดีดี้และลูกชายชอบร้องทักเวลาปั่นจักรยานผ่าน บางทีไม่ได้ตั้งใจไปกินแต่ปั่นจักรยานผ่านมองเข้าไปเห็นแค่ฟันดาด้าที่ตะโกนถามก็แวะสั่งข้าวผัดกิน
ชิกเก้นโรลใส่ไข่
ร้านโรตีลุงอ้วน
ชิกเก้นโรลพิเศษใส่ไข่ จะนั่งกินที่ร้านหรือห่อกลับบ้านได้หมด
เราคุ้นชินกับโรตีราดนมข้นหวานๆ แต่ที่ร้านลุงอ้วนมีแต่ไก่ ไข่และผัก ซอสพริก ซอสมะเขือเทส และที่อื่น ๆ ในอินเดียก็เหมือนกัน รอเป็บเดียวนะ แล้วเสียงของหอม กระเทียม ก็ดังขึ้นบนกระทะร้อน ๆ กลิ่นหอมของเครื่องปรุงแขกก็เริ่มทำให้ท้องร้อง
ปุชก้า
ปุชก้า
วันไหนที่เราอยากกินส้มตำหรืออาหารรสแซบ เราก็จะแวะกินปุชก้าข้างทางก่อนจะเข้าบ้าน ธรรมเนียมการกินดาด้าจะให้จานรองที่เป็นใบไม้กลัดด้วยไม้เป็นถ้วยเล็ก ๆ แล้วดาด้าก็จะบรรเลงบี้ถั่ว มันและส่วนผสมอื่น ๆ ทั้งพริกน้ำมะขามเปียกเข้าด้วยกันในชามใบใหญ่ ทำเป็นเหมือนใส้ขนม และจะมีแป้งทอดบางๆเป็นก้อนกลม ๆ ข้างในกลวงไว้เจาะตรงกลางเพื่อยัดใส้ส่วนผสมเมื่อกี้ลงไป เวลาทานจะมีให้เลือกแบบราดน้ำและแบบแห้งถ้าแบบน้ำก็จะเปรี้ยวๆนิดนึงเทเติมลงไปในก้อนแป้งก็จะทานง่ายขึ้น พอสั่งเสร็จแล้วก็ยื่นถ้วยใบไม่ที่พ่อค้าแจกตอนแรกไปรอรับอาหารมายัดเข้าปากได้เลย แซบจนต้องแนะนำเพื่อน ๆ และพี่คนไทยที่ไปเยี่ยมตให้ลองชิม
ร้านลุงหล่อ
ร้านชาลุงหล่อ
ศูนย์รวมวัยรุ่น ตอนเย็นจะเห็นวัยรุ่น. วัยแก่ และรุ่นใหญ่นั่งเต็มร้าน และคนไทยก็จะชอบนัดกันที่ร้านโนประดิบชอปหรือที่พวกเราคนไทยเรียกกันว่าลุงหล่อ. ชาร้านลุงหล่อมีทั้งชานมและชามะนาว ร้านลุงมีตู้แช่เย็น มีน้ำอัดลมขายมีขนมและอาหารอื่น ๆ ถือว่าเป็นแหล่งรวมวัยรุ่นที่มานั่งอัพเดตสถานการณ์กันที่ของกินครบวงจร
....เย็นนี้ไปไหน “เจอกันร้านลุงหล่อนะ”...
ย่านการค้ารัตตันปาลี
วันพุธบ่ายในฤดูร้อน
ร้านขายผักที่รัตตันปาลีปิดและร้านอื่น ๆ ก็ปิดเช่นกันเพราะเป็นวันหยุดและช่วงเวลาของการพักผ่อน ยิ่งอากาศร้อน ๆ กว่าจะเปิดร้านอีกทีก็ต้องรอจนพระอาทิตย์ใกล้จะตกดิน ย่านนี้ถึงจะกลับมาครึกครื้นอีกครั้ง
วันนี้เป็นวันที่เราจดจำได้เป็นอย่างดี คือวันที่กลับจากมหาลัยช่วงบ่ายๆด้วยความที่หิวข้าวจะกลับมากินข้าวที่บ้านแต่ลืมว่าข้าวหมด รีบปั่นจักรยานมาแวะซื้อข้าวและผักเพื่อกลับไปทำที่บ้าน. ร้อนก็ร้อน. หิวก็หิว แต่เรามาช้าเอง ทุกร้านเงียบและเงียบและก็เงียบ สรุปคืออดเพราะเราช้า ปั่นจักรยานกลับบ้านท่ามกลางแดดที่ร้อนจัดและเสียงท้องร้อง
โฆษณา