18 มี.ค. 2021 เวลา 06:31 • การศึกษา
ว่าด้วย "ทฤษฎีบริหารแบบปลาดุก"
Catfish Management
ทฤษฎีชื่อแปลกแต่มีอยู่จริงนะเออ
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
หลายคนอาจได้ยินทฤษฎีนี้มาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการในองค์กร
แล้วการบริหารงานองค์กร
เกี่ยวข้องยังไงกับปลาดุก 🌿🌿
เรื่องนี้มีที่มาจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับชาวประมงที่ไปจับปลาแซลมอนในทะเลแล้วมีปัญหาเกี่ยวกับการขนส่ง เนื่องจากปลาเป็น ๆ นั้นขายได้ราคาดีกว่าปลาตายเป็นเท่าตัว
แต่ด้วยระยะทางที่ยาวนานหลังจากจับจนกว่าจะกลับถึงฝั่ง ทำให้ปลาตายไปมากกว่าครึ่งเพราะความอ่อนล้า
ชาวประมงจึงแก้ปัญหาด้วยการใส่ปลาดุกทะเลลงไปในถังปลาหนึ่งตัว ซึ่งจะไปสร้างความปั่นป่วนให้ปลาแซลมอนกระตือรือร้นและตื่นตัว ว่ายน้ำวนไปวนมาอยู่ตลอดเวลาเพื่อหนีปลาดุก
3
ทำให้ปลาแซลมอนในถังเหล่านั้นมีความแข็งแรงและมีอัตรารอดชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์
1
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
เนื่องจากเป็นเรื่องเล่า ข้อมูลบางแหล่งก็บอกว่าเป็นปลาแซลมอน บ้างก็บอกว่าเป็นปลาซาร์ดีน
แต่หัวใจของเรื่องนี้ คือ "การเพิ่มแรงกดดันหรือสภาวะแข่งขันเพื่อให้เกิดความ Active"
2
องค์กรที่นำทฤษฎีนี้มาใช้ คือ บ.ไฮเออร์ บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าของจีน โดยไฮเออร์จะใส่ "ปลาดุก" ไว้ในถังของหัวหน้างานแต่ละแผนก เรียกว่า "ผู้จัดการเงา" ซึ่งจะรอจังหวะที่จะยึดตำแหน่งถ้าเกิดหัวหน้างานทำผิดพลาดขึ้นมา
1
ถ้าหัวหน้างานแผนกใดไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายในสามเดือน ปลาดุกหรือผู้จัดการเงาก็จะทำการขับไล่หัวหน้าที่เขาหรือเธอทำตัวเป็นเงาอยู่
ซึ่งมันทำให้เกิดการกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น แต่ก็สร้างความเครียดให้กับพนักงานได้เหมือนกัน องค์กรที่นำทฤษฎีนี้มาใช้ก็คงต้องบริหารจัดการไม่ให้พนักงานมีความเครียดจนเกินไป
เมื่อนึกถึงตัวเองตอนทำงานประจำ ช่วงแรกที่ทำตำแหน่งนั้นคนเดียว บางครั้งก็เกิดอาการเฉื่อย ๆ บ้าง มองไม่เห็นจุดบกพร่องของตัวเอง แต่พอมีเพื่อนร่วมงานในตำแหน่งเดียวกัน มันก็ทำให้เราต้องเกิดการ Active มากขึ้น
1
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
ด้วยความที่เพื่อนร่วมงานขยันและมีประสบการณ์การทำงานที่มากกว่า ทำให้เราต้องพยายามเรียนรู้งานให้มากขึ้น บางครั้งก็เกิดความเครียดอยู่บ้างถึงแม้จะไม่ได้เป็นการใส่ปลาดุกเพื่อไล่ล่าก็ตาม
แต่ด้วยหลาย ๆ อย่างมันทำให้เกิดการเปรียบเทียบอย่างเลี่ยงไม่ได้ และนิสัยลึก ๆ ของคนเราเมื่อเกิดการเปรียบเทียบ คือ ชั้นจะแพ้ไม่ได้ !!!
มันก็ทำให้เราเกิดการพัฒนามากขึ้น มองย้อนกลับไปก็ต้องขอบคุณเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน เพราะถ้าหากเรายังทำงานสบาย ๆ ตรงนั้นอยู่คนเดียวก็อาจจะไม่เกิดการเรียนรู้มากเท่าไหร่
การมีคู่แข่งหรือปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มันทำให้เราเครียดมากขึ้น แต่ถ้าเราอยากเก่งขึ้น อยากแข็งแกร่งขึ้น เราก็ต้องเปิดใจที่จะเผชิญกับมัน เรียนรู้ และก้าวผ่านมันมาให้ได้
1
แล้วทำไมต้องเป็นปลาดุกด้วย 🌿🌿
เนื่องจากปลาดุกเป็นปลากินเนื้อ จึงใช้การไล่ล่ากินปลาที่ตัวเล็กกว่า ซึ่งนอกจากปลาดุกแล้วก็ยังมีอีกหลาย ๆ ปลาที่มีนิสัยกินปลาตัวเล็กกว่าหรืออ่อนแอกว่า ถ้าเป็นปลาน้ำจืดก็อย่างเช่น ปลาช่อน ปลาชะโอน ปลากดเหลือง
การเลี้ยงปลากินเนื้อจึงต้องปล่อยปลาตัวที่ขนาดไล่เลี่ยกันเพื่อป้องกันปัญหานี้ และวิธีที่จะช่วยลดปัญหานี้ลง คือ ให้อาหารปลาให้อิ่ม เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไล่ล่ากินปลาอื่น
แต่ถ้าอยู่ในภาวะที่ปลามีความเครียด เช่น ช่วงระหว่างการขนส่ง ซึ่งปลาจะถูกขนส่งในภาชนะแคบ ๆ เช่น ถังกว้าง 1 ตารางเมตร ปลาส่วนใหญ่ก็จะเกิดความเครียดและจะไม่ไล่กินตัวอื่น
ในขณะที่ปลาดุก แม้ในภาวะเช่นนี้ก็พบว่ามีการไล่กินปลาตัวอื่นด้วย แต่สิ่งที่เจอเมื่ออยู่ในที่แคบ ๆ กลับพบว่าปลาตัวเล็กกลับรุมกันกัดกินปลาตัวใหญ่แทนที่ปลาตัวใหญ่จะกินปลาตัวเล็ก
1
เพราะด้วยขนาดตัวที่ใหญ่เทอะทะ เคลื่อนไหวตัวได้ช้ากว่าเมื่ออยู่ในที่แคบ และพอมีแผลโอกาสที่ถูกทำร้ายก็ง่ายขึ้น ทำให้ช่วงระหว่างขนย้ายปลาที่เพิ่งจับมีโอกาสที่ปลาตัวใหญ่จะตายมากกว่า
1
ทฤษฎีที่บอกว่า "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" อาจใช้ไม่ได้เสมอไป สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ขนาดอาจจะไม่มีผลหรือขนาดใหญ่อาจทำให้เป็นอุปสรรคในการปรับตัวด้วยซ้ำ มันก็เป็นโอกาสให้ "ปลาเร็วกินปลาช้า" ได้เหมือนกัน
3
ขอเพียงแต่ต้องเป็นปลาที่แข็งแรงและว่องไว มองเห็นโอกาสและพร้อมจะฉกฉวยมันมาทันที
1
ขอบคุณทุกคนที่แวะมาให้กำลังใจกันนะคะ ❤️
โฆษณา