29 มี.ค. 2021 เวลา 13:24 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ราชสีห์กับหนู แห่งคลองสุเอซ กับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
1
เรื่องน่ายินดีเรืองหนึ่งของวันนี้ คือ เรือขนส่งสินค้าขนาดยักษ์ Ever Given ที่เสียหลักเกยตื้นขวางคลองสุเอซอยู่นานเกือบสัปดาห์ สามารถลอยลำได้แล้ว โดยปฏิบัติการกู้เรือในครั้งนี้ เน้นไปที่การขุดลอกทรายที่หัวเรือติดอยู่ เครื่องมือหลัก ๆ ก็คือรถขุดดินซึ่งถ้าเทียบกับขนาดของเรือแล้ว ก็กลายเป็นรถคันจิ๋ว ที่ในที่สุด วันนี้ก็สามารถช่วยปลดปล่อยเจ้าเรือยักษ์ให้เป็นอิสระได้อีกครั้ง เหมือนกับราชสีห์ตัวใหญ่ ที่ได้รับการช่วยเหลือจากหนูตัวน้อย
9
ถ้าพูดถึงคลองสุเอซ เป็นเส้นหลักการเดินเรือโลก เชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง ทางลัดย่นระยะยุโรปกับเอเชีย แต่ละปีมีเรือสินค้าผ่าน 19,000 ลำ หรือวันละ 50 ลำ จุดที่มีปัญหาเรือเสียการควบคุมคือจุดที่คลองกว้าง 300 เมตร แต่เรือ Ever Given ยาว 400 เมตร
2
ภาพจาก : AFP รถขุดดินที่นำมาช่วยกู้เรือ Ever Given ถ่ายเมื่อ 25 มี.ค. 64
ความยาวขนาด 400 เมตร เหมือนเอาสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐานวางต่อ ๆ กันเกือบ 4 สนาม หนักกว่า 200,000 ตัน บรรทุก 20,000 คอนเทนเนอร์ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือให้ข้อมูลว่าปัญหาเกิดจากไฟฟ้าดับบนเรือทำให้สูญเสียการบังคับ ประกอบกับมีลมพัดแรงจนหัวเรือและท้ายเรือหมุนขวางติดตลิ่งสองด้านของคลองสุเอซ นี่เป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา
3
เมื่อเจ้าราชสีห์ยักษ์ลำนี้ติดตลิ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นคืออะไร
3
การรายงานข้อมูลพบว่า ณ วันศุกร์ที่ผ่านมา เรือบรรทุกสินค้าเรือบรรทุกน้ำมันสัญจรผ่านไม่ได้ จะหันกลับก็ไม่ได้ 156 ลำ ต้องทอดสมอรอ
เรือเหล่านี้บรรทุกคอนเทนเนอร์ กว่า 700,000 ตู้ บางลำต้องลอยลำในทะเลสาบใกล้เคียง มีทั้งเรือที่มุ่งหน้าไปยุโรป และบางส่วนมุ่งหน้าไปเอเชีย จากนั้นมีรายงานเพิ่มเติมว่าเรือไปลอยลำเพิ่มเป็น 321 ลำ
3
แม้ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่าผู้ประกอบการไทยรายใดบ้างที่ได้รับผลกระทบซึ่งสภาผู้ส่งออกพยายามรวบรวมอยู่ แต่ผู้ผลิตสินค้าที่มีโอกาสได้รับความเสียหาย ทั้งตัวสินค้า และต้นทุน ที่ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป คือ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง หากไฟฟ้าบนเรือมีปัญหาอุปกรณ์ทำความเย็นไม่ทำงานก็อาจเสียหาย แต่เราก็ทราบกันแล้วว่าระบบไฟฟ้าของเรือกลับมาใช้การได้แล้ว ส่วนสินค้าหลักประเภทอื่น เป็นสินค้าเก็บไว้ได้นาน เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยาง แผงวงจร และ รถยนต์
4
ถ้าถามว่าแล้วไทยจะถูกแย่งตลาดหรือไม่ ผู้ค้ามองว่า หากผู้นำเข้าหันไปนำเข้าจากพื้นที่อื่นก็เป็นได้ แต่หากเป็นประเทศในเอเชีย ก็ติดปัญหาเดินเรือเดียวกันและสินค้าหลายชนิดค่อนข้างมีความเฉพาะ
2
ขณะที่ประเด็นต้นทุนกระทบแน่นอน การผลิตสินค้าประหยัดต่อขนาด นั่นคือต้องผลิตอย่างต่อเนื่อง เมื่อของระบายออกไม่ได้ เรียกเก็บเงินไม่ได้ ต้องมีต้นทุนการเก็บสินค้าโกดัง ต้นทุนวัตถุดิบที่มักใช้เงินกู้อาจมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น กระทบสภาพคล่องผู้ประกอบการไทยของเดิมยังไปไม่ถึงก็ยิ่งชะลอสั่งของใหม่
3
ปัญหาถัดมา กรณีการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่รุนแรง อย่างน้อย 700,000 กว่าตู้บนเรือหลายลำที่ค้างเช่นกัน ยิ่งทำให้วงรอบการหมุนตู้เพื่อการส่งออกนำเข้ายาวนานขึ้นไปอีก สินค้าที่จะต้องออกจากท่า สายเรืออาจพิจารณาเปลี่ยนเส้นทาง
 
การขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรป เส้นทางผ่านคลองสุเอซ จากสิงคโปร์ ไปเนเธอร์แลนด์ ใช้ระยะทาง 13,000 กิโลเมตร ทางเลือก ประตูเชื่อมการขนส่งสินค้าเอเชียกับยุโรป ย่นระยะทาง สิงคโปร์ ไปเนเธอร์แลนต์ลัดคลอง ย่นระยะทางไปได้ 6,000 กิโลเมตร แต่หากต้องอ้อมแหลมกู๊ดโฮปที่แอฟริกา ทำให้ระยะทางไกลขึ้น ใช้เวลานานขึ้นนับ 10 วัน เชื้อเพลิงใช้มากขึ้น ใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ต้องพิจารณาให้ชัดเจน
2
แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ตลาดน้ำมันปรับขึ้น ทั้งเวสต์เท็กซัส และเบรนท์ ก่อนวันที่ 23 ราคาน้ำมันร่วงลงเพราะกังวลโควิด-19 ในยุโรป แต่พอเกิดเหตุการณ์เรือยักษ์ขวางคลองสุเอซ ตลาดเกิดความวิตกกังวลความล่าช้าของการเคลื่อนย้ายเรือลำยักษ์ และกังวลความล่าช้าของผลิตภัณฑ์น้ำมัน แม้ผู้ค้าในไทยยืนยันหลายรายว่าไม่มีปัญหาขาดแคลน แต่ราคาน้ำมันตลาดโลกก็ปรับขึ้นไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม พลังของเจ้าหนูรถขุดทราย ก็สามารถทำให้เรือลอยลำได้อีกครั้ง แต่ยังการันตีไม่ได้ว่าจะหันเรือหรือเดินเรืออีกครั้งเมื่อใด เป็นตัวอย่างความเสี่ยงของธุรกิจที่ไม่คาดคิด นี่ก็เป็นผลกระทบหลายด้านที่เกิดจากเหตุการณ์นี้ ทำให้เตือนใจว่าการบริหารธุรกิจไม่ง่ายต้องมีแผนสำรองความเสี่ยงทุกด้าน
1
: จับตาสถานการณ์
อัปเดตความคืบหน้า (30 มี.ค. 64) ปฏิบัติการกู้เรือ Ever Given สำเร็จแล้ว! โดยเรือที่จอดเกยตื้นขวางคลองสุเอซนานร่วมสัปดาห์กลับลอยลำเข้าสู่เส้นทาง เจ้าหน้าที่อียิปต์เริ่มเปิดเส้นทางเดินเรืออีกครั้ง โดยช่วงเช้ามืดที่ผ่านมามีเรือแล่นผ่านคลองสุเอซแล้ว 113 ลำ
สามารถอ่านข่าวนี้ต่อได้ทาง >> https://news.thaipbs.or.th/content/302891
โฆษณา