2 ก.พ. 2021 เวลา 13:12 • ข่าว
ทหารเมียนมาก่อ ‘รัฐประหาร’ ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ
1 กุมภาพันธ์ 2564 การเมืองเมียนมา ย้อนกลับมาสู่โหมดทหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนอีกครั้ง สำหรับคนไทยเมื่อฟังข่าวคราวประเทศเพื่อนบ้านคงนึกถึงภาพรัฐประหารแบบไทยๆเหมือนอดีตที่ผ่านมา ภาพรถถังตามสี่แยก ทีวีจอดำ เปิดเพลงปลุกใจ แถลงการณ์ “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” นักการเมืองถูกจับไปปรับทัศนคติ และ ตามมาด้วยการ ‘ฉีกรัฐธรรมนูญ’
ทว่า รัฐประหารฉบับเมียนมาแตกต่างออกไป แม้จะมีรถถัง และทีวีจอดำ (แถมตัดสัญญาณมือถือและเน็ต ให้เข้ากับยุคดิจิทัล) ออกแถลงการณ์ผ่านทีวีกองทัพ รวบตัวบุคคลสำคัญอย่าง อองซานซูจี แกนนำพรรคNLD และ นักกิจกรรมประชาธิปไตย ตั้งแต่เช้ามืดแบบไม่ให้ตั้งตัว แต่รัฐประหารครั้งนี้ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ และคงไม่ใช่แค่จับปรับทัศนคติแน่นอน (เพราะผู้ถูกคุมตัวต้องเผชิญกับข้อหาหนัก ทำลายเจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่กองทัพมีหน้าที่พิทักษ์)
ทำไม ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ
ผมได้มีโอกาสคุยกับ ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางรายการ TNNข่าวเที่ยง ได้คำตอบว่าการที่ทหารเมียนมายึดอำนาจและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1ปี ไม่ผิดกฎหมาย เพราะ “รัฐธรรมนูญเมียนมาไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญเมียนมา มาตรา417, 418, 419 เปิดโอกาสให้อำนาจผู้บัญชาการทหารสูงสุงรับถ่ายโอนอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ มาบริหารประเทศได้” เมื่อสถานการณ์ในประเทศเกิดเหตุการณ์วิกฤต
(ซึ่งครานี้ทหารอ้างว่าการเลือกตั้งปี2563ที่ผ่านมาไม่สุจริต นี่แหละวิกฤตของชาติมาถึงแล้ว พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจึงได้ทำการโอนอาจทั้งหมดมาอยู่ในมือ ก้าวขึ้นมาเป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’)
แล้วอย่างนี้จะเรียกว่า รัฐประหาร ได้ไหม
อาจารย์นฤมลบอกว่า จริงๆทางเมียนมาเองไม่ได้ใช้คำนี้ ทหารเรียกว่า ‘การถ่ายโอนอำนาจ’ โดยรองประธานาธิบดี (ที่ได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายกองทัพ) รักษาการประธานาธิบดี เซ็นถ่ายโอนอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ขณะที่ประธานาธิบดีถูกจับกุมไปแล้ว ดังนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็น Self coup หรือ Constitutional coup การรัฐประหารภายใต้รัฐธรรมนูญ อาจาย์บอกต่ออีกด้วยว่า “การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีระยะเวลา1ปี และสามารถขยายได้ ไม่ผิดที่จะขยาย”
หลังจากยึดอำนาจได้ไม่ถึง 24ชั่วโมง กองทัพเมียนมาได้ประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหมดอายุลงใน1ปีข้างหน้านี้
ว่าแต่ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเมื่อพฤศจิกายน 2563 มีปัญหาอะไร การทุจริตเป็นเหตุผลเดียวในการยึดอำนาจจริงหรือ
อาจารย์นฤมลมองว่า ถ้าการเลือกตั้งมีปัญหา กกต.เมียนมาก็สามารถประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ หรือให้เลือกตั้งใหม่ได้ แต่นี่ทหารเลือกรวบอำนาจภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน1ปี
แน่นอนว่าพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาลมักถูกครหาประเด็นนี้อยู่แล้ว ครั้งนี้การเลือกตั้งถูกจัดขึ้นท่ามกลางการระบาดของโควิด ภายใต้มาตรการป้องกันโรค ได้มีประกาศห้ามหาเสียงโดยการพบปะ ไม่ให้ปราศรัย ไม่ให้มีขบวนแห่ พรรคฝ่ายค้าน USDP อ้างว่าทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการแข่งขัน พรรครัฐบาลสามารถใช้กลไกรัฐเอื้อหาเสียง แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมา คะแนนเสียงต่างกันมาก 80 กับ 10กว่าเปอร์เซ็นต์ แปลว่าพรรค NLDของอองซาน ซูจี กวาดชัยชนะถล่มทลาย เรื่องร้องเรียนทุจริตในบางพื้นที่ก็ยากที่จะเปลียนชัยชนะครั้งนี้
การที่พรรคNLD ได้คะแนนมากถึงขั้นเป็น Super Majority ย่อมไม่ส่งผลดีต่อบทบาทของกองทัพในการเมืองเมียนมา
อาจารย์นฤมล อธิบายว่าพอผลออกมาเป็น Super Majority ก็อาจจะไม่มีรัฐบาลผสม และอาจจะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญได้ เพราะนอกเหนือจากอาศัยกลไกสภา ยังมีอีกช่องทางคือใช้มติมหาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ตรงนี้แหละที่กองทัพอาจจะกลัว เพราะคะแนนเสียงเยอะมาก นอกจากนั้นพรรคNLD ประกาศจะแก้ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ เป็นประเด็นที่กองทัพเป็นห่วงและไม่สบายใจ
เมื่อสถานการณ์การเมืองประเทศเพื่อนบ้านไม่แน่นอน แบบนี้ ชาวเมียนมาจะหนีมาไทยไหม ผลกระทบต่อฝั่งไทยจะเป็นอย่างไร
อาจารย์มองว่ายากที่ชาวเมียนมาจะทะลักเข้าไทย เพราะจากสถานการณ์โควิด ไทยเราได้คุมเข้มแนวชายแดน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ คนที่ต้องไปอาจจะยังไม่ไป หมายถึงแรงงานเมียนมากว่าสองล้านคนในไทย ที่ต้องส่งกลับบางส่วนตาม MOU คงต้องระงับไปก่อน
เมียนมาคงไม่ปิดประเทศ เพราะมีการลงทุนจากต่างชาติมากมายในเมียนมาวันนี้ ประเทศที่มองว่าเรื่องนี้เป็นกิจการภายในก็จะทำมาค้าขายกันต่อไป
น่าสนใจตรงที่อาจารย์ทิ้งท้ายไว้ว่า รัฐบาลไทยอาจใช้โอกาสนี้เจรจาประเด็นเศรษฐกิจกับรัฐบาลทหารเมียนมา เพราะคุยรู้เรื่องมากกว่ารัฐบาลพลเรือน
โฆษณา