16 มี.ค. 2021 เวลา 22:00 • การศึกษา
ไฟโบรสแกน ทางเลือกใหม่ในการตรวจตับ
Cr. Sriphat Medical Center
การตรวจหาภาวะเสี่ยงโรคตับแข็ง
นอกจากการเอ็กซเรย์และการเจาะชิ้นเนื้อตับแล้ว
ปัจจุบันมีการตรวจตับด้วยวิธีใหม่ที่ไม่เจ็บ และสามารถรู้ผลได้รวดเร็ว
ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก นั่นคือ “การตรวจตับด้วยไฟโบรสแกน”
ผศ.พญ.อภิญญา ลีรพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบทางเดินอาหารและตับ
อธิบายว่า “ตับ” เป็นอวัยวะขนาดใหญ่ที่สำคัญของร่างกาย
วางอยู่ในช่องท้องด้านขวาบน มีหน้าที่ คือ ช่วยการสร้างโปรตีน กำจัดของเสียออกจากร่างกาย สร้างน้ำดีเพื่อช่วยย่อยอาหารและดูดซึมไขมัน
ช่วยสร้างสารภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ช่วยสร้างสารเพื่อการแข็งตัวของเลือด
และเป็นแหล่งสะสมน้ำตาลให้ร่างกายนำมาใช้เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
จากหน้าที่ของตับที่ทำงานคล้ายตัวคัดกรองสำคัญในร่างกาย
ทั้งช่วยสร้างสารอาหารและกำจัดของเสียที่มีอยู่ภายในร่างกาย
อาจทำให้เกิดความเสี่ยงกับตับมากมาย
โดยอาการผิดปกติของโรคตับที่พบมากที่สุดในประเทศไทย
คือ โรคตับแข็ง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้แต่คนที่ไม่ดื่มเหล้า
ทั้งนี้ อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบหรือมีภาวะไขมันพอกตับ
การตรวจพบโรคตับแข็ง มักพบจากการตรวจภาพเอ็กซเรย์ ( X-ray)
เมื่ออาการเป็นมากแล้ว แต่หากต้องการตรวจตับแข็งในระยะเริ่มแรก
เดิมอาจต้องทำการเจาะชิ้นเนื้อตับ (Liver biopsy) เพื่อดูพยาธิสภาพในตับ
ซึ่งไม่สะดวกสำหรับผู้ป่วย เพราะเจ็บและมีความเสี่ยง แต่ปัจจุบันมีการตรวจด้วย “ไฟโบรสแกน” (FibroScan)
ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการตรวจหาภาวะที่มีพังผืดในเนื้อตับ
ตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ ตับแข็งและความยืดหยุ่นของตับ
โดยอาศัยหลักว่าเนื้อตับปกติจะมีลักษณะนิ่ม
แต่ถ้ามีพังผืดมากหรือแข็งมาก เนื้อตับก็จะแน่นมากกว่าปกติ
ดังนั้น จึงถือว่า ไฟโบรสแกนสามารถใช้ในการวินิจฉัยโรคตับแข็งในระยะแรกๆ ได้
✽ไฟโบรสแกนคืออะไร
ไฟโบรสแกนเป็นทางเลือกใหม่ที่ใช้ในการประเมินสภาพความแข็งของเนื้อตับ
เพื่อทดแทนการเจาะชิ้นเนื้อตับ ซึ่งผลที่ได้จากการตรวจจะช่วยในการพยากรณ์โรคแทรกซ้อน
เพื่อติดตามผลและประเมินโรคที่เป็น โดยไม่เกิดความเจ็บปวดกับร่างกาย
ทราบผลทันที ลดภาวะเสี่ยงและอัตราการแทรกซ้อนของการเจาะตับได้
รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังการตรวจ
✽ ตรวจอย่างไร
การตรวจตับด้วยไฟโบรสแกน ผู้รับการตรวจสามารถมาตรวจได้ โดยไม่ต้องเตรียมร่างกายก่อนตรวจ
โดยเมื่อมาถึงห้องตรวจ เจ้าหน้าที่จะให้นอนหงาย
โดยยกแขนทั้งสองข้างไว้เหนือศรีษะ และทาเจลที่หัวตรวจหรือผิวหนังเพียงเล็กน้อย
จากนั้นทำการตรวจวัดทั้งหมด 10 ครั้ง ที่บริเวณตำแหน่งเดียวกัน (ใช้เวลาไม่เกิน 5-10 นาที) ผลที่ได้จะเป็นตัวเลข ตั้งแต่ 1.5 ถึง 75 kPa
ซึ่งแพทย์จะแปลผลจากการตรวจวัด ว่ามีพังผืดมากน้อยเพียงใด
เพื่อประกอบการพิจารณาในการรักษาขั้นต่อไป
ทั้งนี้ เครื่องไฟโบรสแกนบางรุ่น สามารถตรวจวัดปริมาณไขมันในตับได้ด้วย
โรคตับแข็งเป็นภาวะที่เกิดจากการที่เนื้อเยื่อตับมีการบาดเจ็บและถูกทำลาย
จากการอักเสบเรื้อรังจากสาเหตุต่างๆ เกิดมีเนื้อเยื่อพังผืดแทรกอยู่ในเนื้อตับ
ทำให้การทำงานของตับเสียไป ดังนั้น หากสามารถตรวจพบภาวะเสี่ยงการเป็นตับแข็งในระยะเริ่มแรก และรีบทำการรักษา
ก็จะสามารถช่วยชะลอไม่ให้ตับถูกทำลายและเสียหายไปมากกว่านี้ได้
บทความเรื่อง การตรวจตับด้วย FibroScan
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
โฆษณา