1 มี.ค. 2021 เวลา 07:47 • ธุรกิจ
ธุรกิจอุปโภค-บริโภคไปรอดในยุคนิวนอร์มอล
นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. บัวหลวง หรือ กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า การลงทุนในปีนี้เน้นธีม ‘ผ่านพ้นอุปสรรค เปิดรับ New Normal’ โดยมองว่า ปีนี้เป็นปีแห่งการฟื้นตัวของธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมามากเมื่อปีที่แล้ว ทำให้มีโอกาสจะฟื้นตัวได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวนั้นธุรกิจขนาดใหญ่ในไทยหลายธุรกิจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบของการเกิด Disruption
ไม่ว่าจะเป็น ภาคการเงินที่มีความเสี่ยงจากธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ธุรกิจพลังงานที่มีความเสี่ยงจากแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ หรือธุรกิจพาณิชย์ซึ่งถูกอี-คอมเมิร์ซแย่งส่วนแบ่งตลาด เป็นต้น ดังนั้น บริษัทแบบดั้งเดิมจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาความแข็งแกร่งให้ได้นานที่สุด
“โอกาสของการเกิด Disruption มีมานานแล้วในแทบทุกอุตสาหกรรม เพราะธุรกิจขนาดใหญ่ย่อมมีผู้คิดจะแย่งส่วนแบ่งตลาด ซึ่งบางธุรกิจมีระดับผลกระทบของการถูก Disrupt ในขนาดที่แทบจะทำให้บริษัทล้มหายไปได้ ส่วนในบางธุรกิจ คู่แข่งใหม่อาจแย่งชิงความต้องการใช้สินค้าหรือบริการได้เพียงบางส่วนแต่แนวโน้มความต้องการใช้ในรูปแบบดั้งเดิมยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าบริษัทมีความแข็งแกร่งในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ด้วยรูปแบบการให้บริการแบบดั้งเดิมได้ ก็จัดว่าเป็นธุรกิจที่ทนทานต่อการ Disruption ได้ และเป็นหนึ่งลักษณะของธุรกิจที่เราอยากจะลงทุนในระยะยาวด้วย”
ทั้งนี้ ธุรกิจที่ปรับตัวได้โดยอาศัยจังหวะช่วงนี้ปรับรูปแบบการขาย ได้แก่ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ธุรกิจค้าปลีกบางประเภทที่ตอบสนองความต้องการซื้อบางลักษณะ เช่น สินค้าที่มีมูลค่าสูง หรือสินค้าประเภทสะดวกซื้อ โดยเฉพาะธุรกิจที่หาซัพพลายเออร์ที่แข็งแกร่งได้ก็น่าจะคงอยู่ได้ โดยได้รับผลกระทบจากอี-คอมเมิร์ซในระดับจำกัด แต่ผู้ลงทุนก็ต้องติดตามรูปแบบพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย
นอกจากนี้ ธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพก็จะยังมีอยู่ แม้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยให้ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ได้จากที่บ้าน หรือผู้ป่วยตรวจคัดกรองโรคบางชนิดได้ด้วยตัวเอง แต่การรักษาที่ซับซ้อนก็ยังจำเป็นต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอยู่เช่นเดิม
ขณะที่การให้ความสำคัญกับปัจจัยด้าน ESG หรือความเสี่ยงด้านความยั่งยืน เป็นอีกประเด็นที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ซึ่งมีตัวอย่างมาหลายกรณีแล้วที่การกระทำไม่เหมาะสมบางอย่างของบริษัทหรือตัวบุคคล ทำให้เกิดกระแสต่อต้านและกระทบยอดขาย หรือบริษัทที่ไม่จัดการซัพพลายเชนให้ถูกต้องก็จะมีความเสี่ยงที่การดำเนินการจะถูกหน่วยงานรัฐเข้ามาแทรกแซงได้
“การคำนึงถึงความเสี่ยงด้าน ESG จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ด้านลบที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ผลกระทบอาจรุนแรงมาก ซึ่งความเสี่ยงด้าน ESG ไม่ได้หมายถึงการกระทำตามหลักจริยธรรมหรือกฎข้อบังคับเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจัดการธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงเกินไปด้วย เช่น พึ่งพาลูกค้ารายใหญ่หรือซัพพลายเออร์ รายใหญ่ในสัดส่วนที่มากเกินไป เป็นต้น”
ทั้งนี้หากผู้ลงทุนต้องการลงทุนโดยคาดหวังการเติบโตสูง การเลือกธุรกิจที่เป็นตัว Disruptive เสียเอง เช่น ธุรกิจที่คิดค้นหรือใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่จะไป Disrupt ธุรกิจแบบดั้งเดิม ก็น่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า ซึ่งธุรกิจแบบนี้จะมีตัวเลือกที่หลากหลายอยู่ในตลาดหุ้นต่างประเทศมากกว่าในตลาดหุ้นไทย เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคลาวด์ คอมพิวติ้ง ซึ่งกำลังแย่งส่วนแบ่งตลาดจากการใช้งานแบบ On-premise (การติดตั้งหรือวางระบบเซิร์ฟเวอร์ไว้ภายในองค์กร)
ธุรกิจที่สนับสนุนการทำงานจากระยะทางไกล ธุรกิจให้บริการทางอินเทอร์เน็ต หรือตลาดกลางซื้อขายสินค้าออนไลน์ต่างๆ แอปพลิเคชันบริการด้านสุขภาพหลากหลายรูปแบบซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดต้นทุนการเงิน เวลา ทั้งยังได้รับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนของพลังงานรูปแบบใหม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่เทคโนโลยีกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วอย่างนี้ ผู้ลงทุนก็ต้องติดตามการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องไม่ลืมว่าการจะเปลี่ยนแปลงพอร์ตลงทุนในไปในธุรกิจใด ก็ต้องเข้าใจวงจรวัฎจักรทางธุรกิจ (Business cycle) ของแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงต้องรู้ว่าความคาดหวังนั้นได้สะท้อนไปในราคาหุ้นแล้วหรือยัง นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก มากพอๆ กับการมองหาบริษัทที่แข็งแกร่งเพื่อลงทุน หรือที่เรียกว่า Good Stock ก็ต้องมี Good Trade ด้วย
โฆษณา