29 ม.ค. 2021 เวลา 09:47 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จับตา "ตลาดเกิดใหม่" ทำไมถึงน่าสนใจในปี 2021
การอนุมัติใช้วัคซีน COVID-19 เป็นจุดเริ่มต้นการฟิ้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งช่วงต้น
ของวัฏจักรเศรษฐกิจเช่นนี้กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มักได้รับผลดีหนุนทั้งเศรษฐกิจและตลาดการเงิน และนี่คือ 3 เหตุผลที่ตอบว่าทำไมตลาดเกิดใหม่ถึงน่าสนใจในปี 2021
 
1. สภาพคล่องล้นระบบ
การแพร่ระบาดของ COVID-19 นับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายที่สุดช่วงเวลาหนึ่งเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา หรือสภาพคล่องในระดับมหาศาลที่เข้าระบบในเวลาอันรวดเร็วซึ่งนี่เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกการเงินพ้นจากช่วงเวลาวิกฤติอย่างรวดเร็ว
1
ขนาด Balance sheet ของ Fed Source: https://www.federalreserve.gov/monetarypolicy/bst_recenttrends.htm
ข้อมูลจาก Morgan Stanley พบว่าการเพิ่มสภาพคล่องเข้าระบบโดยธนาคารกลางกลุ่ม G4 ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และอังกฤษ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (ธันวาคม 2019 ถึงธันวาคม 2020) ประมาณ 9.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมาจากธนาคารกลางสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนช่วงเวลา 11 ปี ระหว่างปี 2008 ถึง 2019 ปริมาณเงินดังกล่าวเพิ่มขึ้นประมาณ 14 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับอดีตด้วยปริมาณและระยะเวลาแล้วเรียกได้ว่าทั้งเยอะและรวดเร็วมาก
เมื่อเงินเข้ามาถึงระบบจนถึงเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่งแล้ว เงินที่เข้ามาเพิ่มย่อมต้องหาที่ไป และตลาดเกิดใหม่เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจ ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้ได้เข้ามาสู่ตลาดเกิดใหม่แล้วตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนผ่านทั้งตลาดหุ้นและตราสารหนี้ที่ปรับตัวขึ้นไปพร้อมกับค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่แข็งค่า
และในปี 2021 ตลาดเกิดใหม่ยังได้รับแรงหนุนจากปัจจัยดังกล่าว โดย Morgan Stanley คาดว่าธนาคารกลางกลุ่ม G4 จะเพิ่มสภาพคล่องเข้าระบบอีกอย่างน้อย 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากแม้สถานการณ์จะคลี่คลาย แต่ระบบเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางสูง เช่น การจ้างงาน ภาระหนี้สิน เป็นต้น สภาพคล่องที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยที่หนุนราคา
สินทรัพย์การเงินนอกเหนือจากการเติบโตของรายได้และกำไร
2. สินทรัพย์มูลค่าต่ำเกินไปอันเนื่องมาจากความกังวล
คงเป็นเหตุการณ์ที่นักลงทุนจดจำไปอีกนานสำหรับความกังวลต่อสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรง แต่สิ่งที่เกิดกับตลาดเกิดใหม่นั้นรุนแรงกว่าตลาดประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากความกังวลต่อ
สถานภาพทางการเงินและเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่น้อยกว่า
ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ high-yield ของเอเชีย (สีดำ) และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ high-yield ของสหรัฐฯ (สีชมพู) Source: https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-12-21/asia-s-hot-junk-bond-market-may-see-a-surge-in-sales-next-month
ดังนั้นราคาสินทรัพย์การเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่จึงฟื้นตัวช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ตลาดตราสารหนี้ โดยข้อมูลส่วนต่างอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ high-yield ของตลาดเกิดใหม่ (สีดำ) และประเทศสหรัฐฯ (สีส้ม) จาก Bloomberg ชี้ให้เห็นว่าตราสารหนี้ high-yield ของตลาดเกิดใหม่มีส่วนต่างผลตอบแทนที่สูงกว่าสหรัฐฯ (ซึ่งเป็นปกติอยู่แล้ว) แต่เมื่อเทียบกับในอดีตแล้วจะเห็นว่าส่วนต่างดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด และปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาในอดีต อีกทั้งมีบางช่วงที่ส่วนต่างของตราสารหนี้ high-yield ของตลาดเกิดใหม่เท่ากับของสหรัฐฯ (ปี 2017)
ส่วนสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ทึ่ฟื้นตัวขึ้นมาไม่แพ้ประเทศพัฒนาแล้วอย่างตลาดหุ้น ก็ยังมี upside ที่น่าสนใจในเชิงเปรียบเทียบ โดยใช้ Forward P/E ของ MSCI Emerging Market เทียบกับ Forward P/E ของดัชนี S&P500 แล้วพบว่า Relative Forward P/E อยู่ที่ระดับ -1 S.D. (ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี) เนื่องจากนักวิเคราะห์คาดว่ากำไรต่อหุ้นของตลาดเกิดใหม่ในปี 2021 จะเติบโตได้มากกว่า S&P500 ทำให้มีช่องว่างให้ราคาปรับตัวขึ้นได้มากกว่า
หรือพูดง่ายๆ ก็คือบางสินทรัพย์มีมูลค่าสูงกว่าราคาปัจจุบัน ส่วนบางสินทรัพย์ก็ยังเติบโต
ได้อีก แล้วทำไมยังเติบโตได้อีก ไปติดตามกันต่อในข้อถัดไป
3. ยังมีนโยบายกระตุ้นเหลือและรับแรงหนุนจากเศรษฐกิจโลกฟื้น
ประเทศตลาดเกิดใหม่เป็นกลุ่มที่รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในฐานะส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของหลากหลายสินค้าไม่ว่าจะเป็น Smart phone และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของโลก หรือทรัพยากรธรรมชาติ
เช่น แร่ โลหะ ยางพารา และสินค้าการเกษตร
แนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก Source: Bloomberg.com
ในระหว่างที่เกิดการแพร่ระบาดธนาคารกลางของประเทศตลาดเกิดใหม่ก็ใช้นโยบายการเงินเพื่อรับผลกระทบ โดยอัตราดอกเบี้ยของประเทศตลาดเกิดใหม่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้เครื่องมือด้านอัตราดอกเบี้ยสามารถใช้ได้มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนปัญหาหลักอย่างอัตราเงินเฟ้อก็ไม่ต้องกังวลเนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่การใช้จ่ายลดลง โดยมุมมองจาก Bloomberg ชี้ว่าในปี 2021 ประเทศตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ยต่ออีกซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจและตลาดการเงิน
สัดส่วนการซื้อสินทรัพย์ต่อ GDP ของประเทศทั่วโลก Source: https://www.reuters.com/article/uk-emerging-markets-qe-yearend-analysis-idUKKBN2930G7?edition-redirect=uk
ส่วนอีกนโยบายการเงินซึ่งประเทศพัฒนาแล้วใช้มาตลอดทศวรรษที่ผ่านมาอย่าง Quantitative Easing (QE) ธนาคารกลางประเทศตลาดเกิดใหม่ก็เริ่มใช้กันแล้วในวิกฤติรอบนี้ โดยประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนิเซียและฟิลิปปินส์ รวมไปถึงโปแลนด์ต่างใช้ในระดับ 2-6% ของ GDP (ประเทศสหรัฐฯ ใช้อยู่ที่ 12% ของ GDP) อย่างไรก็ตามการใช้นโยบายนี้คง
มีข้อจำกัดเนื่องจากความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพของประเทศตลาดเกิดใหม่ไม่เอื้อ
ต่อนโยบายเช่นนี้
นโยบายการเงินที่เหลือน้อยลงทำให้นโยบายการคลังก้าวขึ้นมามีบทบาทหลักเพื่อกระตุ้น
เศรษฐกิจของทุกประเทศในปี 2021 สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่แล้วต้องติดตามปริมาณ
การใช้และข้อจำกัดอันเกิดจากเสถียรภาพทางการเงินของแต่ละประเทศ รวมไปถึงความ
สามารถแบกรับภาระหนี้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนอย่างประเทศพัฒนาแล้ว
ชอบ "กดถูกใจ" ใช่ "กดแชร์"
แล้วพบกับบทความดี ๆ จาก SkillLane อีกมากมาย
กดติดตามไว้ได้เลย!
โฆษณา