23 ก.พ. 2021 เวลา 09:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อะไรคือ Negative Income Tax : NIT (ฉบับกะทัดรัด)
1
มันดูเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งในตัวเอง เมื่อ Tax หรือภาษีเงินได้เป็นสิ่งที่เราต้องจ่ายให้รัฐ แต่ถ้าเอา Negative มาแปะไว้ข้างหน้ามันจะหมายความถึงอะไร มันคือการที่รัฐคืนภาษีกลับมาให้เราอย่างนั้นหรือ ?
1
คำตอบสั้น ๆ คือ ใช่ มันคือการโอนเงินส่วนหนึ่งที่ควรจะเป็นภาษีให้รัฐมาเป็นเงินส่วนเพิ่มให้ประชาชน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนขยันทำงานเพื่อเพิ่มรายได้ของตนเองให้มากขึ้น
 
คณะวิจัยของ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร เคยศึกษาว่าเครื่องมือทางการคลังมีส่วนอย่างไรเพื่อสร้างสังคมไทยที่ “เสมอหน้า” มากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจาก
1.) โดยพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นภาษีฐานเงินได้ ภาษีการบริโภค และทรัพย์สิน หากมีโครงสร้างแบบอัตราก้าวหน้า (Progressive tax) จะสามารถทำหน้าที่กระจายรายได้และความมั่งคั่งในสังคม (Redistribution) ได้
2.) ในทางตรงกันข้ามงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น จะครอบคลุมถึงเรื่องการจัดสรรให้หน่วยงานต่าง ๆ ตามภารกิจ เช่น นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ประชาชน
ทั้งนี้ รัฐอาจเลือกแจกจ่ายเงินบางส่วนลงไปให้ประชาชนบางกลุ่ม (Cash Conditional Transfer: CCT) หรือเลือกแจกแบบถ้วนหน้า (Universal Basic Income: UBI) หรือหากจะทำทั้ง CCT และ UBI พร้อมกันก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น มาดูกัน
 
โดยคณะวิจัยฯ ให้คำอธิบายว่า NITคือการให้เครดิตภาษีเงินได้เนื่องจากการทำงาน (Earned Income Tax Credit: EITC) และให้ชื่อเก๋ๆ ของมันว่า “เงินโอน แก้จน คนขยัน” บอกเป็นนัย ว่าถ้าเราขยัน เราจะได้รับเงินโอนเพิ่ม และทำให้แก้จนได้ในที่สุด
ซึ่งเราสามารถ แบ่ง NIT ออกเป็น 4 ช่วงหลักๆ คือ 1.ช่วงขึ้นภูเขา (Phase-in Region) 2.ช่วงยอดภูเขา (Flat Region หรือ Plateau) 3.ช่วงลงภูเขา (Phase-out Region) และ 4.ช่วงที่มีรายได้สูงจนไม่ได้ NIT แล้ว
1
ก่อนอื่น เราต้องรู้จำนวนเงินที่เหมาะสมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพในสังคมหนึ่งๆก่อน ซึ่งแนวทางวิธีการคำนวณจะอยู่นอกเหนือขอบเขตของบทความนี้ จากรูป หากเรามีตัวเลขในใจ และต้องการขยับรายได้ของกลุ่มคนที่เราต้องการให้ไปถึง 20,000 บาท ในช่วงที่ 1 ถ้ามีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท จะได้รับเงินโอนจากรัฐในอัตรา 100% เช่น ประวิตรมีรายได้อยู่ที่ 7,000 บาท และเข้าร่วมโครงการนี้ ประวิตรจะมีเงินได้รวมทั้งสิ้น 7,000 + 7,000 เป็น 14,000 บาท
ช่วงที่ 2 ช่วงยอดภูเขาเป็นช่วงพักตัว เมื่อประวิตรมีรายได้ถึง 10,000 บาท ไม่ว่าประวิตรจะขยันทำงานมีรายได้เพิ่มเท่าไร แน่นอนเขาได้รายได้จากการทำงานเพิ่ม แต่เขาจะได้รับเงินเดือนจากรัฐเท่าเดิมที่ 100% ของเงินเดือนคือ 10,000 บาท ทำให้เมื่อคนขยันจนข้ามจากช่วงที่ 1 มาช่วงที่ 2 ได้ จะรับประกันได้ว่าเขาจะมีรายได้ต่อเดือน 20,000 บาท อย่างไรก็ตาม ผู้ออกแบบนโยบายอาจเลือกไม่ให้มีช่วงพักตัวโดยข้ามจากช่วงที่ 1 ไปช่วงที่ 3 เลยก็ได้
ช่วงที่ 3 ช่วงลงภูเขา เมื่อประวิตรเริ่มมีรายได้ที่เขาหาได้เองเกิน 20,000 บาท เมื่อเขามีรายได้มากขึ้นอีก รัฐจะโอนเงินช่วยเหลือให้เขาลดลงในอัตรา 50% ทำให้ความชันของช่วงที่ 3 ลดลงกว่าช่วงที่ 1 มาครึ่งหนึ่ง ขณะเดียวกันระยะเวลาของช่วงที่ 3 ก็ยาวกว่าช่วงที่ 1 หนึ่งเท่าตัว เช่น ถ้าประวิตรมีรายได้ 30,000 บาท เขาจะได้เงินโอนจากรัฐเพียง 5,000 บาท หรือ คิดจาก 10,000 (เงินโอนที่มากที่สุด) – 10,000*0.5 (50 % ของผลต่างจากรายได้ที่หาได้ กับรายได้สูงสุดของช่วงที่ 2) เป็นต้น
ช่วงที่ 4 ประวิตรมีรายได้เกินเกณฑ์จนไม่ได้รับเงินโอนจากรัฐผ่านนโยบาย NIT แล้ว
คณะผู้วิจัยยกตัวอย่างเป็นรายได้และเงินโอนต่อปี แต่ผู้เขียนมองว่าอาจปรับเปลี่ยนเป็นเงินโอนต่อเดือนได้ และการใช้ NIT ควรเป็นแบบรายเดือน เพราะภาครัฐมีโครงสร้างพื้นฐานการโอนเงินที่ได้ทำมาตั้งแต่โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จนถึงโครงการคนละครึ่งและเราชนะ แล้ว
เรียกได้ว่า NIT หรือ “เงินโอน แก้จน คนขยัน” เป็นวิธีการที่ใช้แรงจูงใจ (Incentive) โดยพูดตรงๆ ว่าใช้เงินเป็นตัวล่อให้คนขยัน ในระยะแรก ยิ่งขยันมาก เงินเดือนยิ่งเพิ่ม เงินโอนจากรัฐก็เพิ่มตามในอัตราที่เท่ากัน จนถึงจุดที่เงินโอนจากรัฐคงที่ ณ จุดนี้ รัฐไม่ได้สร้างแรงจูงใจ ซึ่งตีความได้ว่าเป็นระดับที่รัฐออกแบบเอาไว้ให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมนโยบายยกระดับรายได้ไปถึง
1
ขณะเดียวกันยังมีแรงจูงใจเล็กๆในบั้นปลาย ให้คนจำนวนไม่มากนักอีกกลุ่มหนึ่งให้ได้รับประโยชน์หากเขาขยันและยกระดับรายได้ให้สูงขึ้นไปอีกจนไม่จำเป็นต้องรับเงินโอนจากรัฐแล้ว
ในยุคสมัยปัจจุบัน NIT สามารถพัฒนาไปได้อย่างหลากหลายตามเทคโนโลยีและข้อมูลที่เรามี (Big Data) เช่น เกณฑ์ของ NIT สามารถพัฒนาไปได้มากกว่าเกณฑ์รายได้ หรือนำ Indicators อื่นๆ มาประยุกต์ใช้ อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของ NIT หรือก็คือการสร้างแรงจูงใจยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
อ้างอิง
หนังสือ สู่สังคมไทยเสมอหน้า ชำแหละความมั่งคั่ง ตีแผ่โครงสร้างอำนาจ สู่วิถีการปฏิรูป – ผาสุก พงษ์ไพจิตร
โฆษณา