1 มี.ค. 2021 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา จัดอีเวนต์ให้ใครๆ ก็ไม่อยากพลาด ฉบับ Zaap on Sale
4
ถ้าเป็นเมื่อ 10 ปีก่อน งานอีเวนต์ขายเสื้อผ้าออนไลน์ค่อนข้างจะเป็นสิ่งที่แปลกใหม่
แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นเรื่องปกติ ที่เกือบทุกๆ เดือนเราจะเห็นหลายอีเวนต์ถูกจัดขึ้น
3
มากไปกว่านั้น การซื้อขายเสื้อผ้าออนไลน์ก็ดูจะกลายเป็นเรื่องปกติ
หมดปัญหาเรื่องกลัวของไม่ตรงปก เพราะหลายแบรนด์ก็เริ่มมีหน้าร้านของตัวเอง
หรือไปฝากขายกับร้าน Multi-Brand ต่างๆ
1
แต่ไม่ว่าคนจะเคยชินกับสิ่งเหล่านี้มาแค่ไหน
กลับไม่ได้ทำให้งานอีเวนต์อย่าง Zaap on Sale มีคนแวะเวียนมาน้อยลงเลย
เพราะไม่ว่าจะจัดกี่ครั้ง ก็เป็นงานที่มีคนเดินกันหนาแน่นตลอด
และไม่ใช่แค่นักชอปเท่านั้นที่ต่อแถวเข้างานกันยาวเหยียด
ฝั่งด้านพ่อค้าแม่ค้า ต่างก็ต่อคิวจองพื้นที่สำหรับขายของในงานเช่นกัน
วันนี้ทางลงทุนเกิร์ลได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณพลอย-ธันยพร สว่าง และคุณยูริ-ซายูริ ฮากิฮาร่า ที่เป็นหัวใจสำคัญของงาน Zaap on Sale
แล้ว Zaap on Sale มีวิธีการจัดการอย่างไร ถึงยังฮิตติดกระแส? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
1
สำหรับสาวๆ นักชอปคงรู้จักงาน Zaap on Sale เป็นอย่างดี
เพราะถือเป็นอีเวนต์ ที่ต้องเตรียมเก็บเงินตั้งตารอ
เพื่อที่จะไปชอปสินค้าแบรนด์ดัง ราคาดีจากโลกออนไลน์
Zaap on Sale คืองานอีเวนต์ขายสินค้าแฟชั่นออนไลน์อันดับต้นๆ ของเมืองไทย
ซึ่งอีเวนต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท แซ๊ปปาร์ตี้ ธุรกิจจัดอีเวนต์ และออร์แกไนเซอร์
จุดเริ่มต้นของงาน Zaap on Sale เกิดขึ้นได้อย่างไร?
จริงๆ แล้วงาน Zaap on Sale พัฒนามาจาก “Zaap Party”
งานปาร์ตี้สังสรรค์ของเหล่าวัยรุ่น ที่มักจะจัดตามสถานที่ไนต์ไลฟ์ต่างๆ
ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จและเป็นกำลังหล่อเลี้ยงสำคัญของบริษัท
จนกระทั่งปี 2557 บริษัทพบกับปัญหาความไม่ปกติของบ้านเมือง
และโดนข้อกำจัดของเวลาทำให้ไม่สามารถจัดงานสังสรรค์ยามราตรีได้อย่างเคย
ซึ่งสถานการณ์ในครั้งนั้น ถือว่าเป็นวิกฤติใหญ่ของบริษัทเลยก็ว่าได้..
แต่ทางบริษัทก็ไม่ได้ยอมแพ้ พลิกวิกฤติมาเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจ จากกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่ในมืออยู่แล้ว อย่างกลุ่มวัยรุ่น ที่มีไลฟ์สไตล์สนุกสนาน และชอบทำกิจกรรม
โดยคุณพลอย และคุณยูริ เล็งเห็นว่า ความสนุกไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแค่เวลากลางคืนเท่านั้น
จึงหากิจกรรมที่วัยรุ่นสามารถทำช่วงเวลากลางวันได้
ประกอบกับเมื่อ 6 ปีก่อน เทรนด์การเปิดร้านค้าทางอินสตาแกรมเกิดใหม่ค่อนข้างเยอะ
แต่กลับไม่มีศูนย์รวมสินค้าออนไลน์เหล่านั้น ให้ลูกค้าได้เลือกซื้อหรือสัมผัสกับของจริง
ทำให้คุณพลอยและคุณยูริตัดสินใจรวบรวมร้านค้าออนไลน์ชื่อดัง
มาจัดเป็นงานอีเวนต์ Zaap on Sale ที่สยามพารากอน
ซึ่งธุรกิจนี้ก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เพราะเป็นอีเวนต์ขายสินค้าออนไลน์เจ้าแรกๆ ของไทย
ในช่วงแรก เริ่มต้นจาก 200 ร้านค้า ตอนนี้มีการขยายสเกลจนเป็น 500 ร้านค้าต่อการจัดงานหนึ่งครั้ง และใน 1 ปีจะจัดขึ้น 4 ครั้ง
และแม้ว่าปัจจุบันจะมีงานอีเวนต์เกิดขึ้นมามากมาย
แต่ Zaap on Sale ก็ยังอยู่ในเช็กลิสต์อันดับต้นๆ ของนักชอปปิงอยู่ดี
ซึ่งหัวใจสำคัญของงาน Zaap on Sale ประกอบไปด้วย
“ตรงเวลา ตรงสถานที่ และตรงใจลูกค้า”
1. “ตรงเวลา และตรงสถานที่” เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้า
โดย Zaap on Sale มักจะเลือกจัดงานในช่วง “หลังเงินเดือนออก” และ “ก่อนวันหยุดยาว”
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลูกค้าต้องการซื้อสินค้ามากที่สุด
รวมทั้งยังรวบรวมแบบสอบถาม และวิเคราะห์ตลาดว่า ณ เวลานั้นลูกค้าชอบสินค้าประเภทไหน
รวมทั้งสถานที่จัดงานยังสามารถเดินทางได้สะดวกสบาย
และสามารถรองรับคนได้อย่างเพียงพออย่าง รอยัล พารากอน ฮอลล์
2. การ “ตรงใจลูกค้า” ก็คือ สร้างเหตุผลให้ลูกค้าอยากไปที่งาน
โดยสินค้าที่ถูกคัดสรรมา มักจะมีโปรโมชันที่คุ้มค่า เช่น ลดราคา 50-90%
หรือไม่ก็เป็นสินค้า Exclusive ที่ไม่มีขายในออนไลน์ แต่ซื้อได้เฉพาะในงานเท่านั้น
และที่น่าสนใจก็คือ ร้านค้าภายในงาน ต่างก็มักจะเปิดตัวคอลเลกชันใหม่ที่งาน Zaap on Sale จึงเป็นตัวการสำคัญที่สามารถดึงลูกค้ามางานได้
ซึ่งถ้างาน Zaap on Sale ไม่มีร้านค้าที่น่าสนใจ ก็คงไม่เป็นอีเวนต์ที่เนื้อหอมอย่างทุกวันนี้
แล้วพวกเขามีกลยุทธ์อะไร ที่สามารถรักษาร้านค้าและมีบูทเต็มทุกๆ อีเวนต์?
คำตอบของเรื่องนี้ก็คือ “ความคุ้มค่า”
ดังนั้นกลุ่มร้านค้า ควรต้องได้รับอะไรมากกว่าการเช่าพื้นที่
โดยทาง Zaap on Sale จะมองถึงวัตถุประสงค์ของร้านค้าเป็นหลัก
เช่น ต้องการเพิ่มยอดขาย ขยายตัวสู่ออนไลน์หรือแม้แต่การทำ Branding
เพื่อที่จะได้ทำการโปรโมตร้านค้าให้ตรงกับความต้องการ
1
เช่น ช่วงไหนที่มีแบรนด์ใหม่ๆ ออกมาจำนวนมาก
ทาง Zaap on Sale ก็จะทำเน้นการโปรโมต และทำ Branding ให้กับร้านค้าเป็นหลัก
เพื่อให้ร้านค้าหน้าใหม่เป็นที่รู้จักในบนโลกออนไลน์มากขึ้น
นอกจากนั้นอีกจุดเด่นหนึ่งของงาน Zaap on Sale ก็คือ การสมัครสมาชิก และจองบูทแบบรายปี โดยร้านค้าจะได้อยู่ตำแหน่งเดิมในทุกๆ อีเวนต์ ทำให้สามารถวางแผนการขายแบบระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4
นอกจากนั้น Zaap on Sale ยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์มภายใน เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กลุ่มร้านค้า
เพราะปัจจุบันมีร้านค้ามากกว่า 3,000 ร้าน ที่เป็นสมาชิกกับทาง Zaap on Sale
ดังนั้นการดูแลและติดต่อประสานงานกับทุกร้านค้าด้วยความรวดเร็วไม่ใช่เรื่องง่าย
ทางบริษัทจึงพัฒนาแพลตฟอร์ม “SRM” หรือ Supplier Relationship Management เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของร้านค้าได้อย่างครบถ้วนและทันท่วงที
รวมถึงแพลตฟอร์มนี้ยังช่วยจัดหาข้อมูลการตลาด เทรนด์โลก และกลยุทธ์ต่างๆ
เพื่อส่งเสริมการขายให้กับสมาชิกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าทางทีม Zaap on Sale จะเตรียมแผนรับมือแค่ไหน
เราก็เถียงไม่ได้ว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักๆ จากโรคระบาด ก็คือ งานอีเวนต์
ซึ่งทำให้พฤติกรรมการซื้อของลูกค้าเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
1
แต่ที่น่าสนใจก็คือ การปรับตัวของ Zaap on Sale ที่ไม่ได้ละทิ้งอีเวนต์แบบออฟไลน์
และในขณะเดียวกัน ก็เพิ่มกำลังให้กับในส่วนของออนไลน์ได้มากขึ้นด้วย
เรามาดู 2 แผนงานในอนาคตที่น่าจับตามองของ Zaap on Sale กันค่ะ
เริ่มจากงาน Stylist Pop-up Store ที่เริ่มจัดมาบ้างแล้วในหลายๆ พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล
อธิบายง่ายๆ ก็เหมือนเป็นการลดสเกลงานอีเวนต์ และจัดรูปแบบเป็นห้องลองเสื้อผ้า ที่จะนำเสื้อผ้าจากร้านค้าสมาชิก มาให้ลูกค้าได้ลองสวมใส่และเลือกซื้อ หลังจากนั้นสินค้าจะถูกจัดส่งตรงถึงบ้านของลูกค้า
ซึ่งโปรเจกต์นี้ เกิดจาก Pain Point ที่ว่างานอีเวนต์ถูกจำกัดจำนวนคน
และบางร้านค้าไม่มีจำนวนสินค้าเพียงพอสำหรับสต็อกหน้าร้าน
มากไปกว่านั้น โปรเจกต์นี้จะถูกขยายไปสู่ต่างจังหวัดภายในปีนี้อีกด้วย
เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดที่ไม่มีโอกาสสัมผัสเสื้อผ้าออนไลน์ของจริง
และอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่น่าสนใจก็คือ “ไลฟ์แพลตฟอร์ม”
ซึ่งในปีที่ผ่านมาค่อนข้างเป็นเทรนด์ที่มาแรง และมีการแข่งขันที่สูงอย่างมาก
คุณพลอยและคุณยูริบอกว่า ลูกค้าจะมีโอกาสซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ถ้ามี “การแข่งขัน” ร่วมอยู่ด้วย
ดังนั้นแพลตฟอร์มไลฟ์ จึงถือว่าตอบโจทย์ เพราะหลายๆ ครั้งลูกค้าต้องแย่งกันเพื่อซื้อสินค้า
โดยสิ่งที่ Zaap on Sale ทำให้การไลฟ์ของตัวเองน่าสนใจขึ้นไปอีกขั้นก็คือ การให้อินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงมาขายของ เพื่อดึงดูดสายชอปปิงได้มากขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงเห็นได้ชัดแล้วว่า สิ่งที่ Zaap on Sale ทำ
ไม่ใช่การจัดงานอีเวนต์ แต่ต้องคอยพัฒนาความคิดและเตรียมแผนสำรองตลอดเวลา
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม่ถึงสามารถครองใจลูกค้าและร้านค้าได้นานขนาดนี้
และไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจจะเห็นดิลิเวอรีห้องเสื้อผ้า
ส่งตรงถึงหน้าบ้านจาก Zaap on Sale ก็ได้นะคะ
Reference:
-สัมภาษณ์ตรงกับคุณพลอย-ธันยพร สว่าง เจ้าหน้าที่บริหารด้านสายงานธุรกิจ
และคุณยูริ-ซายูริ ฮากิฮาร่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซ๊ปปาร์ตี้ จำกัด
โฆษณา