8 ก.พ. 2021 เวลา 02:18 • ปรัชญา
ธรรมะวันจันทร์
ดังตฤณ
ควรรู้แค่ลมหายใจอย่างเดียว
หรือควรรู้ถึงอิริยาบถนั่งด้วย?
ถ้าเพ่งจ้องลมหายใจมากเกินไป
อาการของจิตจะคับแคบ
ความรู้สึกจะติดๆขัดๆ ทึบๆ
ไม่พร้อมจะรับรู้อะไรที่กว้างไปกว่า
ลมหายใจที่มาเป็นครั้งๆ
ไม่สามารถรู้เลยมาถึงอิริยาบถได้
แต่ถ้าหากว่าจิตเปิดกว้าง
ร่างกายไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งกำเกร็ง
มือเท้า ใบหน้า มีแต่อาการผ่อนคลาย
แต่ละระลอกลมหายใจ
เหมือนถูกรู้ได้อย่างง่ายๆ สบายๆ
ในที่สุด ด้วยจิตที่เปิดกว้างสบายใจแบบนั้น
ก็จะเห็นครอบไปถึงอิริยาบถปัจจุบันด้วย
โดยไม่ต้องใช้ความพยายามแต่อย่างใด
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
เมื่อรู้ลมหายใจได้แล้ว
มีอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำ คือ รู้อิริยาบถ
ถ้าหากว่าฝึกมาตามลำดับ
จะเห็นต่อเนื่องกันเลย
กล่าวคือ ขณะเจริญสติ
ที่เห็นว่าหายใจเข้า หายใจออก
มันกำลังหายใจเข้า หายใจออก
อยู่ในร่างที่อยู่ในอิริยาบถนั่ง
หรืออยู่ในอิริยาบถเดิน
และถ้าหากว่าสติมีความสม่ำเสมอ
มีความคมเป็นอัตโนมัติมากพอ
เห็นว่าลมหายใจนี้
มีความเข้ามีความออกอยู่ตลอดเวลา
มียาวมีสั้นไม่เท่ากันอยู่เรื่อยๆ
ก็จะทำให้พลอยเห็นเลยไปถึง
อิริยาบถยืน กับอิริยาบถนอนไปด้วย
พอลืมตาตื่นขึ้นมา
จะขยับ จะเคลื่อนไหว จะกระดิกอะไร
รู้เองไปหมด สามารถที่จะเท่าทันได้
โดยไม่ต้องพยายามอะไรทั้งสิ้น
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
และถ้าหากว่าเรายังคงไม่ปล่อยสติ
ยังสังเกตอยู่ ยังเห็นอยู่ว่า มันรู้ไปได้เรื่อยๆ
ก็จะสามารถเห็นเข้ามาได้ชัดเจน
มีความละเอียด มีความประณีตมากขึ้น
สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นธรรมดาก็คือ มีความสุข
รู้สึกว่ากายใจไม่ดิ้นพล่าน กระสับกระส่าย
ความสุขทางกายทางใจนี้
เห็นเลยว่ามันอยู่นาน
และถ้าเราไม่ประมาท ยังคงสังเกตอยู่
ก็จะเห็นต่อไปว่า
ความสุขที่อยู่นานนั้น
เดี๋ยวก็ต้องเคลื่อนไป
ต้องเปลี่ยนเป็นหม่นหมองลงจนได้
เช่น อากาศร้อน รถติด
หรือมีเสียงที่ไม่น่าพอใจมากระทบหู
มีระลอกความฟุ้งซ่านผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ
รบกวนให้เป๋ออกไป
จากฐานของลมหายใจ ฐานของร่างกาย
พอเห็นธรรมชาติของจิตว่าเป็นอย่างนี้
เราก็จะเกิดความฉลาดทางจิตมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าความสุขเป็นตัวเป็นตน
หรือว่าเป็นสิ่งที่น่ายึดน่าเอา
เพราะในที่สุดแล้ว
ทั้งหลายทั้งปวงต้องเปลี่ยนไป
ข้อสรุปนี้แหละ ที่จะบอกได้ว่า
เราเริ่มต้นรู้ลมหายใจมาอย่างถูกต้องตรงทาง!
ร้อยเรียงจากวิสัชนาของคุณดังตฤณ
#THAIFA “รวมพลัง สร้างอนาคต”
โฆษณา