5 มี.ค. 2021 เวลา 10:29 • ประวัติศาสตร์
ทำไมแคว้นนี้อยากแยกตัวจากสเปน?
ในราชอาณาจักรสเปนมีความพยายามแบ่งแยกดินแดนของแคว้นทางตะวันออกสุดของประเทศ นั่นคือ แคว้นกาตาลุญญา ซึ่งคำว่า “แบ่งแยกดินแดน” สำหรับพวกเรา คงรู้สึกเป็นแง่ลบไม่น้อย แต่จริง ๆ แล้วการแบ่งแยกดินแดน หรือการพยายามจะแยกตัวเพื่อประกาศอิสรภาพนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาทั่วทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นที่ซีเรีย, ยูเครน หรือแม้แต่อังกฤษ
3
ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ ส่วนใหญ่จะมาจากเงื่อนไขทางวัฒนธรรม, ภาษา หรือแม้แต่เรื่องในเชิงเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างการจัดเก็บภาษี การสัดสรรงบประมาณ และหลาย ๆ ครั้งก็เป็นปัจจัยสำคัญของการปฏิวัติสังคม เหมือนในวิดีโอล่าสุดเกี่ยวกับ “สังคมที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินในสเปน” ที่เราเล่า (ไปตามดูกันได้ ลิงก์อยู่นี่ https://bit.ly/3ndkzsJ)
2
การเรียกร้องอิสรภาพนั้น มีทั้งแบบสันติวิธีและแบบใช้ความรุนแรงเข้าหักหาญกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ในช่วงเวลานั้น อย่างซีเรียซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคที่อ่อนไหว และมีสงครามอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เมื่อเกิดสงครามกลางเมือง ชาวเคิร์ดที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย จึงเลือกที่จะจับอาวุธขึ้นมาประกาศอิสรภาพและสถาปนารัฐปกครองตนเอง แต่ก็ยังไม่สามารถหาประเทศไหนบนโลกที่ยอมรับรองสถานะการเป็นประเทศของชาวเคิร์ด
12
ส่วนแบบสันติวิธีอย่างสกอตแลนด์ ที่มีการรณรงค์จนกระทั่งเกิดการผ่านสภาของสหราชอาณาจักรที่ลอนดอนให้ประชาชนชาวสกอตแลนด์ได้ลงประชามติแสดงเจตจำนงอย่างถูกกฎหมายว่าอยากจะแยกตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษหรือไม่ ซึ่งการลงประชามติถูกจัดขึ้นช่วงปี 2014 ผลคือฝ่ายอยากแยกตัวพ่ายแพ้ไป เพราะได้เสียงจากคนที่มาโหวตทั้งหมดเพียง 44.7% แต่หลังจากอังกฤษลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปไป รัฐสภาของทางสกอตแลนด์ก็เกิดการผลักดันการลงประชามติแยกตัวอีกครั้ง
4
เช่นกัน ในแคว้นกาตาลุญญายังถือว่าเป็นแบบสันติวิธีอยู่ ไม่ได้ถึงกับจับอาวุธลุกขึ้นยึดเมืองแล้วสถาปนารัฐเอกราชด้วยกำลัง แต่พยายามใช้กลไกตามระบบประชาธิปไตยในการจัดประชามติลงคะแนนเพื่อส่งเสียงบอกรัฐบาลสเปน ถึงเจตจำนงของชาวคาตาลัน
1
คือที่ชาวคาตาลันอยากจะแยกตัวออกจากสเปนขนาดนี้ ถ้าจะเล่าคงต้องย้อนไปไกลสักหน่อย ประมาณ 700 ปีที่แล้ว แคว้นกาตาลุญญาจะมีความใกล้ชิดและเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอารากอน ซึ่งเป็นดินแดนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหมือนกัน แล้วชาวคาตาลันก็แฮปปี้กับการเป็นส่วนหนึ่งของอารากอนมาก เพราะพวกเขาเคารพและให้พื้นที่กับภาษาและวัฒนธรรมคาตาลัน จนกระทั่งปี 1469 เกิดการหลอมรวม 2 อาณาจักรใหญ่ผ่านการสมรสระหว่างเฟอร์ดินานด์แห่งอารากอน กับ อิซาเบลลาแห่งกัสติยาจึงทำให้แคว้นกาตาลุญญารวมเข้ากับราชอาณาจักรสเปนไปโดยปริยาย
3
หลังจากนั้นก็มีสงครามชิงบัลลังก์สเปนครั้งสำคัญที่ฉุดราชวงศ์และอาณาจักรทั้งยุโรปเข้ารบกัน น่าเสียดายที่ชาวคาตาลันเลือกผิดฝั่ง ทำให้เกิดเป็นการปิดล้อมครั้งใหญ่ที่เมืองบาร์เซโลนา สุดท้ายการล้อมเมืองก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของชาวคาตาลันและเป็นการกำชับอำนาจของราชบัลลังก์สเปนเหนือกาตาลุญญาในวันที่ 11 กันยายน 1714 ซึ่งถือเป็นวันชาติกาตาลุญญาในปัจจุบัน
3
นอกจากจำต้องไปอยู่ภายใต้การปกครองสเปนหลังจากพ่ายแพ้ในครั้งนั้น ยังถูกสเปนริบสิทธิและอำนาจในการปกครองตนเอง ภาษาและวัฒนธรรมของชาวคาตาลันจึงถูกกดทับจนเกือบสูญสิ้น
6
จนเมื่อศตวรรษที่ 19 เกิดกระแสชาตินิยมขึ้นทั่วยุโรป เป็นผลให้ขบวนการชาตินิยมในแคว้นกาตาลุญญากลับมาเข้มแข็งขึ้นอีกครั้ง แล้วมีความพยายามรื้อฟื้นภาษาคาตาลันในงานวรรณกรรมหลายชิ้น การพูดและสอนภาษาคาตาลันกลับมาคึกคักอีกครั้ง และได้รับการโอบอุ้มในยุคที่สเปนเป็นสาธารณรัฐที่ 2
แต่ทุกอย่างก็พังพินาศลง เมื่อฝ่ายนิยมสาธารณรัฐแพ้สงครามกลางเมืองแก่ฝ่ายกบฎทหารซึ่งนำโดยนายพลฟรังโก ที่จะปกครองสเปนตั้งแต่ปี 1938 จนเสียชีวิตลงในปี 1975 โดยระหว่างการปกครองแบบเผด็จการนั้น วัฒนธรรมคาตาลันถูกแบนจากรัฐบาล ห้ามพูดภาษาคาตาลัน ห้ามใช้ชื่อคาตาลัน ห้ามอ่านหนังสือที่ใช้ภาษาคาตาลันนอกบ้าน ยุคเผด็จการของฟรังโกจึงเป็นบาดแผลและเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวคาตาลันอยากแยกประเทศกับสเปน
2
ตลอดมามีความพยายามจะประกาศเอกราชมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่เคยสำเร็จ จนกระทั่งมาถึงปี 2017 หลังการผลักดันอย่างจริงจังและยาวนานกว่า 7 ปี ของการเคลื่อนไหวรณรงค์โดยกลุ่มชาตินิยมคาตาลัน จึงเกิดเป็นเหตุการณ์การลงประชามติที่ทั้งสหภาพยุโรปและโลกต้องจับตามอง
ผลที่ออกมาคือ 90% ของคนที่มาใช้สิทธิลงประชามติครั้งนี้โหวตให้คาตาลันเป็นเอกราช แม้จะมีคนออกมาใช้สิทธิเพียง 43% ของคนที่มีสิทธิโหวตก็ตาม แต่ก็เพราะรัฐบาลกลางเข้ามาขัดขวางการลงประชามติ ทั้งบุกยึด ปิดกั้นคูหาการลงคะแนน หลังจากผลประชามติประจักษ์ออกมา ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปนจึงออกมาตัดสินว่าการลงประชามติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญสเปน
3
แต่ในเวลาต่อมาแกนนำการเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพซึ่งเป็น สส.อยู่ในรัฐสภาแคว้นกาตาลุญญาจึงอ่านคำประกาศอิสรภาพกลางรัฐสภาที่เมืองบาร์เซโลนา ในวันที่ 27 ตุลาคม 2017 เพื่อสถาปนาสาธารณรัฐกาตาลุญญาขึ้นมา
2
แน่นอนว่ารัฐบาลสเปนต้องไม่ยอมที่จะปล่อยให้เกิดการแยกตัวขึ้น จึงตอบโต้ด้วยการประกาศใช้มาตรา 155 ปลดผู้นำของรัฐบาลคาตาลันยกชุด แล้วเข้าควบคุมแคว้นกาตาลุญญาโดยตรง และนี่เป็นครั้งแรกที่มาตรานี้ถูกนำมาบังคับใช้ ผู้นำรัฐบาลและแกนนำการเคลื่อนไหวหลายคนถูกจับจำคุกข้อหากบฎ ส่วนอีกหลายคนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ...
2
เหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้แคว้นกาตาลุญญามีความเป็นตัวเองสูงนั่นเพราะพวกเขามีประวัติศาสตร์ ภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเองมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคกลาง ผนวกกับบาดแผลทั้งในอดีตและโดยเฉพาะในยุคที่ถูกเผด็จการฟาสซิสต์อย่างนายพลฟรังโกกดขี่ ทำให้พวกเขาอยากแยกประเทศกับสเปน
1
อีกอย่างที่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดคือ เงินภาษีมูลค่ามหาศาลจากแคว้นกาตาลุญญาถูกส่งให้รัฐบาลมาดริด แต่ชาวคาตาลันกลับรู้สึกว่าได้รับการจัดสรรที่ไม่เป็นธรรม ได้สาธารณูปโภคที่ไม่ดีพอ และต้องแบกรับภาระจากค่าใช้จ่ายภายใต้การบริหารของรัฐบาลกลางมากเกินไป เรียกง่าย ๆ ว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” มันจึงทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพเข้มข้นและใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ แล้วยิ่งเกิดการใช้กำลังปราบปรามคนที่มาชุมนุมประท้วง ยิ่งเร่งเร้าให้คนเห็นความสมเหตุสมผลของการแยกตัว…
Writer: Chatchai Pumpuang
Illustrator: Chatchai Pumpuang & Panu Nakornthap
ติดตามเรา
โฆษณา