1 มี.ค. 2021 เวลา 11:33 • ท่องเที่ยว
สัญจรสู่เมืองเก่า เล่าเรื่องอดีตอยุธยา .. ศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์อยุธยา
เราเดินทางมุ่งหน้าสู่ “กรุงเก่า” ในเช้าที่อากาศสดใส ... ถนนหนทางที่สะดวก ทันสมัยทำให้การเดินทางค่อนข้างรื่นรมย์ และอดไม่ได้ที่จะคิดถึงการเดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ในครั้งแรกๆ เมื่อครั้งถนนสองเลนแคบๆ ตัดผ่านท้องทุ่งกว้างใหญ่เขียวขจีอยู่สองข้างทาง
ยังจำได้ถึงความรูสึกเมื่อมาถึงอยุธยาครั้งแรก ... ความตื่นเต้นประทุอยู่ในทรวงอก เมื่อได้แหงนคอตั้งบ่ามองยอดเจดีย์เก่าสคร่ำคร่า รูปทรงแปลกๆในระยะใกล้
หลังจากนั้น ฉันก็กลับมาเยือน อยุธยา อีกนับครั้งไม่ถ้วน และวันนี้จะเป็นอีกวันหนึ่งที่ตั้งใจจะมาเดินชมวัด เจดีย์ และพิพิธภัณฑ์ของอยุธยาอีกครั้ง .. โดยจะเริ่มอุ่นเครื่องด้วยการแวะไปที่ “ศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์อยุธยา” ที่ได้มีการรวบรวมภาพของอยุธยาแบบกว้างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการไปเดินเที่ยวต่อ
แกะรอยเมืองเก่าอยุธยา ที่ศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์อยุธยา
ในการทำความรู้จักกรุงศรีอยุธยาที่เป็นราชธานี เมืองท่า ศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองและการปกครองแหล่งพักพิงของชาวบ้านและศูนย์กลางการค้ากับต่างประเทศนั้น ... เราจะเรียนรู้ผ่านแบบจำลอง ณ ศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์อยุธยา
การเมืองเรื่องอำนาจ .. ในสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์คือผู้มีอำนาจสูงสุดในอาณาจักร เป็นระบบการปกครองที่ที่กษัตริย์ทรงเป็นทั้งผู้นำฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และทางจิตวิญญาณของบ้านเมือง
ภายในราชสำนักอยุธยาซึ่งมีกษัตริย์ 34 พระองค์ พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งต้องประสบกับการแย่งชิงราชสมบัติ สะท้อนให้เห็นว่า ในราชสำนักไม่ได้มีขั้วอำนาจเด็ดขาดเพียงกลุ่มเดียว แต่มีกลุ่มอิทธิพลอื่นๆ คอยถ่วงดุลกันอยู่ เช่น กลุ่มเจ้านายต่างราชวงศ์ กลุ่มขุนนาง ดังนั้นกษัตริย์ที่ครองราชย์ได้ยาวนานย่อมต้องเป็นผู้ที่สามารถประสานประโยชน์ และทำให้กลุ่มต่างๆยอมรับได้
ความขัดแย้งในราชบัลลังก์ในระยะแรก จำกัดอยู่เฉพาะในราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณบุรี และราชวงศ์สุโขทัย ต่อมาเมื่ออำนาจขุนนางมีมากขึ้น ก็กลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ ดังเช่นการสถาปนาราชวงศ์ปราสาททอง .. และการแก่งแย่ง ขัดแย้งกันของอำนาจภายในเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาอ่อนแอและล่มสลายลง
วัง ... ศูนย์กลางอำนาจของพระนคร .. ชาวอยุธยามีศูนย์รวมชีวิตที่สำคัญอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ มีสิ่งสักการะสูงสุดคือพระบรมธาตุ ส่วนศูนย์รวมอีกอย่างหนึ่ง คือ พระมหากษัตริย์ ผู้เป็นศูนย์กลางอำนาจการปกครองทั้งมวล
เราสามารถเห็นพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ได้อย่างชัดเจนในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นต้นมา พระองค์ครองราชย์ยาวนานถึง 40 ปี ทำให้ทรงสามารถรวบรวมอำนาจด้านต่างๆเข้าสู่ส่วนกลางได้มาก ทรงขยายอำนาจการเมืองไปยังหัวเมืองด้านทิศเหนือ ทรงปฏิรูปการปกครองขนานใหญ่ ประกอบกับการค้าเจริญรุ่งเรือง สิ่งเหล่านี้ทำให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจสูงสุดพระองค์หนึ่ง
พระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ยังสะท้อนให้เห็นได้จากการเจริญเติบโตของพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระองค์ทรงปรับปรุงใหม่ ด้วยการขยายอาณาบริเวณพระราชวังขึ้นไปด้านทิศเหนือของเมือง พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งขนาดใหญ่ หรูหรา วิจิตร ช่วยเสริมพระราชฐานะให้สูงส่งยิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ส่วนที่เป็นพระราชวังเดิมก็โปรดเกล้าฯให้เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ ให้เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง สำหรับประกอบพิธีในราชสำนัก ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน
การปรับปรุงพระราชวังโดยการขยายพื้นที่และสร้างพระที่นั่งใหญ่โตขึ้นใหม่ อันเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง พร้อมทั้งสร้างวัดซึ่งเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณขึ้นรวมกันไว้เช่นนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงพระราชอำนาจ ซึ่งประกอบด้วยอำนาจทางราชอาณาจักรและพุทธจักร ที่ถูกรวมเอาไว้เป็นหนึ่งเดียวนับแต่นั้นมา
พระราชวังโบราณ มีเนื้อที่ 150 ไร่ ส่วนนอกจัดเป็นที่ทำการของรัฐและขุนนาง ส่วนกลางคือพระที่นั่งและพระมหาปราสาท ส่วนในเป็นบริเวณตำหนักของฝ่ายใน ส่วนสุดท้ายคือวัดพระศรีสรรเพชญ์ ทั้งหมดถูกล้อมด้วยกำแพงขนาดใหญ่ มีป้อมคั่นเป็นระยะๆ แผนผังเช่นนี้ได้ใช้สืบต่อมายังกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย
ภาพด้านบน ... แบบจำลองของพระราชวังโบราณ วัดไชยวัฒนาราม และเพนียดคล้องช้าง
วัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุ เป็นวัดที่สำคัญในดกรุงศรีอยุธยา สร้างในสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพระงั่ว) (พ.ศ.1913-1931) กษัตริย์พระองค์ที่ 3 ของกรุงศรอยุธยา แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ เพื่อเป็นศูนย์กลางศาสนาและเป็นหลักพระนคร
พระปรางค์ขนาดใหญ่ ถือเป็นหลักเมือง และ หลักศรัทธา ของประชาชน ..ด้านในพระปรางค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ .. ยอดนภศูลสูงราว 6 เมตร ราชทูตลังกากล่าวว่าทำด้วยทองคำ
วัดมหาธาตุ เสียหายอย่างหนักเมื่อครั้งกรุงแตก แต่ก็ยังยืนหยัดมาได้ เพิ่งจะมาถล่มทลายลง จนเหลือเพียงบางส่วนของ “ครรภคฤหะ” และส่วนฐาน เมื่อปี พ.ศ. 2454 ในรัชสมัยของพระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6
กรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองท่า
เรือจำลอง เช่น เรือสำเภาจีน เรือคาร์แรทของสเปนและโปรตุเกส รวมทั้งเรือแกลลิออนของฮอลันดา
หากจะดูตามสภาพภูมิประเทศของอยุธยา จะเห็นว่าอยู่ห่างจากทะเลโดยนระยะทางการเดินเรือราว 100 กิโลเมตร ซึ่งจะแล่นผ่านช่องแคบมะละกา อันเป็นเส้นทางเดินเรือนานาชาติในสมัยโบราณ ... ฐานเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของอยุธยาน่าจะอยู่ที่การปลูกข้าว และกสนค้าทางทะเลก็คล้ายจะเป็นส่วนประกอบเล็กๆ
... แต่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า การค้าทางทะเลเป็นรายได้หลักของราชสำนักอยุธยาตั้งแต่ต้นอาณาจักรจวบจนถึงวาระสุดท้าย
... จากหลักฐานการให้การของชาวกรุงเก่าพบว่า การค้าทางทะเลของราชสำนักอยุธยาทำรายได้ประมาณถึงปัละ 400,000 บาท หรือราวร้อยละ 25 ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพของการค้าทางทะเลนั้นมีความสำคัญมากเพียงใด
โปรตุเกส มองอยุธยาเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญ ที่มีการระบายสินค้าโดยพ่อค้าอาหรับ จีน และญี่ปุ่น ที่เดินเรือสำเภาค้าขายไปตามที่ต่าง ๆ ซื้อหาสินค้าที่เป็นที่ต้องการของภาคพื้นทวีปเข้ามาขาย ในขณะเดียวกันก็รับสินค้าจากในภูมิภาคออกไปจำหน่าย สินค้าของอยุธยาที่ส่งออกจึงมีทั้งแบบที่ผลิตขึ้นเองและหาได้ในอาณาจักร เช่น เครื่องปั้นดินเผา ผ้าทอ พื้นเมือง ของป่า (น้ำผึ้ง นอแรด งาช้าง หนังสัตว์ สมุนไพร) และบางส่วนก็เป็นสินค้าที่มีพ่อค้าจากชาติอื่น ๆ นำเข้ามาขายผ่านตลาดกันอีกต่อหนึ่ง ในเอกสารของโปรตุเกสบันทึกไว้ว่า อยุธยามีสินค้าส่งออกหลายอย่าง ชั่งตวงน้ำหนักกันเป็นหาบ ไปขายได้ราคาดีที่เมืองมะละกา มีทั้ง ข้าว ปลาแห้ง ปลาเค็ม ผัก ครั่ง กำยาน เครื่องเทศ ไม้ฝาง ตะกั่ว ดีบุก เงิน ทอง งาช้าง หนังกวาง ไม้คูณ ภาชนะโลหะ เครื่องประดับ มีค่า และผ้าทอชนิดต่าง ๆ
 
จักรวรรดิโปรตุเกส จึงถือเป็นชาติแรกในยุโรปที่เข้ามาติดต่อกับอาณาจักรสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุผลมาจากการค้าเครื่องเทศในตลาดโลกที่ต่อเนื่องมาถึงการเข้ายึดมะละกาเป็นปฐมบท ซึ่งต่อมาอยุธยายังได้ใช้ภาษาโปรตุเกส เป็นภาษา (ต่างประเทศ) กลางในการเจรจากับชาวยุโรปทุกชาติ (โดยเฉพาะฝรั่งเศส) ที่เข้ามาจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย
ซิมอง เดอ ลูลาแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่มาถึงสยามเมื่อพุทธศตวรรษที่ 23 ได้กล่าวพาดพิงไว้อย่างน่าสนใจว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงเป็น “พ่อค้าใหญ่” ด้วยพระองค์เอง ... การค้ากับต่างประเทศสมัยอยุธยา จึงเป็นการค้านำโดยราชสำนัก
ราชสำนักได้ควบคุมการค้า ซึ่งเป็น “วิถีเอเซีย” เพื่อที่ราชสำนักสามารถควบคุมการค้า เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าเครื่องอุปโภคยริโภคสำหรับราชสำนัก ในณะเดียวกันก็ได้ผลประโยชน์ด้านการเก็บภาษีด้วย
องค์ประกอบหลายๆด้าน ทำให้อยุธยาก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะเมืองหลวงและเมืองท่า ทั้งในเรื่องของ สภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งที่ทำให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยากลายเป็นเส้นทางการค้าขายข้ามระฐและข้ามอสาณาจักร ... นอกจากนี้ นโยบายของราชสำนักที่กระตือรือล้นในการสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าขายกับจีน และสภาะแวดล้อมภายนอก ตลอดจนกลไกของรัฐ ซึ่งต่างก็เอื้ออำนวยต่อสภาพทวิลักษณ์ของอยุธยา
แบบจำลองที่น่าสนใจมากอันกหนึ่ง คือ ภาพเขียนสีน้ำมันแผนผังเมืองอยุธยาในสายตาของพ่อค้าชาวดัตช์ช่วง คริสต์ศตวรรษที่ 17 หรือปลายพุทธศตวรรษที่ 22
พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยนั้นจะทำพิธี ณ วัดพระศรีสรรเพชญ
พิธีถือน้ำ หมายถึง “พระราชพิธีอันเป็นมงคลแห่งความซื่อสัตย์ที่ใช้น้ำเป็นเครื่องกำหนด”เป็นพิธียิ่งใหญ่มาแต่โบราณที่แสดงถึงความจงรักภักดีอย่างหนักแน่น ต่อองค์พระเจ้าแผ่นดินผู้เปรียบเป็นสมมติเทพ จัดขึ้นเพื่อให้บรรดาทหารและข้าราชการใต้ปกครองเข้าร่วม เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน โดยการดื่มน้ำที่ผ่านพิธีปลุกเสกแล้ว พร้อมกล่าวคำสาบานตนว่าจะซื่อสัตย์ไม่คดโกง จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์และบ้านเมือง อันเป็นแผ่นดินแม่แดนกำเนิดของตน
แบบจำลองภายในวิหารพระศรีสรรเพชญ์ ...
แบบจำลองของหมู่บ้านและในบ้านของราษฎร ... สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงนำในการเลือกพื้นที่สร้างราชธานี ณ สถานที่ที่เรียกว่า “อโยธยา” ซึ่งเดิมเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนเป็นเมืองท่าค้าขายของที่ราบปากแม่น้ำ 2 สาย มีความเจริญมั่งคั่ง และอุดมไปด้วยพ่อค้าวาณิช
ในพื้นที่จัดแสกง ได้จำลองภาพของวิถีชีวิตของชาวอยุธยาในสมัยนั้นไว้อย่างน่าสนใจทีเดียวค่ะ
ศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์อยุธยา ... นับเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอยุธยาและของสยาม ที่ค่อนข้างครบถ้วนและเห็นภาพชัดเจนที่สุดแห่งหนึ่ง
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา