24 ม.ค. 2021 เวลา 08:43
10 สุดยอดแบรนด์จีน ในปี 2020 (2)
โควิด-19 ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองวิธีคิด และพฤติกรรมผู้บริโภคไปเป็นอันมาก โดยชาวจีนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสวัสดิการรัฐ ดังจะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคชาวจีนได้เปลี่ยนค่านิยม วิธีการจับจ่ายใช้สอย ประเภทสินค้าและบริการที่ซื้อ การตอบสนองต่อสื่อ และความสัมพันธ์กับตราสินค้าไปอย่างมากอีกด้วย
แต่วิกฤติโควิด-19 ก็ทำให้หลายกิจการได้รับอานิสงส์จากการใช้เวลาอยู่ในบ้าน และหันไปพึ่งพิงโลกออนไลน์มากขึ้นของผู้บริโภคจีน ส่งผลให้แบรนด์ธุรกิจบันเทิงออนไลน์มีมูลค่าทะยานพุ่งขึ้นถึง 221% เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา
ยูนิคอนในกลุ่มนี้ก็มีความหลากหลายมาก ในด้านบันเทิงและเกมส์ออนไลน์ ก็ได้แก่ Douyin (โต่วอิน) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ TikTok (ติ๊กต็อก) แอพวิดีโอสั้นออนไลน์ที่ผู้คนออกมาแสดงกิจกรรมและวิถีชีวิตให้โลกรู้ ทะยานขึ้นอยู่อันดับที่ 14 และ Kuaishou (ไคว่โช่ว) แพล็ตฟอร์มคลิปสั้นที่เน้นให้ชาวจีนอัดคลิปการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ภายใต้สโลแกน “บันทึกชีวิต บันทึกความเป็นคุณ” แทนการจดบันทึกชีวิตประจำวันดังเช่นในอดีต ทำให้มีเครือข่ายอัพชีวิตส่วนตัวหลายสิบล้านคลิป และมีผู้ติดตามหลายร้อยล้านคนในแต่ละวัน อยู่อันดับที่ 25
Xiaohongshu (เสี่ยวหงชู) หรือ “Little Red Book” แอพให้บริการรีวิวไลฟ์สไตล์ การดื่ม-กิน–เที่ยว–ช็อป รวมถึงการแต่งเนื้อแต่งตัวผ่านความงามและแฟชั่น โดย KOL (Key Opinion Leader) หรือคนเชียร์สินค้าออนไลน์ และคนทั่วไป แอ๊พนี้ยังพัฒนาเป็นคอมเมิร์ซสังคมออนไลน์ (Social Commerce) ที่ผนวก E-Commerce เข้ากับ Social Media และขยายต่อไปเป็นแพล็ตฟอร์มด้านการตลาด เพื่อสร้างความตระหนักรู้และอัตลักษณ์ของแบรนด์ต่างๆ
1
แอพนี้ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มผู้หญิงจีนที่มีอายุ 25-35 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อดีและชอบเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ถึงขนาดเจ้าพ่อวงการดิจิตัลอย่าง Alibaba และ Tencent (เทนเซ้นท์) ต่างกระโจนเข้าไปร่วมลงทุนด้วย
ขณะเดียวกัน ยูนิคอนอย่าง Pinduoduo (พินตัวตัว) คอมเมิร์ซสังคมออนไลน์ที่เน้นจำหน่ายสินค้าปริมาณมากในราคาพิเศษ ก็สามารถจับจังหวะจากพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนที่มองหาความคุ้มค่า และใช้เวลาเพียงไม่ถึง 5 ปีนับแต่ก่อตั้งสามารถทำลายกำแพงเหล็กของ BAT (Baidu-Alibaba-Tencent) 3 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการดิจิตัลจีนขึ้นมาอันดับที่ 23 ได้ และขยับขึ้นต่อสู้กับ JD อย่างมีจุดยืนที่ชัดเจน
นอกจากสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปแล้ว ในปี 2020 Pinduoduo ยังเปิดตัวแอพซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ “Duo Duo Maicai” (ตัวตัวหม่ายช่าย) ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทในตลาดแนสแด็ก (Nasdaq) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 300% ในปีที่ผ่านมา
ในช่วงเดือนมีนาคม 2020 ที่จีนยังล็อกดาวน์อยู่ จำนวนผู้ใช้บริการการศึกษาออนไลน์ของจีนเพิ่มขึ้นไปถึง 423 ล้านคน ส่งผลให้แอ๊พการศึกษาออนไลน์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 92% เมื่อเทียบกับของปีก่อน โดย Xueersi (เสวเอ๋อซือ) นับเป็นแบรนด์ดาวรุ่งหน้าใหม่ที่มีมูลค่าขยายตัวแรงต่อเนื่องจากอัตรา 91% ในปี 2019 และถึง 120% ในปี 2020
นอกจากนี้ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีก็มีดาวรุ่งเพิ่มขึ้นมาก เช่น Toutiao (โถวเถียว) แอพรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล และสร้างคอนเท้นต์ในเครือของ ByteDance (ไบท์แดนซ์) ที่มีลูกค้าจีนในวัยต่ำกว่า 30 ปีอยู่ในเครือข่ายหลายร้อยล้านคน และจื้อหู (Zhihu) แอ๊พถาม-ตอบข้อสงสัย คล้าย “พันทิป” ของบ้านเรา
แม้กระทั่งตัวแทนซื้อขายบ้านออนไลน์ อาทิ Lianjia (เหลียนเจีย) และ Ziroom (จื้อรูม) ก็กลายเป็นแบรนด์ทรงคุณค่าหน้าใหม่ในการประเมินครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
วิกฤติโควิด-19 ยังป่วนและส่งผลกระทบในเชิงโครงสร้างต่อแบรนด์จีนในระยะยาว โดยในบรรดาท็อป 100 ตราสินค้าจีนในปี 2014 มีเพียง 56 แบรนด์เท่านั้นที่ยังคงสามารถรักษาสถานะเกาะกลุ่มแบรนด์ชั้นแนวหน้าไว้ได้ เทียบกับ 70 แบรนด์ที่ทรงพลังของโลก
แม้ว่าในภาพรวม กิจการของรัฐวิสาหกิจยังคงมีบทบาทสำคัญในการจัดอันดับ 100 แบรนด์อันทรงคุณค่าและต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่ขีดความสามารถในการแข่งขัน และมูลค่าแบรนด์ของกิจการเอกชนจีนมีแนวโน้มที่ดีกว่ามาก ซึ่งสะท้อนว่า ผู้บริหารกิจการเอกชนจีนให้ความสำคัญและประสบความสำเร็จกับการเสริมสร้างแบรนด์มากกว่าเมื่อเทียบกับของกิจการภาครัฐ
ขณะเดียวกัน ธุรกิจในหมวดการค้าปลีก เทคโนโลยี และแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทมากกว่าครึ่งของทั้งหมดในปัจจุบัน ขณะที่แบรนด์ของสถาบันการเงิน ประกันภัย และโทรคมนาคมดูจะเสื่อมพลังลงไปมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ธุรกิจบริการท่องเที่ยวออนไลน์ อาทิ ตัวแทนขาย สายการบิน โรงแรม และบริการรถยนต์เช่า ดูจะได้รับผลกระทบโดยตรงในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากการจำกัดการเดินทาง และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวของชาวจีน มูลค่าแบรนด์ DiDi (ตีตี) แอพเรียกรถแท็กซี่ เลยพลอยไม่ขยับ และอยู่ในอันดับที่ 11
อย่างไรก็ดี แบรนด์จีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าของโลก ตราสินค้าจีน 50 อันดับแรกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นรวม 225% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แรงกว่าท๊อป 50 ของโลกที่เพิ่มขึ้น 126% ขณะที่หากเทียบกับปี 2014 ท๊อป 100 แบรนด์จีนขยายตัว 162% เทียบกับ 74% ของโลก
วิกฤติดังกล่าวยังทำให้พลังของแบรนด์จีนเปลี่ยนหน้าตาไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน เพราะในบรรดา 10 อันดับแบรนด์ยอดนิยมในปี 2010 มีครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ยังติดอันดับท๊อป 10 ใน 10 ปีต่อมา
หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,646 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2564
โฆษณา