19 ก.พ. 2021 เวลา 05:25 • กีฬา
Blof Story - ลูกฟุตบอลมาจากไหน (ตอนที่ 1)
ถ้าถามว่าอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในกีฬาฟุตบอลคืออะไร ก็คงจะหนีไม่พ้นเจ้าลูกฟุตบอลกลมๆ พระเอกของเกมที่ทุกๆคนไล่เตะกัน แต่จะมีใครรู้หรือไม่ว่าไอ้เจ้าลูกฟุตบอลกลมๆมีลมอยู่ข้างในนี้ มีประวัติความเป็นมายังไง ทำมาจากอะไรกันบ้าง ในบทความนี้เราจะพาไปดูที่มาที่ไปของเจ้าลูกบอลว่ามันมาจากไหนกัน ก่อนจะมาเป็นลูกบอลที่เราเตะกันทุกวันนี้
รู้หรือไม่ว่าเจ้าลูกบอลลูกแรกมันยังไม่กลมสมบูรณ์ด้วยซ้ำ ในยุคแรกที่ฟุตบอลยังไม่เป็นกีฬาสากลในทั่วทุกมุมโลก ก็มีการสร้างลูกบอลกันขึ้นมาเองจากวัสดุที่สามารถหาได้ในแต่ละท้องถิ่น เพราะฉะนั้นฟุตบอลในยุคแรกยังไม่มีความเป็นทางการและถูกสร้างขึ้นมาจากวัสดุที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น กระโหลกมนุษย์ที่นำมาเย็บกับชิ้นผ้า กระโหลกสัตว์ จนไปถึงกระเพาะวัว หรือกระเพาะหมู
ณ ตอนนั้นวิธีการเล่นเจ้าลูกบอลเหล่านี้ในแต่ละมุมโลกก็ต่างกันออกไป และแตกต่างกับฟุตบอลในปัจจุบันจนนึกว่าเป็นคนละกีฬาไปเลยทีเดียว ในช่วงท้ายๆของยุคแรกของลูกฟุตบอลมีการอัพเกรดขึ้นมาเพื่อทำให้ทรงของลูกบอลมีความกลมขึ้นและไม่เสียรูปทรงด้วยการเอากระเพาะสัตว์ต่างๆมาหุ้มด้วยหนังสัตว์อีกที
จากยุคก่อนหน้านี้เหล่านักเตะทั้งหลายต่างเจอปัญหาเดียวๆกันที่ว่า ลูกฟุตบอลแต่ละลูกมีขนาดและรูปทรงตามกระเพราะสัตว์ทำให้ลูกบอลแต่ละลูกมีการกลิ้งหรือเด้งที่ไม่แน่นอนและไม่สามารถคาดเดาทิศทางได้เลยตอนเตะ
จนกระทั้งในปี 1836 ชายชาวอเมริกันที่ชื่อว่า Charles Goodyear ได้มีความพยายามที่จะคิดค้นลูกบอลที่ทำมาจากยาง Vulcanized ซึ่งเป็นยางธรรมชาติชนิดนึงที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นและทนความร้อน และในที่สุดในปี ค.ศ.1862 ความพยามของเขาก็ประสบความสำเร็จเมื่อเขาสามารถผลิตลูกบอลที่ทำจากยาง Vulcanized ได้
Charles Goodyear และลูกบอลยางวัลคาไนซ์ ในปี ค.ศ. 1863
ในช่วงปีเดียวกันทางอีกซีกโลกอย่างอังกฤษยังมีความพยายามพัฒนาลูกบอลจากวัสดุเดิมๆ อย่างกระเพาะสัตว์ แต่พยายามทำให้มีทรงที่กลมมากขึ้นและที่ดีขึ้นไปอีกก็คือลูกบอลสามารถถูกสูบลมได้แล้วในตอนนี้ ในปีต่อมา ค.ศ.1863 สมาคมฟุตบอลอังกฤษได้มีการตั้งกฏเกี่ยวกับลูกบอลที่ใช้ในการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นขนาดเส้นรอบวง 68.6 ซม.-71.1 ซม ซึ่งเป็นขนาดที่ถูกยึดถือ ใช้ต่อมาถึงปัจจุบันโดย FIFA หรือ น้ำหนักของลูกบอลก็ตาม
ในปี ค.ศ. 1888 สืบเนื่องจากการจัดตั้งลีกฟุตบอลของประเทศอังกฤษอย่างเป็นทางการ จึงทำให้มีความพยายามพัฒนาและผลิตลูกฟุตบอลกันเป็นอย่างมาก เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดขณะนั้น ซึ่ง ณ ตอนนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ 2 เจ้าที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดได้แก่ Mitre และ Thomlinson’s of Glasgow
โรงงาน Thomlinson's of Glasgow ในปี ค.ศ. 1949
ทั้ง 2 เจ้านี้คือผู้กุมความลับในการผลิตลูกฟุตบอลที่มีความกลม และคงรูปทรงได้ดีที่สุด นั่นก็คือการเลือกใช้หนังสัตว์ที่แข็งแรงมากขึ้น ในการใช้เป็นวัสดุทำส่วนนอกของลูกฟุตบอล และที่สำคัญที่สุดก็คือเทคนิคการตัดเย็บที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลยังคงรูปทรงไว้ ซึ่งในเวลานั้นลูกบอลก็เริ่มมีการแบ่งเกรดคุณภาพกันแล้วด้วย เหมือนลูกฟุตบอลในปัจจุบัน
ลูกฟุตบอลที่ใช้ในฟุตบอลโลก ในคริสต์ศตวรรษที่ 20
ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่วนในของลูกบอลจากเดิมที่ใช้กระเพาะสัตว์ในการทำ ก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นไส้ในที่ทำจากยาง ทำให้ลูกบอลเริ่มมีคุณสมบัติที่คงทนต่อแรงอัดลมภายในบอลที่มากขึ้น รวมไปถึงกระดอนพื้นมากขึ้น ส่วนนอกของลูกบอลมักจะถูกหุ้มด้วยหนังสัตว์หนาสีน้ำตาล แล้วถูกตัดเย็บด้วยวิธีที่ต่างกันออกไป เช่น แบ่งเป็น 6 ส่วนหรือ 8 ส่วน
ถึงอย่างไรก็ตาม บอลในยุคนี้ก็ยังมีปัญหาระหว่างใช้อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลมที่ซึมออกจากบอลเร็วมากจนบางครั้งถึงกับต้องสูบบอลระหว่างการแข่งขันด้วยซ้ำ บอลมีความแข็งมากจนเป็นอุปสรรค์ต่อการโหม่ง นอกจากนี้บอลยังอมน้ำมากจนทำให้น้ำหนักของบอลมากขึ้นเวลาที่มีฝนตก
ในปี ค.ศ. 1930 ได้มีความพยายามแก้ปัญหาน้ำเข้าลูกบอลและลมซึม ด้วยการทาสีสังเคราะห์ที่ผิวนอกของลูกบอล และเลือกวัสดุชั้นนอกที่ไม่ค่อยมีรูบนพื้นผิว
ประมาณ 20 ปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1950 บอลสีขาวถูกนำมาใช้ในการเล่นและได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้แฟนบอลเห็นลูกบอลได้ชัดเจนขึ้น และไม่กี่ปีต่อมาเจ้าลูกบอลสีส้มก็ถูกคลอดออกมาเพื่อให้แฟนบอลเห็นบอลมากขึ้นในเวลาที่หิมะตก
ลูกฟุตบอลสีส้ม ภาพในปี ค.ศ. 1970
นี่เป็นเพียงแค่ยุคแรกของเจ้าลูกบอลเท่านั้นนะครับ ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใช่มั้ยครับกว่าเราจะมีลูกบอลกลมๆเตะเหมือนทุกวันนี้ คงนึกไม่ถึงกันเลยใช่มั้ยครับ เดี๋ยวรอดูในตอนต่อไปครับ เราคงได้เห็นลูกบอลที่หน้าตาไม่ต่างจากบอลในยุคปัจจุบันมากเท่าไหรครับ อย่าลืมติดตามนะครับ
โฆษณา