14 ก.พ. 2021 เวลา 04:12 • หนังสือ
บอกเล่าความรู้สึกสั้นๆ หลังอ่านหนังสือประวัติศาสตร์แห่งความหลอกลวง 5,000 ปีของการต้มตุ๋น ฉ้อโกง โกหก ปลอมแปลง
(ยังอ่านไม่หมดเล่มนะครับ...ผมเลือกอ่านแค่ตอนที่ตัวเองสนใจ)
"ความต้องการจะเชื่อในสิ่งที่ตนอยากเชื่อนั้นมันคือของสากล ความปรารถนาพื้นฐานนี้ล้วนเปิดประตูให้จอมลวงโลกทั้งหลายฉวยโอกาสหาประโยชน์" จากคำนำผู้เขียน หน้า 10
หนังสือ HOAX เล่มนี้คือบันทึกประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนอย่าง เอียน แททเทอร์ซอลล์และปีเตอร์ เน-วรอมอนต์ ร่วมกันเขียนเรื่องราวแห่งการต้มตุ๋นหลอกลวงทั้งในแวดวงวรรณกรรม, วิทยาศาสตร์, ศาสนา, การเมือง, สื่อสารมวลชน ตลอดจนเรื่องสามัญชนทั่วไปที่บานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่
สิ่งหนึ่งที่ต้องชมเชยเลยคือ การบรรยายที่สั้น กระชับ แต่ยังคงความน่าสนใจและพิศวงให้กับผู้อ่านได้เสมอๆ อาจด้วยการหลอกลวงบางอย่างมันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา ในขณะที่บางเรื่องดูโอเวอร์เสียจนไม่น่าจะเป็นไปได้ เช่น การหลอกขายหอไอเฟลของวิคเตอร์ ลัสติก (ซึ่งมีคนตกเป็นเหยื่อเสียด้วยสิ) ซึ่งทำให้เราอ่านได้ไม่มีเบื่อแน่นอนครับ
พร้อมกันนี้ทางผู้เขียนยังเเทรกเนื้อหาที่วิเคราะห์ชำแหละธรรมชาติของมนุษย์ ในแต่ละกรณีว่าทำไมเรื่องหลอกลวงนั้นๆ จึงประสบความสำเร็จ
เมื่อผมได้ลองอ่านไปได้สักพัก ผมเริ่มรู้สึกว่าบางทีหนังสือประวัติศาสตร์ก็มีความคล้ายกับวรรณกรรม ตรงที่บางครั้ง 'มันก็ไม่เคยล้าสมัย' เลย
ทั้งการต้มตุ๋นที่เล่นกับความโลภของคน, การหลอกลวงที่เพียงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง, การเลือกที่จะเชื่อข้อมูลหนึ่งเพียงเพราะว่ามันตรงกับความคิดตัวเอง (ในทางจิตวิทยาเรียกว่า 'ความเอนเอียงเพื่อยืนยันความคิดของตน (Confirmation bias)') หรือความจริงนั้นมีรสชาติพะอืดพะอมเสียจน เราต้องใช้พลังแห่งจินตนาการเพื่อตีความมันเสียใหม่แทนที่จะเผชิญกับมันตรงๆ
แต่ไม่ว่าอย่างไรประวัติศาสตร์ของทั้งฝั่งนักต้มตุ๋นและฝั่งที่ถูกหลอก ล้วนมีสาเหตุที่ซ้ำๆ กัน (หรือใกล้เคียงกัน) เหล่านี้เสมอ
หรือจริงๆ แล้ว 'ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า มนุษยชาติไม่เคยเรียนรู้อะไรจากมันเลย' กันแน่นะ?
ประวัติศาสตร์แห่งความหลอกลวง 5,000 ปีของการต้มตุ๋น ฉ้อโกง โกหก ปลอมแปลง เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่หมูแว่นอยากป้ายยามากในปี 2021 นี้ครับ
มาลงบทความให้หายคิดถึง Blockdit เสียหน่อย
โฆษณา