29 มี.ค. 2021 เวลา 14:41 • ความคิดเห็น
ว่าด้วยการส่งผู้แทนเข้าร่วมวันกองทัพเมียนมาร์
คิดว่าเป็นประเด็นที่เราไม่หยิบมาพูดถึงเลยคงไม่ได้ สำหรับข่าวที่ถูกรายงานโดย Nikkei Asia ว่าด้วยการจัดงานสวนสนามวันกองทัพเมียนมาร์เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา มีชาติที่ส่งผู้แทนเข้าร่วม ทั้งสิ้น 8 ชาติได้แก่ รัสเซีย ซึ่งส่งผู้แทนระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเข้าร่วมพิธี จีน, อินเดีย ,ปากีสถาน , บังคลาเทศ , ลาว ,เวียดนาม และ ไทย เมื่อข่าวนี้ออกมายิ่งทำให้เกิดกระแสภายในไทยเองมากทีเดียว เมื่อไปรวมกับข่าวก่อนหน้านี้คือเรื่องข้อกล่าวหาในการส่งข้าวให้กับกองกำลังทหารพม่า บริเวณพื้นที่ชายแดน ทำให้การโจมตีเรื่องของท่าทีของ”รัฐไทย” ในการสนับสนุนรัฐประหารและการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงของกองทัพเมียนมาร์ วันนี้เราเลยจะขอหยิบยกคำตอบที่เราได้เคยทั้งทวิตไว้และคอมเม้นในเพจนักยุทธศาสตร์มาเรียบเรียงใหม่ ให้ทุกท่านได้อ่านกันว่า เราคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี
ลำดับแรก งานวันกองทัพเมียนมาร์ถ้าเรามองอย่างในสถานการณ์ปกติ งานวันกองทัพ คืองานทหาร ไม่ใช่รัฐพิธี ใดๆ การส่งผู้แทนเข้าร่วมของต่างประเทศก็คือ ผู้ช่วยทูตทหารของประเทศนั้นๆในกรณีมีความสัมพันธ์ทางการทูต มีตำแหน่งของผู้ช่วยทูตทหาร ในสถานทูตนั้นๆ อยู่ ฉะนั้น งานนี้จึงเป็นความสัมพันธ์ในเรื่อง Military to Military เป็นหลัก หรือ ความสัมพันธ์ทางการทหาร
ความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างไทยและเมียนมาร์เป็นสิ่งที่อยู่ในระดับดีมาโดยตลอด ทั้งจากข่าวที่เราเห็นตามหน้าสื่อถึงความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างผู้นำทางทหารเมียนมาร์กับผู้นำในรัฐบาลของไทย แต่ไม่เท่านั้น ความสัมพันธ์ทางทหารยังเป็นแกนสำคัญในการจัดการกิจการชายแดนระหว่างกันอีกด้วย คณะกรรมการในแต่ละระดับก็ล้วนมี ทหารเป็นแกนกลางในคณะกรรมการนั้นๆ อยู่เสมอ
ฉะนั้นในข้อแรก เรามองว่าในเรื่องนี้เป็นความสัมพันธ์ของทหารต่อทหาร เป็นหลักก่อน ซึ่งเราไม่ได้ตัดความสัมพันธ์ใดๆไปก่อนหน้านี้ ซึ่งประเด็นในข้อนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจในภาพใหญ่ของระดับผู้กำหนดนโยบายต่อไป
ประเด็นต่อมา ลองไล่เรียงประเทศที่ไปร่วมงานที่เหลือ อีก7ประเทศ เราจะพบว่า ในแง่ของกำลังอำนาจ
มีประเทศที่เป็นระดับ Global Powers ที่แข่งขันทางยุทธศาสตร์กับ อเมริกา คือ จีน มี Regional Power ที่พยามจะสร้างบทบาทในภูมิภาคมากขึ้น และต้องการผลประโยชน์ในเมียนมาร์คือ รัสเซีย และ อินเดีย
ลำดับต่อมาในเรื่องของตำแหน่งแห่งหนในเวทีและระเบียบโลก ประเทศที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (มีสิทธิ Veto ) ถึงสองประเทศคือ จีน และรัสเซีย คู่ขัดแย้งกับฝั่งตะวันตก ที่นำโดยสหรัฐกับอีกสองประเทศที่อยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติแช่นกันแต่เป็น สมาชิกไม่ถาวร ได้แก่ อินเดีย และเวียตนาม
มิตินี้ ทั้งสองข้อที่กล่าวมาก็จะเห็นได้ว่า ประเทศที่เข้าร่วมพิธีเมื่อวาน เป็นตัวแสดงที่สำคัญในเวทีโลก และภูมิภาค ทั้งเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์กับอเมริกา บางชาติเป็นพันธมิตรในอินโดแปซิฟิก และก็ชัดเจนว่าตัวแสดงที่สำคัญเหล่านี้ เข้าร่วมเพราะการธำรงความสัมพันธ์อันดี จะสร้างผลประโยชน์ให้พวกเขาได้มากกว่าการดำเนินนโยบายตามสหรัฐฯ และเป็นการรักษาผลประโยชน์ที่มีอยู่แล้วแต่เดิมในเมียนมาร์ ถ้าจะบอกว่าไทย"เข้าร่วม" ด้วยหลักเหตุผลที่ไม่ต่างกัน ก็ไม่ผิดนัก
ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศที่เข้าร่วมที่เราพอจะจำแนกได้ถัดมาคือประเทศที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาร์ทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ อินเเดีย บังคลาเทศ จีน ลาว และไทย ประเด็นนี้ล่ะครับที่เราค่อนข้างจะให้น้ำหนัก
เมื่อพรมแดนของประเทศติดกันในลักษณะนี้เฉพาะผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งภายในประเทศนั้นเกิดขึ้นมา นั้นตกกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การจัดการความสัมพันธ์ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะเปราะบางเช่นนี้ อาจเกิดสภาวะการณ์ที่ไม่คาดคิดสุดๆขึ้นมาได้อย่างไม่ยากนัก
การบริหารจัดการความสัมพันธ์ เรามองว่าทำอย่างไร ไม่ให้ผู้กำหนดนโยบายอีกฝั่งนึงมองเราเป็น Threat หรือภัยคุกคามขึ้นมา หรือกลายเป็นภัยคุกคามภายนอก สำทับลงไปบนภัยคุกคามภายในหรือวิกฤตการณ์ภายในประเทศของเขาเองอยู่แล้ว เราลองคิดใน Worst - Case Scenario ที่ว่า ถ้าท่ามกลางสถานการณ์การปราบปรามประชาชนภายในประเทศ พร้อมกับการก่อกวนจากกองกำลังชนกลุ่มน้อย เพิ่มเติมด้วยสภาวะที่ทหารเมียนมาร์มองเราเป็นหนึ่งในภัยคุกคาม การปราบปรามชนกลุ่มน้อยอาจกระทบ หรือมี Collateral Damage มายังฝั่งไทยหรือประชาชนไทยก็เป็นได้ บนสถานการณ์ผู้อพยพที่เราต้องรับไปเต็มๆเมื่อมีการเปิดฉากทำสงครามกับชนกลุ่มน้อยของกองทัพเมียนมาร์
ทั้งหมดทั้งมวล เราจึงมองว่าการเข้าร่วมพิธีในวันนี้ มันก็เป็นเหตุผลที่ผู้กำหนดนโยบายฝั่งไทยจะมองได้ว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ เมื่อชาติมหาอำนาจ และชาติที่เป็นอำนาจใหญ่ในภูมิภาคเข้าร่วม รวมไปถึงมีชาติประชาธิปไตยเข้าร่วมอย่างอินเดีย ทั้งนี้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในความสัมพันธ์กับรัฐบาลใหม่ และธำรงรักษาผลประโยชน์ที่มีอยู่แล้วแต่เดิมไม่ให้สูญเสียไป และประการที่สอง ก็คือความพยามในการรักษาสถานภาพและสถานการณ์ความสัมพันธ์ในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดกันไม่ให้เกิดเป็นความขัดแย้งลงไปบนสถานการณ์ที่เปราะบางที่ส่งผลกระทบต่อเราเองอยู่แล้ว
การแลกกับภาพลักษณ์หรือทำให้โดนโจมตีเรื่องของการสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า ในประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆ อาจะเป็นประเด็นที่ผู้กำหนดนโยบายมองแล้วว่าจำเป็นต้องแลกเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติตามเหตุผลข้างต้น
อนึ่ง รายงานการออกแถลงการณ์ประณามการใช้กำลังอาวุธหนักเข้าปราบปรามประชาชนของกองทัพเมียนมาร์ โดยผู้บัญชาการทหารจาก 12 ประเทศ ซึ่งเป็นชาติตะวันตกและพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องไม่ลืมว่า แม้ชาติเหล่านี้จะมีการลงทุนหรือผลประโยชน์แห่งชาติในเมียนมาร์เช่นเดียวกับเรา แต่ไม่ต้องมาบริหารจัดการความสัมพันธ์ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันเช่นเดียวกับเรา
สุดท้าย เมื่อมองในเรื่องผลประโยชน์เป็นสำคัญ หรือการดำเนินนโยบายแบบ Realpolitiks ที่ไม่สนใจคุณธรรมอะไรใดๆ จะเป็นเรื่องที่หลายท่านเข้าใจ แต่ยังไม่เห็นว่าไทยจะได้รับประโยชน์อะไรอย่างเด่นชัดจากการทำแบบนี้ไม่ว่าจะ ก๊าซ หรืออะไรใดๆ ที่จับต้อง ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบทพิสูจน์ว่าการดำเนินนโยบายนี้ประสบความสำเร็จหรือบรรลุเป้าประสงค์หรือไม่ เรามองว่าเป็นเกมส์ยาว ที่ต้องดูกันต่อไปครับ
เอวัง ด้วยประการละฉะนี้
โฆษณา