2 ก.พ. 2021 เวลา 12:26
อย่าปล่อยใจเข้าสู่สนามอารมณ์
เลี่ยงการโต้เถียงด้วยหลัก “Verbal Aikido”
.
.
ประโยคที่ว่า "เมื่อเรายังไม่พูด..เราเป็นนายคำพูด แต่เมื่อพูดออกไปแล้ว..คำพูดเป็นนายเรา" มักถูกใช้หลังจากได้กระทำการบางอย่างที่ไม่ดีลงไป
.
ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอารมณ์ที่อยู่เหนือเหตุผล ทำให้ควบคุมคำพูดของตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะกับการโต้เถียง ที่เราต่างรู้ดีว่าไม่มีประโยชน์ แต่ก็ยังลงไปอยู่ในสนามอารมณ์ร่วมกับอีกฝ่าย
.
หรือหากลงลึกไปในรายละเอียด จะพบว่า เพราะการขาดสติ ขาดการทำความเข้าใจ ขาดความเห็นอกเห็นใจหรือเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้คนเข้าสู่โหมดป้องกันตัว ด้วยการตัดสินใจเข้าข้างตัวเอง
.
จากบทความ How ‘Verbal Aikido’ Can Help You Avoid Stupid Arguments เขียนโดย Don Johnson ได้พาเราไปเรียนรู้ศาสตร์ของการพูด ที่จะช่วยให้เราไม่ตกอยู่ในสถานการณ์การโต้เถียงที่รุนแรง
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราถูกกระตุ้นให้รู้สึกหงุดหงิดหรือเครียด เมื่อเรามีอารมณ์เรามักจะตั้งสมมติฐานแล้วข้ามไปที่ข้อสรุปเลย เรามักไม่รับฟัง หรือฟังอย่างไม่ตั้งใจ ทำให้ขาดการเอาใจใส่ พลั้งเผลอพูดหรือกระทำอะไรลงไปโดยขาดสติ
.
และหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะสามารถช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงข้อโต้แย้งที่รุนแรงได้ อย่างการ “ไอคิโดด้วยวาจา” (Verbal Aikido) จึงอาจเข้ามาแก้ไขข้อบกพร่องตรงนี้ได้
.
ไอคิโด เป็นศิลปะการต่อสู้สมัยใหม่ของญี่ปุ่นที่ใช้หลักการไม่ต่อต้านเพื่อให้เกิดการประสานกันทางการต่อสู้ หรือกล่าวได้ว่าเป็น “วิถีแห่งจิตวิญญาณที่กลมกลืนกัน”
.
ไอคิโดไม่ได้นำเสนอการโจมตีที่ก้าวร้าวหรือป้องกันเพียงอย่างเดียว แต่ใช้พลังงานของคู่ต่อสู้เพื่อเบี่ยงเบนและเปลี่ยนทิศทางการโจมตีโดยไม่ให้เป็นอันตรายต่ออีกฝ่ายด้วย
.
และเมื่อนำหลักการนี้มาใช้กับความขัดแย้งในชีวิต จะพบว่าเราสามารถตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแก้ปัญหาอย่างสันติและการพัฒนาตนเองไปพร้อมกันได้
.
จากสถานการณ์การโต้เถียงก็เปรียบเสมือนคนสองคน ที่ฝ่ายหนึ่งผลัก ฝ่ายหนึ่งดันกลับ จนกว่าจะมีฝ่ายใดรุกหนักขึ้น ซึ่งพอนึกย้อนกลับมาจะพบว่า ไม่มีใครสำเร็จโดยแท้จริง มีแต่ต่างฝ่ายต่างรู้สึกแย่
.
หลักการไอคิโดด้วยวาจา จะช่วยขจัดความขัดแย้งและสามารถช่วยให้ทั้งสองฝ่ายกลับมาเอาใจใส่กันอีกครั้ง
.
ลองนึกภาพคุณกับเพื่อนสนิทกำลังเถียงกัน หากอีกฝ่ายบอกว่า “นั่นเป็นความคิดที่โง่มาก มันใช้ไม่ได้” ถ้าคุณตอบโต้ด้วยอารมณ์ก็เหมือนเป็นการเพิ่มแรงเสียดทานระหว่างบทสนทนาไปด้วย ฉะนั้นลองใช้หลัก “ไอคิโด” ดังนี้
.
1. การตอบแทน : คุณสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ด้วยการยอมรับมุมมองของอีกฝ่าย โดยไม่พูดอะไรก้าวร้าว หรือแสดงการป้องกันตัว แต่อาจพูดทวนกลับไปว่า “คุณคิดว่ามันเป็นความคิดที่โง่เขลาเหรอ?” เพื่อย้ำให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของความคิดนั้นยิ่งขึ้น
.
2. สอบถาม : สมมติว่าเขาพูดว่า “ใช่ ฉันคิดว่ามันเป็นความคิดที่โง่” คุณอาจถามกลับไปว่า “โอเค! … ช่วยทำให้เข้าใจมากขึ้นได้ไหม ว่าทำไมคุณถึงคิดว่ามันโง่?” เพื่อชวนอีกฝ่ายมาแบ่งปัน ไม่ใช่แค่สิ่งที่เขาคิด แต่จะได้รู้ด้วยว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น (เข้าใจความคิดและมุมมองของอีกฝ่าย)
.
3. แบ่งปัน : เป็นขั้นตอนอธิบายว่าทำไมคุณถึงคิดแบบนั้น หลังจากที่ได้คำตอบจากเขา เช่น “ฉันคิดว่ามันเป็นความคิดที่ดีเพราะ…” สิ่งนี้สร้างความสมดุลในการสนทนาและเปิดการอภิปรายที่ไม่เพียงแต่เกี่ยวกับความคิดเห็นของเราทั้งคู่ แต่เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่เบื้องหลังทางความคิดของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นการแก้ไขข้อโต้แย้งผ่านบทสนทนาอย่างหนึ่ง
.
4. แก้ไข : เมื่อเราพูดคุยกันมากขึ้นหากเขาเสนอความคิดที่มีน้ำหนักมากพอ คุณก็สามารถเปลี่ยนใจได้ (อย่ากลัวว่าจะขายหน้า) หรือถ้าเห็นว่าพอจะมีวิธีที่ดีกว่า อาจชวนเขามาแก้ปัญหาที่เหมาะกับเราทั้งคู่ได้
.
ซึ่งเราอาจเรียกมันว่า เป็นการประนีประนอมก็ได้ และต่อให้ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ แต่อย่างน้อยเราก็เข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น และนั่นเป็นผลลัพธ์ที่ดีกว่าการโต้เถียง
.
สุดท้ายแม้การโต้เถียงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิต แต่หากเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอด เราสามารถพูดอย่างชาญฉลาด รับฟังอย่างกระตือรือร้น และนำความจริงใจมาสู่บทสนทนานั้นได้
.
.
แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/36AUdKp
5
#MissionToTheMoonPodcast
โฆษณา