2 มี.ค. 2021 เวลา 04:33 • ท่องเที่ยว
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา (1)
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2504 นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภให้สร้างขึ้น เพื่อเก็บรักษาพระพุทธรูป พระพิมพ์ และเครื่องทองจำนวนมหาศาลที่ค้นพบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2500
ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 ขณะที่กรมศิลปากรได้ขุดพบกรุเพิ่มอีก 7 กรุ มีพระพุทธรูป และพระพิมพ์จำนวนนับแสนองค์และซ้ำแบบกัน กระทรวงศึกษาธิการจึงอนุมัติให้กรมศิลปากรขอรับเงินบริจาคจากประชาชนโดยให้พระพิมพ์เป็นของสมนาคุณตอบแทน เพื่อนำเงินที่ได้มาจัดสร้างเป็นอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำหรับเก็บรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุจากวัดราชบูรณะ พร้อมตั้งชื่อว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” เพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสถาปนาวัดราชบูรณะ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ เมื่อปีพ.ศ.2504
พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติเจ้าสามพระยา เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของประเทศไทย มีสิ่งของที่นำมาจัดแสดงที่น่าสนใจอยู่ในอาคาร 2 ชั้น จัดแสดงศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่รวบรวมได้จากจังหวัดอยุธยา เช่น สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยสุโขทัย สมัยเชียงแสน สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์
อาคารตึกเจ้าสามพระยา เป็นอาคารหลักที่สำคัญที่สุด เพราะเก็บศิลปวัตถุอยุธยาชิ้นที่ถือว่าสำคัญ ๆ
... ด้านข้างตึก มีพระพุทธรูปตั้งอยู่ 2 องค์
... ด้านหน้าอาคาร มีแผ่นภาพสลักเรื่องราว และขนาบข้างด้วยปืนใหญ่ อาจจะมาจากป้อมปืนโบราณแห่งหนึ่งในอยุธยา
ชั้นล่าง ..
ด้านขวามือของทางเข้า .. เป็นที่จัดแสดงเครืองทองส่วนหนึ่งจากกรุวัดราชบูรณะ และวัดมหาธาตุ
เศียรพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่จากวัดธรรมิกราช เป็นศิลปะแบบอู่ทอง ซึ่งนอกจากแสดงให้เห็นการบรรลุถึงความงดงามตามลักษณะพุทธศิลป์แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถในเรื่องโลหะและการหล่อโลหะของอยุธยา
พระพุทธรูปศิลปะลพบุรี หรือศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘) มีจุดเด่นคือหน้าดุนิดหน่อย สวมเทริด ถ้าเป็นปางนั่งนิยมสร้างปางนาคปรก
พระพุทธรูปศิลปะสมัยอยุธยา
แนวตู้กระจกทางด้านขวามือของห้องโถงชั้นล่างจัดแสดงพระพุทธรูปหลายสกุลช่าง และหลายแบบที่พบในองค์พระมงคลบพิตร และที่ได้มาจากวัดราชบูรณะ เศษปูนปั้นศิลปะแบบอยุธยาที่ประดับเจดีย์วัดมหาธาตุ (เช่น ครุฑ และสุครีพถอนต้นรัง) พระพุทธรูปศิลาขาว ศิลปะทวารวดี
พระพุทธรูปทวารวดีขนาดใหญ่ ที่เคลื่อนย้ายมาจากวัดหน้าพระเมรุ
พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๒๐) งานศิลปกรรมสมัยสุโขทัยเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่รับอิทธิพลมา จากลังกา และพม่า นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่อ่อนหวาน คลาสสิคที่สุดก็ว่าได้
พระพุทธรูปสมัยล้านนา (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๓) มีทั้งสายที่ได้รับอิทธิพลมาจากพม่า และได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย
พระพุทธรูปแบบอู่ทอง (พุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๙) แบบอู่ทองเป็นชื่อเรียกศิลปะที่เกิดขึ้น ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย แถบเมืองลพบุรี และสุพรรณบุรี ในช่วงก่อนการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธรูป สมัยอยุธยา (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔) สืบต่อจากพระพุทธรูปแบบอู่ทอง
ในสมัยอยุธยาตอนกลางได้เกิดพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย (มีเครื่องทรง เช่น มงกุฎ กรองศอ สังวาล ทับทรวง ทองพระกร ในระยะนี้ยังมีเครื่องทรงไม่มาก จึงเรียกว่า ทรงเครื่องน้อย)
ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลายมีเครื่องทรงอย่างมาก จึง เรียกว่า ทรงเครื่องใหญ่ การสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่นี้ ได้ให้อิทธิพลต่อศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้นด้วย
เครื่องปั้นดินเผาชิ้นขนาดเล็กที่จัดแสดงอยู่อย่างเช่น คนอุ้มเด็กและไก่ ชาวต่างชาติ (ดัทช์) กับสุนัข เป็นต้น
ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์ในแนวด้านซ้ายมือของโถงชั้นล่างจัดแสดงเครื่องไม้จำหลักต่าง ๆ เช่น ทวารบาล ประตูไม้จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ บานประตูไม้ลายพรรณพฤกษาจากวัดวิหารทอง และหน้าบันไม้จำหลักจากวัดแม่นางปลื้ม เป็นต้น ... ประตูไม้สักแกะสลักขนาดใหญ่เหล่านี้ยังคงความงดงามอยู่แม้จะผ่านกาลเวลาและสายลมสายน้ำมากว่าสองร้อยปี ประตูพวกนี้ทำจากไม้แผ่นใหญ่มากๆ แกะสลักอย่างวิจิตรพิสดาร ด้วยฝีมือช่างอยุธยา
บานประตู 2 คู่จากจระนำซุ้มเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ .. ประตูไม้รูปเทวดาทวารบาลที่เก่าแก่ที่สุด ที่นำคติเทวดามาใช้งานเป็นทวารบาลปกป้องพระพุทธศาสนา
มีรูปศิลปะของเทวดาที่มีพระพักตร์กลมรูปไข่ สวมอุณหิส-ศิราภรณ์ เป็นเทริดกระบังสูง มียอดมวยผมเป็นรัดเกล้าทรงกรวยใหญ่ มีรัดเกล้าทรงกรวยชิ้นเล็กประกอบอยู่ด้านข้างแบบกรัณฑมงกุฎ สวมกรอศอ พาหุรัดและกำไลข้อพระกร ห้อยสังวาลประดับทับทรวง นุ่งผ้าเลียนแบบการนุ่งผ้าธรรมชาติ ทบผ้าจีบ พลิ้วไหว ปล่อยชายผ้าออกมาด้านหน้าและด้านข้าง คาดเข็มขัดเป็นแถบใหญ่ที่พระโสณี สวมกำไลข้อเท้า และมีผ้าตาบหน้าปลายแหลมด้านหน้าและถือพระขรรค์ตามแบบศิลปะเขมร ยืนบนฐานขาตั่งแบบศิลปะจีน
ซุ้มเรือนแก้วของเทวดาทวารบาลจากวัดพระศรีสรรเพชญ ทำเป็นซุ้มรูปโค้งแบบประภารัศมี ถือช่อกระหนกดอกไม้เป็นรวงยาว ยอดแหลมประดับอุบะมาลัย มีภูษาห้อยเป็นธงทิวม้วนด้านข้าง ไม่มีลายพรรณพฤกษาแบบศิลปะจีน
บานประตูอีกคู่หนึ่งของเจดีย์ใหญ่วัดพระศรีสรรเพชญ มีรูปแบบงานศิลปะที่แตกต่างไป .. แกะสลักเป็นรูปเทวดาทวารบาลถือพระขรรค์เหมือนกัน งานสลักลวดลายก็ไม่ละเอียด ด้านบนไม่ทำซุ้มโค้ง แต่มีการเจาะพื้นลึกเข้าไปในเนื้อไม้แทน ล้อมรอบด้วยลายพรรณพฤกษาแบบดอกไม้จีน ส่วนฐานก็แกะสลักเป็นกรอบสี่เหลี่ยม มีรูปบุคคลแทรกอยู่ด้านในที่เป็นความนิยมในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา
รูปแบบเทวดาทวารบาลบนบานประตูจากพระเจดีย์ใหญ่วัดพระศรีสรรเพชญ 2 คู่ มีอายุของงานศิลปะอยู่ในสมัยของพระบรมไตรโลกนาถ ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 อย่างชัดเจน ส่วนอีกคู่จากวัดพระเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ น่าจะเป็นบานประตูที่เพิ่งถูกสลักขึ้นใหม่ในช่วงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 โดยคงสลักล้อตามขนบแบบแผนลวดลายเก่า เพื่อนำมาบูรณปฏิสังขรณ์ทดแทนบานประตูเดิมที่อาจชำรุดเสียหาย
ทวารบาล ในศิลปะแบบจีน
หน้าบันจากวัดแม่นางปลื้ม .. ข้อมูลจากการตรวจสอบลักษณะศิลปะโดยพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ระบุว่างานสลักไม้น่าจะเป็นรูปของพระนารายณ์ “พระนารายณ์ทรงครุฑ”
***งานศิลปะชิ้นเดียวกันนี้ มีผู้รู้แย้งว่า คือรูปของพระนิรฤติทรงรากษส ... ด้วยงานสลักไม้ที่แสดงให้เห็นภาพของพระนิรฤติ 2 กร ถือ ดาบไม้ทัณฑ์ ประทับบน “รากษสราชา” ที่มีปากยื่น มีเขี้ยวหน้าและเขี้ยวหลัง จมูกใหญ่ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะทางศิลปะของจะงอยปากนกครุฑ
รากษสราชาแสดงท่ากางแขน มือกรีดนิ้วมุทราแสดงอิทธิฤทธิ์ ไม่ปรากฏไรขนหรือปีกนกข้างแขนตามศิลปะของรูปปีกครุฑ ไม่ปรากฏรูปนาคประกอบตามคติการยุดนาค ที่ทุกรูปพระนารายณ์ทรงครุฑในงานศิลปะจะมีประกอบอยู่ด้วยเสมอ
ด้านข้างเป็นภาพของเหล่ารากษสบริวาร วางองค์ประกอบแบบสมมาตร เข็มขัดและสันปกเสื้อเป็นลายเกลียวเชือก ถือกระบอง ตามความนิยมทางประติมานที่บ่งบอกว่านี่คือรูปของฝ่ายยักษ์อสูร ที่ปลายสุดของมุมทั้งสองฝั่ง ทำเป็นรูปบุคคลหัวสัตว์ร้าย (จระเข้ ?) บริวารชั้นต่ำของเหล่ารากษส
ภาพสลักตรงสุดปลายมุมล่างสุดทั้งสองฝั่งของหน้าบันแผ่นนี้ ที่ช่างโบราณได้บรรจงเอาเรื่องราวความเชื่อในความโชคร้าย ความซวยและความตาย ของผู้คนในยุคนั้น (อยุธยา) มาแอบวางไว้ในงานศิลปะอย่างแยบยล ... คือภาพของ “นกแสก” อันน่าสะพรึงกลัว ในความเชื่อของคนไทยมาจนถึงในปัจจุบัน ที่ว่า หากได้ยินเสียงร้องดังต่อเนื่องบนหน้าจั่วบ้านใคร บ้านนั้น...ต้องมีคนตาย
รูปสลักไม้นี้ จึงควรเป็น “พระนิรฤติทรงรากษส” อันเป็นความนิยมประดับหน้าบันอุโบสถด้านทิศตะวันตก ตั้งแต่ในช่วงสมัยพระเจ้าปราสาททองมาจนถึงอยุธยาตอนปลาย
***Ref : EJeab Academy
พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีที่เคยประดิษฐานในซุ้ม พระสถูปโบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐมซึ่งกรมศิลปากรได้พยายามติดตาม ชิ้นส่วนต่าง ๆขององค์พระที่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่าง ๆ มาประกอบขึ้นเป็นองค์พระได้อย่างสมบูรณ์นับว่าเป็น พระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
เชิงบันไดสุดห้องโถง จัดแสดงหัวเรือรูปครุฑไม้แกะสลัก เป็นตัวอย่างของหัวเรือรูปสัตว์ต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่ในสมัยอยุธยา
เทวดาที่ใช้ในพิธีขอฝน และวานบุญที่วัด
***พรุ่งนี้จะพาเดินชมสิ่งของที่จีดแสดงที่ชั้นสองนะคะ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา