19 ม.ค. 2021 เวลา 16:14 • ครอบครัว & เด็ก
หัวใจของ Computational Thinking เสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้เด็กทุกวัย (ตอนที่ 2)
หัวใจของ Computational Thinking เสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้เด็กทุกวัย
หลังจากทำความเข้าใจกับองค์ประกอบ 2 จากบทความก่อนหน้านี้ (https://www.beyondcodeacademy.com/post/computational-thinking-component-1) ส่วนแรกของ Computational Thinking ซึ่งก็คือ Decomposition หรือการแยกย่อยปัญหาที่ซับซ้อนออกมาเป็นส่วนเล็กๆ ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้ง่ายขึ้น จากนั้นเราก็เดินทางค้นหาวิธีการแก้ปัญหาต่อกับ Pattern Recognition ซึ่งก็คือการนำความรู้และประสบการณ์ในอดีต มาใช้เชื่อมโยงเพื่อช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น จาก 2 องค์ประกอบนี้ผู้อ่านอาจจะได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ในส่วนของแนวคิดและรูปแบบการทำงานของ CT ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของทุกคนได้ ดังนั้นคราวนี้เราจะมาพูดถึงองค์ประกอบของ CT ใน 2 ส่วนสุดท้ายซึ่งคือ Abstraction และ Pattern Recognition ว่าสามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนในการสร้างทักษะ CT ได้อย่างไรกันบ้าง
3.Abstraction เมื่อปัญหาที่ซับซ้อนถูกทำให้แตกแยกย่อยจากขั้นตอน Decomposition ซึ่งช่วยให้การวิเคราะห์ปัญหาทำได้ง่ายขึ้นแล้ว เราก็ได้ใช้การทำ Pattern Recognition ในการต่อจิ๊กซอว์ โดยดึงความรู้และประสบการณ์เก่าๆ มาช่วยให้ง่ายขึ้น ดังนั้น Abstraction ก็จะมารับไม้ต่อในการช่วยให้ผู้เรียนสามารถหาวิธีการทำงานกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความแม่นยำมากขึ้น กระบวนการนี้เกิดขึ้นจากการกรองสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่จำเป็นออกไป เพื่อช่วยให้เราสามารถค้นหาสิ่งที่สำคัญและเชื่อมโยงกับปัญหาที่กำลังแก้ไขอยู่ได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ Abstraction ยังถูกยกให้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในกระบวนการสร้างทักษะแบบ CT โดยงานวิจัยจาก European Commission's Joint Research Centre ได้บอกไว้ว่า “The most important and high-level thought process in CT is the abstraction process” ซึ่งอธิบายว่าองค์ประกอบของ Abstraction นั้นถือเป็นขั้นตอนที่สลักสำคัญที่สุดในกระบวนการสร้างทักษะเชิง CT โดยหัวใจของวิธีการนี้ก็คือ การลดรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออกไป พอเราตัดหรือกรองออกไปแล้ว เราจะมีสมาธิและโฟกัสกับสิ่งที่สำคัญในการช่วยปัญหานั่นเอง ดังนั้นทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยประหยัดเวลาได้อย่างดีทีเดียว
ตัวอย่าง ลองนึกถึงการฝึกขับรถ ถ้าบอกว่าให้เรียนรู้สิ่งที่สำคัญของรถยนต์ที่ทำให้เราเริ่มหัดขับรถได้ การรู้จักองค์ประกอบที่สำคัญของรถและรู้วิธีการใช้งานถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับมือใหม่หัดขับก็ว่าได้ เช่น รู้จักคันเร่งและรู้จักเบรกว่าต้องเหยียบตรงไหน รู้จักการใช้เกียร์ว่าแบบไหนทำให้รถเร็วขึ้นหรือช้าลง รู้จักการใช้ไฟเลี้ยวและที่ปัดน้ำฝนเป็นต้น จะเห็นได้ว่าเราสามารถคัดกรองรายละเอียดที่ซับซ้อนและไม่จำเป็นออก อย่างเช่น เครื่องยนต์ กล่อง ECU และระบบปลีกย่อยต่างๆ ที่ซับซ้อน พอเน้นแต่สิ่งที่สำคัญที่ผู้หัดขับต้องรู้ ก็ทำให้สับสนน้อยลง และมีสมาธิกับการหัดขับได้มากขึ้น
4. Algorithm พอเห็นคำนี้คนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่าต้องเกี่ยวกับ AI หรือพวก Big Data หรือไม่ก็เกี่ยวกับ IT ที่สลับซับซ้อนมากแน่ๆ แต่รู้ไหมว่าแท้จริงแล้วพวกเราทุกคนต่างประยุกต์ใช้ Algorithm กันอยู่บ่อยมากแบบไม่รู้ตัว เพราะเรื่องทั่วไปเช่น การผูกเชือกรองเท้า การปั่นจักรยาน หรือการทำไข่ต้มเอง ก็ถือว่าเป็นการใช้ Algorithm ไปในตัวแล้ว ดังนั้นหากจะแปลกันแบบที่เข้าใจได้ง่าย Algorithm ก็คือ กระบวนการหรือสูตรสำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ การคิดแบบ Algorithm ไม่ได้แก้ปัญหาสำหรับคำตอบที่เฉพาะเจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จะช่วยในการสร้างกระบวนการอย่างเป็นลำดับเพื่อไปสู่ผลลัพธ์ได้อย่างดีที่สุด ดังนั้นหากเด็กๆ ได้เรียนรู้ในส่วนนี้ก็จะช่วยในเรื่องการฝึกด้านตรรกะและความคิดอย่างเป็นกระบวนการได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
ตัวอย่าง การทำไข่ต้มสุก เพียงเราเริ่มต้นจากการต้มน้ำและใส่ไข่ รอจนน้ำเดือด ทำการจับเวลาเพื่อรอให้ไข่สุก 4-5 นาที ตักออกมา และปอกเปลือก วิธีแบบ step by step แบบนี้ก็คือการใช้ Algorithm ที่สมบูรณ์แบบแล้วในการหัดทำไข่ต้มทานด้วยตนเอง
จะเห็นได้ว่ากระบวนการทั้งหมดที่อยู่ในการพัฒนาทักษะอย่าง Computational Thinking นั้นจริงๆ แล้วแฝงอยู่ในทุกช่วงเวลาของการใช้ชีวิต แต่จะดีกว่าไหม ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมความพร้อมให้กับลูกรักได้สามารถใช้วิธีคิดที่เป็นตรรกะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในยามที่พวกเขาต้องเผชิญกับเหตุการณ์คับขัน หรือเผชิญปัญหาอันหนักอึ้งในอนาคต เหมือนคำกล่าวที่ว่า “Give a man a fish and you feed him for a day; teach a man to fish and you feed him for a lifetime” หรือที่ว่า “หากเราจับปลาให้ลูกทานนั้น เขากินแค่วันเดียวก็หมดแล้ว แต่ถ้าหากเราสอนให้ลูกจับปลา เขาจะสามารถนำวิธีการนี้ไปใช้ได้ตลอดชีวิต”
Reference:
โฆษณา